เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC คาดรับเงินระดมทุนหลักแสนล้านบาทจากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 3,854.68 ล้านหุ้น เดินหน้านำเงินระดมทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเดิม พัฒนาเทคโนโลยี ลงทุนโครงการในอนาคต และสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน
บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอให้ ก.ล.ต. พิจารณาอนุมัติไฟลิ่ง โดย SCGC จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนรวมไม่เกิน 3,854.68 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
อย่างไรก็ตาม จำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัท ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (ถ้ามี)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ SCGC ประกอบธุรกิจด้วยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่
- สายธุรกิจโอเลฟินส์ ประเทศไทย (Olefins Chain in Thailand)
- สายธุรกิจไวนิล (Vinyl Chain)
- สายธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจโอเลฟินส์ในต่างประเทศ ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจบริการและโซลูชัน
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ NexantECA ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก (PE, PP และ PVC) ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยส่วนแบ่งกำลังการผลิตติดตั้ง (Nameplate Capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 19% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในอาเซียน
โดยในการเข้าระดมทุนครั้งนี้มีที่ปรึกษาทางการเงินคือ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน), บล.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวว่า ความตั้งใจของบริษัทในการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ ต้องการให้ประชาชนทั่วไปได้เป็นเจ้าของมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ระหว่างรอ ก.ล.ต. พิจารณาไฟลิ่ง จึงยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนการเสนอขายหุ้นไม่ได้
“โดยความตั้งใจเราก็ต้องการกระจายหุ้นสู่มหาชนมากที่สุด แต่สัดส่วนจะเป็นอย่างไรก็ต้องพิจารณากันอีกครั้ง ขณะนี้ไฟลิ่งยังอยู่ระหว่างรอพิจารณา แต่ก่อนหน้านี้บริษัทในเครือเอสซีจีก็ได้ดำเนินการขายหุ้น IPO ไปแล้วคือ SCGP ซึ่งรูปแบบและวิธีการเราก็อาจจะใกล้เคียงกับบริษัทในเครือเดียวกัน” กุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน SCGC กล่าวเสริม
สำหรับมูลค่าการระดมทุนยังไม่สามารถระบุได้เพราะไฟลิ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่หากพิจารณาจากการลงทุนในอดีตของ SCGC ซึ่งเป็นหลักแสนล้านบาท ความต้องการเงินระดมทุนครั้งนี้ก็ควรจะเพียงพอสำหรับการลงทุนโครงการในอนาคตของ SCGC ได้
ทั้งนี้ SCGC ระบุในไฟลิ่งว่า วัตถุประสงค์การระดมครั้งนี้สำหรับลงทุนในโครงการ ดังนี้
- ใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการขยายกำลังการผลิตหรือการพัฒนาศักยภาพของบริษัทและบริษัทย่อย (Organic) การจัดตั้งบริษัท การเข้าซื้อกิจการ รวมถึงทรัพย์สินอื่น (Inorganic) และ/หรือการลงทุนเพื่อบำรุงรักษา (Maintenance)
- ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงิน (ซึ่งอาจรวมถึงสถาบันการเงินที่มีความสัมพันธ์กับที่ปรึกษาทางการเงิน และ/หรือผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ และ/หรือผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์) และ/หรือชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
- ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ
โดยวันนี้ (24 พฤษภาคม) SCGC ได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากการยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา
ธนวงษ์กล่าวว่า SCGC ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์มา 40 ปี โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาค ที่มุ่งสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ปัจจุบัน SCGC จัดจำหน่ายสินค้าในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่โมโนเมอร์ต้นน้ำและพอลิเมอร์ปลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องของปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปัจจุบัน มีกำลังการผลิตรวม 6.9 ล้านตันต่อปี คิดเป็นส่วนแบ่งกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน (ณ เดือนธันวาคม 2564) 19% หรือเกือบ 1 ใน 5
จุดแข็งสำคัญของ SCGC คือการมีฐานผลิตใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 440 ล้านคน หรือประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน มีสัดส่วนรายได้จากอาเซียนคิดเป็นประมาณ 21% โดยประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตหลัก ส่วนในอินโดนีเซียเป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้น 30% ใน Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) และในเวียดนามขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมี (Long Son Petrochemical Complex) ซึ่งบริษัทถือเป็นรายแรกที่เข้าไปลงทุน (First Mover)
ระบุอุตสาหกรรมรวมโตสูงกว่า GDP
ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี โดยคาดการณ์ว่าเวียดนามและอินโดนีเซียจะมีอัตราเติบโตของ GDP อยู่ที่ 5-6% ต่อปี ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GDP ทั่วโลกเกือบเท่าตัว นอกจากนี้อัตราการใช้พอลิเมอร์ในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน (ณ 31 ธันวาคม 2564) อยู่ที่ 26 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 2-3 เท่า ตลาดอาเซียนจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
อีกทั้งปัจจุบันเวียดนามยังต้องนำเข้าพอลิเมอร์ประมาณ 75% และอินโดนีเซียประมาณ 50% เนื่องจากมีกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นโอกาสของ SCGC ที่จะใช้ความได้เปรียบจากการมีฐานการผลิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้รวดเร็วกว่า” ธนวงษ์กล่าว
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และธุรกิจของ SCGC ถือว่ามีศักยภาพและโอกาสการเติบโตทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์จะถูกขับเคลื่อนและได้รับประโยชน์จากเมกะเทรนด์ที่สำคัญๆ ของโลกและภูมิภาคอาเซียน เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เนื่องจากการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้เคมีภัณฑ์ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น
มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของ SCGC ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services: HVA) รวมไปถึงการพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon โดยในปี 2564 บริษัทมีสัดส่วนสินค้า HVA คิดเป็นประมาณ 36% ของรายได้รวมของบริษัท นอกจากนี้ยังจะขยายสินค้าในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573
สำหรับพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Reduce, Recyclable, Recycle และ Renewable เช่น การพัฒนา SMX Technology ทำให้เม็ดพลาสติกแข็งแรงทนทานขึ้น 20% สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิต การพัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin: PCR) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานระบบการตรวจสอบย้อนกลับสากล โดยร่วมกับเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำหลายราย เป็นต้น
นอกจากนวัตกรรมด้านสินค้าและบริการแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ตลอดซัพพลายเชน โดยนำ Data Technology หรือเทคโนโลยีด้านข้อมูลมารวมกับ Operational Technology หรือเทคโนโลยีด้านการปฏิบัติงาน เพื่อยกระดับ Operational Excellence ไปอีกขั้น อีกทั้งการนำระบบ Machine Learning มาใช้เพื่อคาดการณ์ราคาวัตถุดิบ การใช้ Optimization Model เพื่อใช้ในการตัดสินใจเดินเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบ Realtime Performance Management เพื่อให้เห็นข้อมูลการเดินเครื่องจักรอย่างรวดเร็ว สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดได้อย่างทันท่วงที รวมถึงระบบ Digital Reliability Platform (DRP) ช่วยดูแลการบริหารจัดการประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรแบบครบวงจร เพื่อช่วยให้เราสามารถเดินเครื่องจักรได้ดี บำรุงรักษาเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบ Digital Commerce Platform (DCP) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขายและทำให้ตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
โครงการเวียดนามเปิดเชิงพาณิชย์ไตรมาส 1 ปีหน้า
สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการ LSP ในเวียดนามขณะนี้การก่อสร้างเดินหน้าไปตามแผน คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 40% เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี โดยได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินเครื่องจักร เช่น การเตรียมสัญญาซื้อขายวัตถุดิบในระยะยาว การทำตลาดล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการจำหน่าย เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในรูปแบบ Flexible Cracker สามารถเลือกวัตถุดิบที่หลากหลายเข้ามาใช้ในการผลิตได้มากขึ้น และมีที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่มีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ ส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านผลการดำเนินงานในปี 2564 SCGC มีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 27,068 ล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจเคมีภัณฑ์จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรม โดย SCGC เชื่อมั่นว่าความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมไปถึงการมุ่งพัฒนาสินค้า HVA เพื่อตอบสนองเมกะเทรนด์ การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG รวมทั้งการขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่ม PVC ฯลฯ จะทำให้บริษัทก้าวข้ามความท้าทายและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ขณะที่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรองรับแผนงานขยายธุรกิจที่วางไว้ โดยปัจจุบัน SCGC มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1 เท่า นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนและเตรียมแผนการขยายเพิ่มเติมทั้งในเวียดนามและอินโดนีเซีย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP