‘แพ็กเกจจิ้ง’ เป็นเรื่องจริงจัง เพราะหากมองในมุมของคนทำธุรกิจ แพ็กเกจจิ้งที่ดีจะทำหน้าที่ขายสินค้าและสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ แพ็กเกจจิ้งที่ดีไซน์ได้สะดุดตาจะถูกหยิบก่อนเสมอ
สำหรับ SCGP ผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน กลับมอง ‘แพ็กเกจจิ้ง’ ในมิติที่ลึกและกว้างไปกว่านั้น เมื่อดีไซน์สวยอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่รองรับการใช้งานและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่หลากหลายและไม่สร้างภาระให้กับโลก สิ่งแวดล้อม และคนรุ่นหลัง SCGP ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และโมเดลทางธุรกิจ ที่เป็นมิตรกับคนและโลก โดยใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และวางเป้าหมายที่จะเป็น Total Packaging Solutions Provider ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ออกแบบ ผลิต และบริการหลังการขาย อีกทั้งยังสนับสนุนความรู้เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยและอาเซียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันแพ็กเกจจิ้งมีบทบาทและความสำคัญเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก ผู้บริโภคกลายเป็นตัวแปรสำคัญ บรรจุภัณฑ์ยังเป็นเครื่องมือให้กับนักออกแบบที่ต้องการบอกกล่าวความคิด สะท้อนปัญหา ไปสู่ผู้คนในสังคม ซึ่งตรงกับแนวคิดของ SCGP ที่เชื่อว่าผลิตภัณฑ์สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และกลุ่มคนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดในตอนนี้ก็หนีไม่พ้น Gen Z
นำไปสู่จุดเริ่มต้นของโครงการ ‘SCGP PACKAGING SPEAK OUT 2021…ส่งเสียง เปลี่ยนโลกด้วย PACKAGING’ ชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมแชร์ไอเดียพลิกโลกด้วยบรรจุภัณฑ์และโซลูชัน เวทีที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ว่าสิ่งที่เด็ก Gen Z สนใจไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่พวกเขาอยาก Speak Out จึงเปิดโอกาสและพื้นที่สำหรับโชว์ศักยภาพผ่านการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น เปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะ Speak Out ผ่านบรรจุภัณฑ์ โดยในปีนี้ SCGP ท้าทายไอเดียคนรุ่นใหม่ด้วย 2 ทางเลือก ได้แก่
- Packaging Design: แพ็กเกจจิ้งที่ไม่ใช่มีไว้บรรจุของเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่ส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียการใช้งานที่สร้างคุณค่าให้แพ็กเกจจิ้งในแบบที่สามารถตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งานและผู้ส่ง
- Packaging Solutions: การเปลี่ยนแปลงยังสามารถดีไซน์ผ่านโซลูชันเกี่ยวข้องกับแพ็กเกจจิ้ง ไม่จำกัดแค่การออกแบบตัวแพ็กเกจจิ้งเท่านั้น จะครีเอตผ่านการสื่อสาร ผ่านแผนธุรกิจ ผ่านเทคโนโลยีใหม่ หรือ Ecosystem ของแพ็กเกจจิ้งนั้นๆ เพื่อตอบโจทย์ประเด็นที่อยากจะเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้โลก สังคม และชีวิตผู้คนดีขึ้น
ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายนที่ปิดรับผลงาน ปรากฏว่ามีน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่สนใจส่งผลงานมาทั้งหมด 379 ไอเดีย แบ่งเป็น Packaging Design 308 ไอเดีย และ Packaging Solutions 71 ไอเดีย จากสถาบันการศึกษากว่า 70 แห่งทั้งในและต่างประเทศ
เกณฑ์การให้คะแนนของ Packaging Design นอกเหนือจากคะแนนครีเอทีฟที่ให้กับความเหมาะสมและสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ ยังมีคุณสมบัติในด้านการห่อหุ้มปกป้องสินค้า มีการระบุฉลากสินค้า และมีความสะดวกในการใช้งาน ยังต้องสื่อสารถึงประเด็นที่ผู้ประกวดต้องการนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ โดยผลงานจะต้องมีความโดดเด่น มีนวัตกรรมและพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ บรรจุภัณฑ์ที่จะผ่านเข้ารอบยังต้องมีความเป็นไปได้ในการนำไปพัฒนาต่อในเชิงธุรกิจ ในขณะที่เกณฑ์การตัดสิน Packaging Solutions จะอิงเกณฑ์เดียวกัน แต่เพิ่มเรื่องของแนวคิดผลงานต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง หลังจากผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย จะมีคะแนนจากการโหวตผ่านเว็บไซต์ SPEAKOUT.scgpackaging.com ร่วมกับการตัดสินจากคณะกรรมการเพื่อหาผู้ชนะ
หลังจากคัดเลือกผลงาน 379 ไอเดียโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จนเหลือเพียง 10 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ ซึ่งน้องๆ ทุกทีมยังได้เข้าร่วมกิจกรรม Special Workshop ในหัวข้อ ‘Design Thinking Virtual Workshop’ และ Pitching Technique โดยวิทยากรมากประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญจาก SCGP ไม่ว่าจะเป็น ดร.เธียรไชย ยักทะวงษ์ SCG Senior Certified Instructor & Coach ที่มาให้ความรู้ด้าน Design Thinking, เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร Bearcave Studio พาน้องๆ เรียนรู้เกี่ยวกับ Pitching Technique & Storytelling และ เศรษฐพัฒน์ ศิลปะสมัย CMO & Co-Founder, Dezpax เปิดเวทีส่งแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่มองเห็นแนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สู่ตลาดในหัวข้อ Build a Ship and Burn a Bridge
ช่วงระหว่างที่น้องๆ 10 ทีม พัฒนาผลงานเพื่อเตรียมตัวสู่นำเสนอผลงานในรอบไฟนอล ทาง SCGP ยังจัดรอบพิเศษ Mentor Counselling ได้พี่ๆ จาก SCGP และ ZERO TO ONE (SCG Internal Startup) มาช่วยดูและให้คำแนะนำ เพื่อปรับปรุง เตรียมนำเสนอผลงานในรอบไฟนอลต่อหน้าคณะกรรมการและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานในรูปแบบ Virtual
และในที่สุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลคะแนนจากคณะกรรมการเมื่อรวมจากผลโหวตผ่านเว็บไซต์ SPEAKOUT.scgpackaging.com ก็เป็นเอกฉันท์
รางวัล The Best of the Packaging Design Challenge ประเภท Packaging Design
ทีม: Ilovehousehusband
ไอเดีย: Oh! my man ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านสำหรับคุณผู้ชาย
จากความเชื่อที่ว่า งานบ้านเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่งานของเพศใดเพศหนึ่ง และผู้ชายควรมีสิทธิ์เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มและส่งเสริมความมั่นใจในตนเอง กลายเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคุณผู้ชาย ใช้โทนสีดำ-ขาว กราฟิกมีความมินิมัล เข้าใจง่าย พร้อมทริกสำหรับพ่อบ้านมือใหม่
ภักติ จตุพร และ ชนิตา รัตนภักดี เจ้าของไอเดีย Oh! my man เผยว่า “ดีใจมากค่ะที่ได้เข้ามาเป็นส่วนของการประกวด ได้เพื่อนใหม่และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากวิทยากรและคณะกรรมการ โครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้เราได้พูดถึงปัญหาที่มีในสังคมและสื่อสารออกไปผ่านแพ็กเกจจิ้ง ขอบคุณ SCGP ที่จัดโครงการดีๆ แบบนี้ และขอบคุณคำแนะนำจากกรรมการและเมนเทอร์ทุกคนที่ช่วยให้โปรเจกต์นี้พัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์”
รางวัล The Best of the Packaging Solutions Challenge ประเภท PACKAGING DESIGN
ทีม: The Victor
ไอเดีย: BUGSGUARD ฟิล์มป้องกันมดและแมลง
ตัดจบปัญหามดและแมลงเจาะถุงอาหารด้วยฟิล์มจากธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันแมลง ชั้นฟิล์มผสานจากชั้นสารไพรีทรินส์ของดอกไพรีทรัมและชั้นสมุนไพรภูมิปัญญาไทยดั้งเดิม ใช้ร่วมกับชั้นลามิเนตในบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ได้อย่างดี โดยให้แผ่นฟิล์ม BUGSGUARD อยู่ชั้นนอก
ภาวินี พิงไทย และ ภัทรชัย ลายนาคขต เจ้าของไอเดีย BUGSGUARD เผยว่า “เป็นโครงการที่ท้าทายมากๆ ทำให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีและเป็นสกิลที่จะติดตัวไปใช้ในการทำงาน เพื่อนๆ ที่ยังไม่เคยลองมาประกวดในโครงการแบบนี้อยากให้ลองมาสัมผัสประสบการณ์ดูสักครั้ง รับรองว่าได้อะไรดีๆ กลับไปแน่นอน”
ผู้ชนะทั้งสองประเภทจะได้รับเงินรางวัลทีมละ 80,000 บาท และได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน SCGP Internship Program นอกจากนี้ยังรางวัล Runner-Up มอบให้กับผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งสองหัวข้อ รับเงินรางวัลทีมละ 60,000 บาท และรางวัล Popular Vote จากทั้งสองหัวข้อ ซึ่งเปิดให้โหวตได้รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท
ภายในงานที่จัดขึ้นในรูปแบบ Virtual อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ผู้กำกับโฆษณา และเจ้าของโปรดักชันเฮาส์ FACTORY01 ยังมาร่วมแบ่งปันข้อคิดและประสบการณ์ให้กับน้องๆ “ลองถามตัวเองว่าเราทำอะไรที่ออกนอกกรอบจริงๆ หรือยัง เราทำอะไรที่คนในวงการแพ็กเกจจิ้งเขาไม่ทำเพื่อสร้างอิมแพ็กให้กับงานของเราบ้างหรือเปล่า สิ่งที่คุณต้องระวังคือ มันไม่มีสูตรสำเร็จในวงการ Creativity ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหนก็ตาม”
นอกจากนี้เหล่าคณะกรรมการทั้งสามท่านยังฝากแง่คิดดีๆ ไว้ด้วยเช่นกัน กันตภณ เมธีกุล ศิลปินแนวร่วมสมัย เจ้าของผลงาน ‘เทเลพอต’ กล่าวว่า “ทุกงานที่ออกมารู้สึกประทับใจน้องๆ ทุกคนที่ตั้งใจทำงาน แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีของ และเป็นวัยที่สามารถสร้างประโยชน์ต่อประเทศและสังคมของเรา อยากให้มองว่าการแข่งขันครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ดีๆ แพ้-ชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ”
ส่วน ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดแบบญี่ปุ่น ชื่นชมกับผลงานของทุกทีม และบอกถึงจุดเด่นของทีมที่เข้าแข่งขันในปีนี้ว่า “หลายทีมมีการทำรีเสิร์ชอินไซต์ผู้บริโภคจริงๆ เป็นความโดดเด่นของผลงานในปีนี้ที่มีข้อมูลมาซัพพอร์ต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญกับการออกแบบในยุค”
สมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์รางวัลระดับโลก กล่าวเสริมในประเด็นที่ว่า เมื่อหาอินไซต์ผู้บริโภคเพื่อผลิตชิ้นงานแล้ว ยังมีกระบวนการสำคัญที่ต้องทำต่อ นั่นก็คือ “การสื่อสารผ่านงานออกแบบก็ควรนำสิ่งเหล่านั้นไปถามผู้บริโภคเช่นกันว่าชอบแบบไหนที่สุดด้วยเหตุผลใด แล้วจึงค่อยมาแก้ไขให้ดีขึ้น”
วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวทิ้งท้ายถึงวัตถุประสงค์ของการผลักดันให้เกิดการประกวดครั้งนี้ และยังฝากถึงน้องๆ ที่เข้าร่วมประกวดทุกคนว่า “ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ท้าทายสำหรับพวกเราทุกคน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้เราต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว จนวันนี้หลายสิ่งที่เปลี่ยนไปกลายเป็น New Normal is Now ไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเรายังได้เห็นโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วและมีประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมายที่ส่งผลกระทบต่อโลกและตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นโรคภัย สุขอนามัย การบริโภคทรัพยากรที่มากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางสังคม เช่น ความเสมอภาคเท่าเทียม ทั้งหมดนี้คือโลกที่กลุ่มคน Gen Z จะเป็นต้องเข้ามาขับเคลื่อนและเป็นผู้นำทางความคิดต่อไป
“นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่เราอยากจะผลักดันการประกวด SCGP Packaging Speak Out 2021 เพื่อท้าทายความคิดและความสามารถของน้องๆ Gen Z ด้วยการนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ โดยมีแพ็กเกจจิ้งเป็นสื่อกลางที่จะพูดแทนทุกประเด็นเกี่ยวกับโลกและสังคมที่ Gen Z สนใจ
“ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ได้รับรางวัล และขอให้น้องๆ ทุกคนนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปสานต่อและต่อยอดกับการทำงานจริงในอนาคต ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่การเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด จึงต้องเติมเต็มเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ฝึก ฝึก แล้วก็ฝึก คนไม่ชนะวันนี้ วันหน้าก็อาจชนะได้ ส่วนคนที่ชนะวันนี้แต่ไม่พัฒนาต่อ ก็อาจจะแพ้ได้ ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง” วิชาญกล่าวทิ้งท้าย
THE STANDARD ขอแสดงความยินดีกับทีมผู้ชนะและน้องๆ ทุกทีมที่เชื่อในพลังของตัวเองว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ หวังว่าจะมีโครงการดีๆ และการประกวดที่ดึงศักยภาพของคนกลุ่ม Gen Z ที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ผ่านการสร้างสรรค์ในทุกรูปแบบ