วันนี้ (24 มกราคม) พ.ต.ต. ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวคณะสืบสวนคดีการเสียชีวิตของ ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม นัดหมายคณะพนักงานสืบสวน 29 คน ประชุมครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดทิศทางและวางกรอบการสืบสวน สำหรับการแสวงหาพยานหลักฐาน ข้อมูล ข้อเท็จจริง ตามที่ได้มีผู้ร้อง เกี่ยวกับกรณีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ หลังจากมีการอนุมัติการสืบสวน เลข สส.20/2568 โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
พ.ต.ต. ณฐพล เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้จะแบ่งหน้าที่กันทำงานภายในคณะสืบสวน หรือเรียกว่ากำหนดวิธีการสืบสวนสอบสวน เพื่อตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้มีการสืบข้อมูลมาโดยเฉพาะ จะเน้นไปที่การตรวจสอบตามหลักนิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ เรื่องตำแหน่ง GPS บนเรือ เพื่อหาความเกี่ยวข้องของบุคคลอื่น รวมทั้งจะกำหนดกลุ่มพยานเพื่อสอบสวนปากคำ เช่น พยานผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช
นอกจากนี้การแบ่งหน้าที่กันทำงานเพื่อจะได้วางกรอบกันว่าเจ้าหน้าที่แต่ละรายจะเอาหลักฐานมาจากไหนบ้าง เพื่อนำไปตอบคำถามประเด็นต่างๆ ของผู้ร้อง (ภาคประชาชน) และนอกเหนือจากการสืบสวนภายในราชอาณาจักรแล้ว ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ตนเองและคณะทำงานจะมีการเดินทางไปยังต่างประเทศในหลายๆ ประเทศอีกด้วย เพื่อไปดึงข้อมูลภายในโทรศัพท์ของแตงโมและบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในคดี ไม่ว่าจะอยู่บนเรือหรือนอกเรือก็ตาม เนื่องด้วยพบว่าข้อมูลหลายอย่างถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ระบบคลาวด์ของผู้ให้บริการนั้นๆ โดยจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 หรือ MLAT เพื่อให้ได้ข้อมูลมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้
พ.ต.ต. ณฐพล เผยอีกว่า ยังมีวาระการประชุมเรื่องการคุ้มครองพยานด้วย เพราะบุคคลใดที่รู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ แล้วต้องมาให้ปากคำกับดีเอสไอในฐานะพยานรายสำคัญจะมีมาตรการคุ้มครองพยาน ส่วนกระบวนการสืบสวนโดยการสอบปากคำพยานรายอื่นๆ นั้น คณะสืบสวนจะมีการกำหนดกลุ่มพยาน โดยเฉพาะกลุ่มพยานแรกคือพยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนที่รู้เกี่ยวกับภาพจากกล้องวงจรปิดหรือเห็นเหตุการณ์ใดๆ ในวันเกิดเหตุ จะได้ประมวลเรื่องได้ว่าตรงกับภาพข่าวที่มีการนำเสนอจริงหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ร้องได้แจ้งว่าจะมีการนำพยานอีกหลายกลุ่มเข้ามาให้คณะสืบสวนได้ทำการสอบปากคำ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ อีกหลายประเด็น ดังนั้นการที่ดีเอสไอจะลงพื้นที่ไปบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาสถานที่เกิดเหตุ ก็เป็นเหมือนการไปตรวจที่เกิดเหตุเพื่อมาประกอบกับการให้ถ้อยคำของพยานแต่ละราย โดยจะล่องเรือโดยดีเอสไอเองและจะใช้เครื่องมือพิเศษ โดยเราจะประสานไปยังภาคเอกชนที่มีเครื่องมือที่จะมาตรวจสอบความถูกต้องด้วย เพราะต้องให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ข้อมูลทุกอย่างต้องได้มาอย่างถูกต้อง
สำหรับกรอบการสืบสวนในคดีนั้นมีระยะเวลา 6 เดือนจริง แต่สามารถขยายระยะเวลาต่อได้อีก ซึ่งอาจไม่ได้ใช้เวลาสืบสวนแสวงหาพยานหลักฐานข้อเท็จจริงถึง 6 เดือนก็เป็นได้ เราได้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้านเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ด้านระบบ GPS ด้านโทรศัพท์การสื่อสาร ด้านปฏิบัติการพิเศษ ด้านแผนที่ ส่วนวิเคราะห์ข่าว ด้านการคุ้มครองพยาน ด้านกฎหมาย ความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ และความรู้ด้านการแพทย์
เมื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้วจะประมวลเรื่องเสนอไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมย้ำว่าการสืบสวนครั้งนี้ของดีเอสไอจะไม่เป็นการไปยุ่งหรือเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในสำนวนหลักซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการชั้นศาล เพราะจะมุ่งเน้นสืบสวนไปที่มีการร้องขอว่า “มีกลุ่มที่บิดเบือนในการกระทำครั้งนี้ หรือมีการสร้างพยานหลักฐานเท็จหรือไม่ อย่างไร” ทั้งนี้ ที่ต้องเน้นไปที่กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ เพราะได้ตรวจสอบแล้วมีการสงสัยเรื่องผลตรวจนิติเวช เรื่องของมีเลือดออกที่กกหูสองข้าง และมีตัวยาบางตัวที่สงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มต่างๆ
ขณะที่ ไกรศรี สว่างศรี ผู้อำนวยการส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ในส่วนของเลเซอร์สแกนนั้นเป็นเครื่องมือสแกนภูมิประเทศแบบ 3 มิติ เป็นคลื่นเลเซอร์ ซึ่งสามารถเก็บภูมิประเทศจริง และจำลองออกมาเป็นดิจิทัลได้ภาพเสมือนจริง ก่อนนำมาวิเคราะห์ในระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นพิกัดเดียวกับเรือ โดยจะสแกนตามลำน้ำทั้งหมด เพื่อนำมาผ่านกระบวนการคอมพิวเตอร์เพื่อหาพิกัดแบบภูมิศาสตร์ และจะนำมาตรวจสอบกับพยานหลักฐานต่างๆ เช่น คลิปวิดีโอ ภาพถ่าย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ดีเอสไอนำมาใช้ในการตรวจสอบ
ทั้งนี้ สำหรับการใช้เลเซอร์สแกนจะเริ่มตรวจสอบพิกัดตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงจุดสะพานพระราม 8 โดยทั้งสองฝั่งแม่น้ำจะเก็บข้อมูลทั้งหมด และจะทำงานร่วมกับการบินโดรน อย่างไรก็ตาม การใช้เลเซอร์สแกน 3 มิติ ค่อนข้างมีความแม่นยำสูงในระดับเซนติเมตร หรือน้อยกว่านั้นคือระดับมิลลิเมตร เพราะเป็นการสแกนทุกจุดของวัตถุต่างๆ โดยละเอียด