SCG ยอมรับวิกฤตราคาพลังงานพุ่ง ส่งผลกระทบต่อกำไรปี 2565 โดยธุรกิจเคมีภันฑ์โดนกระทบมากสุด เหตุมีต้นทุนพลังงาน 80% เปิดแผนรับมือเน้นบริหารต้นทุนและสต๊อกวัตถุดิบเพื่อประคองซัพพลายเชน รวมถึงปรับขึ้นราคาขายสินค้า ย้ำจะให้กระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดเผยในงานแถลง SCG Business Direction 2022 ปรับตัวบนความท้าทายของวิกฤตโลกว่า จากวิกฤตราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เบื้องต้นประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรจากการดำเนินงานในปี 2565 แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบมากเพียงใด เนื่องจากวิกฤตราคาพลังงานยังไม่จบลง
ทั้งนี้ จากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในเครือ SCG ดังนี้
- ธุรกิจเคมีภัณฑ์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากมีต้นทุนแนฟทามากถึง 70-80%
- ธุรกิจปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบรองลงมา โดยมีต้นทุนพลังงาน 15-20% ของต้นทุนรวม
- ธุรกิจแพ็กเกจจิ้งได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยมีต้นทุนพลังงานราว 5%
ในขณะที่ผลกระทบต่อยอดขายไม่มาก เนื่องจากบริษัทมียอดขายที่มาจากยูเครนและรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1-2% ของยอดขายรวม ขณะเดียวกัน ความต้องการของลูกค้าในประเทศอื่นๆ ยังคงเติบโต เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
รุ่งโรจน์กล่าวว่า แนวทางการรับมือกับความท้าทายด้านราคาพลังงานนั้น บริษัทจะเน้นบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ทั้งต้นทุนพลังงาน สต๊อกวัตถุดิบ และต้นทุนทางการเงิน เพื่อประคองให้ซัพพลายเชนสามารถเดินหน้าต่อได้ หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเตรียมที่จะปรับราคาขายขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ก็จะทำให้ผู้บริโภครับผลกระทบน้อยที่สุด
“แต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานมากก็จะได้รับผลกระทบที่มากกว่า วิกฤตราคาพลังงานครั้งนี้เป็นความท้าทายภาคธุรกิจครั้งใหญ่ เพราะบางธุรกิจในไทยยังไม่ฟื้นจากโควิดด้วยซ้ำ ในระยะสั้น SCG จะเน้นบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะสามารถเดินต่อไปได้ ทั้งบริหารต้นทุน ดูแลซัพพลายเชน ประเมินต้นทุนการเงินด้วย และทำให้แน่ใจว่ามีกระแสเงินสดเพียงพอ” รุ่งโรจน์กล่าว
เขากล่าวว่า จากสภาวการณ์ปัจจุบัน SCG จับตามอง 4 ความเสี่ยงหลักๆ เพื่อใช้ประเมินแผนรับมือความเสี่ยง ประกอบด้วย สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน, มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและพลังงาน และผลกระทบที่เกิดขึ้น, ต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวเพิ้มขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อและนโยบายดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม SCG ยังคงงบลงทุนปี 2565 ไว้ที่ 8 หมื่นล้านบาท โดยประมาณครึ่งหนึ่งจะใช้ลงทุนในโครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ประเทศเวียดนาม ที่ดำเนินการไปแล้ว 90% ส่วนที่เหลือเตรียมไว้สำหรับการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งอาจต้องทบทวนอีกครั้ง เนื่องจากสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความเสี่ยงเกิดขึ้นค่อนข้างมาก
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP