หากมองประเทศไทยย้อนกลับไปยังสิบหรือยี่สิบปีที่แล้ว เราจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานกี่ปีต่อกี่ปี เราก็ยังพบกับเหตุการณ์นี้อยู่ไม่เคยเปลี่ยน ราวกับเครื่องเล่นวิดีโอเทปที่แสดงภาพหมุนวนไม่รู้จบ
นั่นคือปัญหาการใช้ความรุนแรงระหว่างสถาบันอาชีวศึกษา
ข่าวนักเรียนอาชีวะยกพวกตีกันยังคงครองพื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกเช้าเหมือนเดิม จนกลายเป็นภาพจำของคนไทยไปแล้วว่าอย่าส่งลูกไปเรียนอาชีวะ เพราะมีแต่ยกพวกตีกัน ไม่ตั้งใจเรียน และแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยความรุนแรง
แต่อีกมุมหนึ่งต้องยอมรับว่าช่างฝีมือคุณภาพ จากสถาบันอาชีวศึกษาเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
จากงานวิจัยพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของนักเรียนอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าพฤติกรรมของเยาวชนกลุ่มนี้เกิดจากการสั่งสมสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ได้รับมา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีการแสดงออกมาไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าบุคคลนั้นจะเลือกนำส่วนใดออกมาใช้ และเก็บส่วนใดเอาไว้ภายใน
นั่นแปลว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีปัจจัยอยู่ที่สิ่งแวดล้อมโดยรอบ การเลือกคบเพื่อนหรือสถาบันที่เรียนอยู่เท่านั้น หากแต่ปัจจัยหลักนั้นขึ้นอยู่กับตัวพวกเขา หรือเหล่านักเรียนอาชีวะเองต่างหาก ว่าเวลาเจอปัญหาจะเลือกแสดงออกมาในรูปแบบของความรุนแรง หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์
คำถามคือแล้วเราจะเปลี่ยนความรุนแรงให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์ได้อย่างไร
เพื่อที่จะดึงเอาด้านสร้างสรรค์ของเหล่านักเรียนอาชีวะออกมา มูลนิธิเอสซีจีจึงริเริ่มโครงการ ‘อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ’ มาตั้งแต่ปี 2556 เพราะมองว่าเหล่านักเรียนอาชีวะฝีมือชนเหล่านี้คือบุคลากรสำคัญที่ประเทศจะขาดไปไม่ได้ และพวกเขาสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้
ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าอาชีวะ ยังเป็นระบบการศึกษาที่สำคัญของประเทศชาติ และเชื่อเช่นกันว่า เด็กอาชีวะฝีมือชนไม่ได้มีพฤติกรรมรุนแรงอย่างนั้นทุกคน เพราะยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่เชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง สามารถสร้างสรรค์ผลงานและอนาคตที่สดใสจากฝีมือของตัวเองได้ อีกทั้งยังรู้จักการควบคุมแรงขับภายในตัวเองให้ออกมาเป็นพลังสร้างสรรค์
ล่าสุดมูลนิธิเอสซีจีได้สร้างภาพยนตร์สั้นที่กำลังเป็นกระแสในโลกออนไลน์อยู่ตอนนี้ โดยหยิบเค้าโครงเรื่องจริงของ ‘เอก’ เด็กอาชีวะ ที่ต้องเจอกับปัญหาความรุนแรงอยู่รอบตัวมานำเสนอ เพื่อหวังที่จะช่วยให้ผู้ชมเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเด็กอาชีวะ และยังหวังว่าเยาวชนที่ได้ชมเรื่องราวในภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘ทางเลือก’ นี้ จะ ‘เลือก’ เอาชนะปัญหาความรุนแรง ด้วยความมุ่งมั่น อดทน และทำในสิ่งที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอีกมากของเด็กอาชีวะฝีมือชนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต อาทิ ธีร์ บุญวาสนา ชายหนุ่มผู้เลือกศึกษาต่อสายอาชีพ สาขาเทคนิคสถาปัตยกรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย ทันทีที่จบชั้น ม.3 จนกลายเป็นสถาปนิกอนาคตไกล เจ้าของบริษัท อยุธยาสร้างบ้าน จำกัด
หรือ ภาวิตา แซ่เจ้า หญิงสาวที่เลือกเรียนต่ออาชีวะ ผู้ซึ่งจบ ปวช. และ ปวส. สาขาอาหารและโภชนาการ จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตโชติเวช จนกลายมาเป็น ‘เชฟแอน’ ที่เหล่าผู้รักการทำอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซัลซ์บวร์ก ออสเตรีย และรีสอร์ตหรูระดับโลกที่สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงบทบาทที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี กับการเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของเชฟเอียน แห่ง Iron Chef Thailand
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จจากรั้วอาชีวะ ยังมีคนเหล่านี้อีกจำนวนมากในโลกแห่งความจริง ไม่ได้มีแค่ในหนังเท่านั้น หากเชื่อมั่นในคุณค่าและฝีมือของตัวเอง ก็ไม่มีสิ่งใดมาฉุดรั้งที่จะพาชีวิตของตัวเองไปให้ถึงฝั่งฝัน
ความเชื่อน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถส่งต่อถึงกันและกันได้ หลังจากที่คุณชมภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้จบ คุณอาจจะมองเห็นพวกเขาเปลี่ยนไป
อ้างอิง:
- ณัฏฐาภรณ์ โสกัณฑัต, พฤติกรรมการใช้ความรุนแรง กรณีศึกษาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยมหิดล, วิทยานิพนธ์, 2557, 159 หน้า.
- ธีร์ บุญวาสนา ภาวิตา แซ่เจ้า สุวิมล จิวาลักษณ์, เจาะใจ ตอน ฝีมือชน คนต้นแบบ, บริษัท เจเอสแอล จำกัด, 1 กันยายน พ.ศ. 2559, MCOT HD, รายการโทรทัศน์.