กลุ่ม ‘เอสซีจี’ เพิ่งแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือซีอีโอคนใหม่ แทน ‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส’ ที่เกษียณอายุ มีผลวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เดินแผนเร่งคืนหนี้ก่อนกำหนด 30,000 ล้านบาท ช่วยลดดอกเบี้ยได้ 1,000 ล้านบาท
ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ ‘เอสซีจี’ ได้แถลงแผนธุรกิจปี 2567 โดยระบุว่า บริษัทตั้งงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ 40,000 ล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจกรีนหรือนวัตกรรมรักษ์โลก รวมทั้งในธุรกิจพลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะมีความต้องการและโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต
อย่างไรก็ดี งบลงทุนในปี 2567 ถือว่าบริษัทมีการปรับใช้งบลงทุนรวมต่ำกว่าภาวะปกติที่บริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นแผนการรับมือปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาในปีนี้ที่อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจ ทั้งตลาดดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับลดลง, ความผันผวนของราคาน้ำมันกับค่าขนส่งสินค้า (Freight), การชะลอตัวของเศรษฐกิจ, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) รวมถึงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยบริษัทเตรียมแผนรับมือไว้ โดยจะไม่เข้าไปทำธุรกิจในจุดศูนย์กลางที่มีปัญหา เน้นหันไปลงทุนทำธุรกิจในพื้นที่ที่มีโอกาสเติบโตสูง
สำหรับปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้จากการขายรวม ซึ่งจะเติบโตขึ้นประมาณ 20% จากปี 2566 ที่ทำได้ 499,646 ล้านบาท เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals) ในประเทศเวียดนาม คาดว่าจะแล้วเสร็จการเดินเครื่องจักรและทดสอบประสิทธิภาพการเดินโรงงานทั้งระบบในช่วงไตรมาส 1/67
เลื่อนแผน IPO ธุรกิจ ‘เคมิคอลส์’
ขณะที่ความคืบหน้าแผนการนำ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทคาดว่าต้องชะลอแผนระดมทุนในช่วง 2 ปี หรือปี 2567-2568 ไปก่อน เนื่องจากวัฏจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2567 ยังอยู่ในช่วงขาลง ส่วนปี 2568 มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นแต่ยังไม่เต็มที่ อีกทั้งการเร่งรีบเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชน (IPO) อาจยังไม่สร้างประโยชน์เต็มที่ให้กับบริษัท
โดยบริษัทจะปรับกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มไปสู่กระบวนการผลิตที่เป็น Green Polymer ให้มากขึ้น ขณะที่ตลาดปิโตรเคมีคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นและอุปทานที่ลดลง
สำหรับธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน ล่าสุดขยายการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและมาเลเซีย ปีนี้เตรียมออกปูนคาร์บอนต่ำเจเนอเรชันที่ 2 ซึ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรกอีก 5% ขณะที่ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล เร่งขยายความแข็งแกร่งสู่ตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างภูมิภาค SAMEA ได้แก่ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
โดย SCG International ตั้งสำนักงานในกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ พร้อมเป็น International Supply Chain Partner บริหารจัดการตั้งแต่การหาแหล่งผลิตสินค้าจนถึงการสร้างตลาดให้คู่ค้าจากทั่วทุกมุมโลก
ขณะที่ธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร ล่าสุดติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ เช่น กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล เตรียมขยายไปยังตลาดอาเซียน ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2567
ส่วนธุรกิจแพ็กเกจจิ้งของ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP ในช่วงไตรมาส 4/66 ความต้องการภาคบริโภคในเวียดนามและอินโดนีเซียเริ่มฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสินค้าส่งออก โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่ในปี 2567 อุตสาหกรรมแพ็กเกจจิ้งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งออก ดังนั้นจึงเน้นในด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมทั้งขยายกำลังการผลิตและ M&P (Merger & Partnership) ในธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์, บรรจุภัณฑ์อาหาร และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Bio-Solutions ที่เป็นเมกะเทรนด์และเติบโตสูง
รายได้ปี 2566 ร่วง 12% ดีมานด์ปูนหด-ราคาเคมีภัณฑ์ทรุด
สำหรับผลประกอบการในปี 2566 บริษัทมีรายได้ 499,646 ล้านบาท ลดลง 12% จากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง ราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics ขณะที่กำไร 25,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน สาเหตุหลักจากกำไรของการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
ขณะที่ไตรมาส 4/66 มีรายได้ 120,618 ล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่รวมรายการพิเศษ 502 ล้านบาท โดยไตรมาส 4/66 บริษัทมีผลขาดทุนสำหรับงวด 1,134 ล้านบาท เนื่องจากมีรายการพิเศษการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในเมียนมา และรวมผลประกอบการของโรงงานปิโตรเคมีลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals: LSP)
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 6 บาท รวมเป็นเงิน 7,200 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของกำไรไม่รวมรายการพิเศษ ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 2.5 บาท เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 3.5 บาท
เร่งคืนหนี้แบงก์ลดภาระดอกเบี้ย
จันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCC กล่าวว่า บริษัทมีวงเงินหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปีนี้ประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อมาชดเชยหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดก้อนแรกในเดือนเมษายน 2567 วงเงิน 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการออกหุ้นชุดใหม่ของบริษัทวงเงิน 20,000 ล้านบาท และวงเงินหุ้นกู้จากบริษัทย่อยอีกวงเงิน 5,000 ล้านบาท และสำหรับวงเงินส่วนที่เหลือจะครบในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ราว 10,000 ล้านบาท และช่วงปลายปีนี้อีกวงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะรอพิจารณาความจำเป็นและความต้องการการใช้เงินและกระแสเงินสดของบริษัทอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีเงินสดคงเหลือ 68,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงภาวะปกติที่บริษัทจะรักษาเงินสดภายในไว้ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้แบ่งนำเงินสดไปชำระคืนหนี้ก่อนกำหนดธนาคารพาณิชย์จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี