การแบนถุงพลาสติกแบบหักดิบในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา รวมถึงแผนการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use plastics) ประเภทอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมานั้น อาจมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จและความพยายาม ที่เรานำมาใช้เป็นหมุดหมายอ้างอิงในเรื่องการจัดการขยะในประเทศไทยได้
แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจแก่นแท้ของปัญหา และหลงเชิดชูมาตรการดังกล่าวว่าเป็นวิธีที่จะช่วยโลกของเราได้อย่างจริงแท้แล้วละก็ เราขออนุญาตดีดนิ้วเรียกสติ พร้อมชี้ชวนให้คุณ…ใช่ คุณนั่นแหละ ลองมาดูอีกด้านของเหรียญกัน เพราะการเรียนรู้และการเข้าใจเรื่องราวความเป็นมาของ ‘พลาสติก’ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังตีตราว่าเป็น ‘วายร้าย’ หมายเลขหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในโลกยุคนี้ ผ่านมุมมองเชิงสังคมวิทยาและวัฒนธรรม จะทำให้เข้าใจตรงกันว่า ทางออกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงของปัญหานี้คืออะไรกันแน่
Plastic 101: เมื่อโลกเริ่มมีพลาสติก และไทยสวัสดีมันเป็นครั้งแรก
ระยะเวลากว่า 150 ปี คือตัวเลขที่โลกของเราได้ต้อนรับและทำความรู้จักกับพลาสติก จุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์นี้มาจาก John Wesley Hyatt (จอห์น เวสลีย์ ไฮเอตต์) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ทำการทดลองผลิตวัสดุจากสารประกอบบริสุทธิ์ที่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติ ผ่านปฏิกิริยาระหว่าง Nitrocellulose (ไนโตรเซลลูโลส) กับ Camphor (การบูร) เกิดเป็นวัสดุแผ่นบางใสคล้ายกระจก แต่สามารถม้วนงอได้ และเรียกมันว่า Celluloid (เซลลูลอยด์)
ในยุคตั้งไข่ของพลาสติกนั้น เซลลูลอยด์คือดาวรุ่งดวงใหม่ของวงการวัสดุศาสตร์ ไม่ใช่แค่ราคาที่ถูกกว่าวัสดุชนิดอื่นค่อนข้างมาก แต่มีคุณสมบัติที่ใช้ผลิตทดแทนวัสดุรุ่นเก่าที่มาจากธรรมชาติได้อย่างไม่น้อยหน้า เพราะมีความคงทนแข็งแรง ในขณะที่เมื่อได้รับอุณหภูมิสูงขึ้นก็ยังยืดหยุ่น ขึ้นรูปปรับแต่งทรงได้ง่าย นั่นทำให้เซลลูลอยด์ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ผลผลิตของพลาสติกรุ่นบุกเบิกนี้ อาทิ ลูกบิลเลียด กรอบแว่นตา ด้ามมีด และฟิล์มถ่ายภาพ
อีกหนึ่งบรรพบุรุษของพลาสติกที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Bakelite (เบคิไลต์) ซึ่งเป็นพลาสติกสังเคราะห์ชนิดแรกอย่างแท้จริงของโลก ค้นพบโดย Leo Baekeland (เลโอ บาเกอลันด์) เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการทำปฏิกิริยากันระหว่าง Phenol (ฟีนอล) และ Formaldehyde (ฟอร์มัลดีไฮด์) เบคิไลต์เป็นวัสดุที่มีความแข็ง ทนความร้อนได้ดี นำไปขึ้นรูปร่างได้ตามแม่พิมพ์ มีสีสันสวยงามและที่สำคัญก็คือ ราคาไม่แพง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อเสียงของเบคิไลต์ก็เปรี้ยงปร้างเป็นพลุแตก และเมื่อเข้าสู่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยีการขึ้นรูปพลาสติกก็ถูกพัฒนาขึ้น ทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่การผลิตพลาสติกชนิดใหม่ สมาชิกสำคัญของพลาสติกแฟมิลีในยุคนี้ คือ Nylon (ไนลอน) Vinyl (ไวนิล) และ Acrylic (อะคริลิก)
ในเมืองไทยนั้น ราวปี พ.ศ. 2500 เริ่มมีการนำเข้าพลาสติกเรซินจากต่างประเทศเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ก่อนที่จะมีการสร้างโรงงานที่สามารถผลิตพลาสติกได้เองในอีกราว 15 ปีถัดมา โดยไทยเราสามารถผลิตพลาสติกเรซินอย่าง PVC (พอลิไวนิลคลอไรด์) ได้เองเป็นชนิดแรก ก่อนที่จะยกระดับเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกเรซิน และกลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางของการผลิตพลาสติกเรซินที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก
ที่มา: LIFE Magazine ตีพิมพ์ในปี 1955
Throwaway Culture: ใช้เสร็จแล้วทิ้งไป ความเคยตัวใหม่ของสังคม
แม้พลาสติกจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจในการใช้ทดแทนวัสดุธรรมชาติต่างๆ อาทิ งาช้าง และทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ผลิต แต่เพราะการผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของคนในสังคมอย่างเกินความพอดี ผนวกกับการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจัดการขยะในหลายประเทศ ผลเสียจึงเกิดขึ้นตามมาอย่างช้าๆ และกลายเป็นวิกฤตระดับโลกที่สังคมปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่
จากผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ถูกผลิตขึ้นมาอย่างล้นหลาม และนั่นทำให้วัสดุมหัศจรรย์อย่างพลาสติกพลอยได้รับความนิยมไปด้วย เพราะคุณสมบัติที่เหนือกว่าวัสดุดั้งเดิม และนั่นทำให้โลกตะวันตกเริ่มเข้าสู่สังคมวัฒนธรรมแห่งการทิ้งขว้างหรือ Throwaway Culture จากปริมาณการผลิตที่มหาศาล นำไปสู่การใช้งานอย่างเกินพอดี และท้ายที่สุดคือเศษซากของขยะพลาสติกกองมหึมา การประชาสัมพันธ์และการโฆษณาในยุคนี้สร้างชื่อเล่นใหม่ให้กับพลาสติก นั่นคือ Single-use Plastic หลักฐานสำคัญที่ตอกย้ำภาพจำของสังคมวัฒนธรรมแห่งการทิ้งขว้าง (Throwaway Culture) เห็นชัดเจนอยู่ในนิตยสาร LIFE ที่ตีพิมพ์ภาพความสำเร็จของการผลิตพลาสติกในเชิงอุตสาหกรรม ผ่านการโยนผลิตภัณฑ์จากพลาสติกอย่างยิ้มร่าของตัวแทนพ่อแม่ลูกชาวอเมริกัน
เมื่อ Throwaway Culture บวกกันกับแรงขับดันจากลัทธิบริโภคนิยมได้สร้างพฤติกรรมความเคยชินให้กับคนในสังคม ผู้คนต่างหันมาบริโภคทุกสิ่งอย่างราวกับพร้อมจะกลืนกินโลกทั้งใบ ด้วยความไม่สนใจว่าทรัพยากรทั้งหลายกำลังจะหมดลงไปทุกวันๆ มากกว่านั้น พวกเขาทิ้งไว้ซึ่งขยะมหาศาลที่ยากแก่การจัดการ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ยังคงตกค้างมาถึงสังคมในยุคเราทุกวันนี้
Throwaway Culture จึงเข้าสู่เฟสของการเป็นมากกว่าแค่เทรนด์การบริโภค แต่กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ระดับที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ 1 ได้ตรัสในแถลงการณ์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกที่นครรัฐวาติกันว่า “ระบบเศรษฐกิจที่แยกจากกันจากการคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม ไม่ได้นำมาซึ่งระบบระเบียบของสังคมที่ดีขึ้น หากแต่ก่อเกิดซึ่งวัฒนธรรม Throwaway ซึ่งเป็นลัทธิบริโภคนิยมที่ผลิตแต่ของเสีย เมื่อใดที่ระบบเศรษฐกิจคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม เมื่อนั้นจะก่อเกิดการพัฒนาและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสำคัญยั่งยืน”
หน้าปกนิตยสาร National Geographic ฉบับพิเศษ Planet 0r Plastic?
Circular Economy: ทางรอดของสังคมแห่งการทิ้งขยะ
นิตยสาร National Geographic ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 2018 ตีพิมพ์หน้าปกฉบับพิเศษ Planet or Plastic? เป็นภาพของภูเขาน้ำแข็งที่แท้จริงแล้วคือก้นของถุงพลาสติก สะท้อนปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญ และสร้างความตระหนักระดับโลกถึงปัญหาขยะพลาสติก ที่ส่งผลไปถึงภาพใหญ่อย่างปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตอนนี้ถูกยกระดับความรุนแรงเป็น Climate Emergency แล้วด้วย
ในบทบรรณาธิการของนิตยสาร ได้พูดถึงประเด็นทางออกของปัญหาขยะพลาสติกนี้ เหมือนกันกับที่เหล่านักสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวทั่วโลกต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราต้องเข้าสู่สังคมและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy อย่างจริงจังได้แล้ว และไม่ใช่เป็นแค่แผนในอนาคต หากแต่ต้องทำทันที!
ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการอยู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกับปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) นี่คือแนวคิดหมุนเวียนที่มองและเริ่มต้นแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมกันตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต เรื่อยมาถึงช่วงของการบริโภค และหลังการบริโภค เพื่อให้ได้มาซึ่งการแก้ปัญหาแบบครบวงจรที่สุด หรือแบบที่ภาษาบ้านเราชอบใช้กันว่า ‘บูรณาการ’ นั่นเอง
พลาสติก 2020: เมื่อ Throwaway Culture ย้อนกลับมาทำร้ายเรา
ในรายการออนไลน์รายการหนึ่ง มีบทสนทนาที่พูดกันถึงเรื่องการลดใช้ขยะพลาสติกอย่างหลอดพลาสติก ด้วยการพยายามทักกันในหมู่เพื่อน ทุกครั้งที่มีใครคนใดคนหนึ่งกำลังจะหยิบหลอดพลาสติกมาใช้ ด้วยคำถามแทงใจที่ว่า ‘แล้วเต่าทะเลล่ะ?’ หรือแม้แต่ ‘น้องเกรต้าจะโกรธมั้ย?’
คำถามที่ชี้ชวนให้สงสัยก็คือ การงดใช้หลอดพลาสติก จะช่วยให้เราไม่เห็นภาพของการดึงหลอดพลาสติกออกจากจมูกของเต่าทะเลอีกต่อไปจริงๆ หรือ
ลองมองอีกมุมเรื่องขยะ รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบันมีการศึกษาเรื่องขยะวิทยา (Garbology) อย่างจริงจัง โดยเน้นหนักไปที่การศึกษาธรรมชาติ โครงสร้าง ที่มาที่ไปของขยะ เพื่อเป้าหมายในการจัดการขยะ ว่าควรจะจัดการอย่างไร และเป็นการจัดการขยะอย่างตรงจุดหรือไม่
เรื่องของหลอดพลาสติกกับเต่าทะเลอาจฟังดูไกลตัวไปอยู่บ้าง เพราะเวลาที่เราทิ้งมันไป ผู้ได้รับผลกระทบคือคนอื่น ซึ่งในที่นี้คือสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าลองมองในอีกมุมหนึ่ง เราจะพบกับผลกระทบที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด
ตัวอย่างเช่น ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งสู่ท้องทะเล ทั้งที่เกิดจากการตั้งใจทิ้งและการจัดการอย่างผิดวิธี และเราอาจจะไม่ได้เป็นคนทิ้งมันเสียด้วยซ้ำ กำลังถูกเหล่าสิ่งมีชีวิตตัวเล็กตัวน้อยในท้องทะเลกัดกินเพราะคิดว่าเป็นอาหาร ไมโครพลาสติกมหาศาลเดินทางเข้าไปอยู่ในร่างกายของเหล่าสิ่งมีชีวิต แล้วห่วงโซ่อาหารก็เกิดขึ้น สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก สัตว์ทะเลที่มีไซส์เหมาะสมกับการนำมาทำกินก็ถูกจับขึ้นมาจากทะเล เดินทางสู่ตลาดปลา ร้านอาหาร และในที่สุดมันก็ถูกวางลงในจานอาหารของเรา
ใช่แล้ว เราอาจกำลังกินพลาสติกที่เราเพิ่งทิ้งลงทะเลไปด้วยความมักง่ายนั่นเอง
พลาสติกที่เราทิ้งไป อาจจะกำลังกลับวกกลับมาทำร้ายเราอย่างไม่รู้ตัว นี่คือสิ่งที่สร้างผลกระทบในวงกว้างและสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมมนุษย์ แน่นอนว่าในครั้งต่อไปที่เราตัดสินใจใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastics) เราคงจะไม่ได้คิดถึงแค่เต่าทะเลแล้ว หากแต่ต้องคิดต่อยอดไปอีกว่า สังคม อุตสาหกรรม หรือแม้แต่รัฐบาล จะมีวิธีการจัดการกับขยะพลาสติกเหล่านี้อย่างไร เพื่อไม่ให้พวกมันกลับมามีผลเสียกับสังคมของพวกเราโดยไม่ได้ตั้งใจ
ทิ้ง-ไม่ทิ้ง ใช้-ไม่ใช้: อยู่ร่วมกันในสังคมพลาสติกอย่างยั่งยืน
การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้ ถ้าวิธีการจัดการปัญหา หรือการรณรงค์ใดๆ ก็ตาม เกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานแห่งความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรม
โชคดีที่วัฒนธรมและพฤติกรรมการบริโภคของไทยเรานั้น หลายอย่างมีความยั่งยืนในแบบที่เราไม่รู้ตัว อาทิ บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่แต่ก่อนเราเคยใช้งาน สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดให้เกิดเป็นบรรจุภัณฑ์สมัยใหม่ที่ใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ หรือทุกวันนี้หลายคนก็เริ่มมีจิตสำนึกในการใช้ซ้ำ (Reuse) เวลาไปร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วได้ถุงพลาสติกมาเป็นจำนวนมาก หลายบ้านเลือกที่จะเก็บมันไว้สำหรับใช้ประโยชน์อื่นๆ หรือแม้แต่การนำมันมาเป็นถุงขยะ ซึ่งนี่ถือเป็นวัฒนธรรมในสังคมพลาสติกที่มีส่วนช่วยให้เราจัดการขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน
แน่นอน Throwaway Culture ยังคงมีอยู่ในสังคมของเรา แต่มันจะเกิดขึ้นกับ Single-use Plastic ที่เหมาะกับการใช้งานเฉพาะ ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัย การใช้อวัยวะเทียม พลาสเตอร์ปิดแผล ผ้าก๊อช ถุงเลือด ถุงล้างไต ฯลฯ เหล่านี้ยังคงต้องใช้นวัตกรรมพลาสติกที่ต้องกำจัดทิ้งเมื่อถึงอายุการใช้งานที่กำหนดหรือฟังก์ชันลดลง อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ นักวิจัยที่ทำงานในห้องแล็บก็ยังคงต้องพึ่งพาพลาสติกประเภทนี้อยู่ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือ เมื่อใช้งาน Single-use Plastic เสร็จแล้ว เราต้องมีวิธีการจัดการพวกมันที่ถูกต้องและเหมาะสม บางอย่างอาจจะต้องส่งไปทำลายทิ้ง แต่ก็มีขยะพลาสติกในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งที่เมื่อผ่านการฆ่าเชื้ออย่างดีแล้ว ก็สามารถนำกลับมาใช้ทำประโยชน์ได้อีก
ตัวอย่างการอยู่ร่วมกันในสังคมพลาสติกอย่างยั่งยืนก็คือ สหภาพยุโรป ที่เหล่าประเทศสมาชิกร่วมกันลงนามในการแก้ไขปัญหาและแบน Single-use Plastic อย่างจริงจัง ผ่านขั้นตอนและกระบวนการที่คิดมาแล้วอย่างถี่ถ้วนและค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
โดยพยายามให้ระบบอุตสาหกรรมลดและเลิกการผลิต Single-use Plastic ที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุด ส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการจัดการขยะ และเป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ในขณะที่ Single-use Plastic ที่ยังคงต้องผลิตนั้น จะถูกนำกลับมาจัดการและผลิตซ้ำใหม่ด้วยการรีไซเคิล ให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์นั้นๆ อีกครั้ง ภายใต้มาตรฐานความสะอาดและสุขอนามัยระดับเข้มงวด เพื่อให้ชาวยุโรปทุกคนได้อยู่ร่วมกันในสังคมพลาสติกอย่างยั่งยืน
บทความนี้ไม่ได้ตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อบอกว่า ไม่ต้องเลิกใช้พลาสติกหรอก สำหรับคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตแบบ No Plastic เรายินดีด้วยที่คุณทำได้ คุณคือตัวอย่างที่ดีให้กับหลายๆ คนบนโลก แต่สำหรับคนที่ยังทำไม่ได้ก็ใช่ว่าจะผิดมหันต์ การเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินต้องใช้เวลา และต้องใช้ความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป และหวังว่าการจัดการเชิงนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ และสร้างวัฒนธรรมและสังคมแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน
ในระดับสเกลเล็ก การเริ่มต้นที่ตัวเรา ย่อมส่งผลไปสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้นแน่นอน จากปัญหาขยะพลาสติก ไปสู่ปัญหาการจัดการขยะ การจัดการสุขอนามัย เรื่อยไปจนถึงระบบเศรษฐกิจ เมื่อทุกการแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างครบรอบหมุนเวียน ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นได้ในทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เหมือนกับที่โป๊ปฟรานซิสเคยกล่าวไว้นั่นเอง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.silpa-mag.com/history/article_41387
- www.theguardian.com/environment/2017/mar/13/waste-plastic-food-packaging-recycling-throwaway-culture-dave-hall
- www.nationalgeographic.co.uk/environment-and-conservation/2018/06/why-our-throwaway-culture-has-end
- www.matichon.co.th/article/news_1583067
- www.vaticannews.va/en/pope/news/2019-11/pope-francis-economy-inclusive-capitalism.html
- ec.europa.eu/commission/news/single-use-plastics-2018-may-28_en