เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้ทำพรีวิวผลประกอบการ 1Q64 ของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ซึ่งคาดว่าจะประกาศผลประกอบการในวันที่ 28 เมษายน 2564
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น SCC ปรับตัวขึ้น 10%MoM สู่ระดับ 408.00 บาท เทียบกับ SET Index ที่ปรับตัวขึ้น 1%MoM สู่ระดับ 1,566.34 จุด (ข้อมูล ณ วันที่ 9 เมษายน 2564)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดกำไรสุทธิ 1Q64 ที่ 1.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 83%YoY และ 58%QoQ เนื่องจากไม่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 203 ล้านบาท เหมือนกับ 1Q63 และขาดทุนด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวน 1.6 พันล้านบาทเหมือนใน 4Q63 โดยกำไรปกติ 1Q64 อยู่ที่ 1.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 78%YoY และ 33%QoQ ซึ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด YoY ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจเคมิคอลส์ที่แข็งแกร่ง ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างทรงตัว (CBM) และธุรกิจบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวลง
แนวโน้มผลประกอบการ 1Q64 ของธุรกิจเคมิคอลส์ (52% ของกำไรปี 2563) ที่เพิ่มก้าวกระโดดทั้ง YoY และ QoQ เป็นผลมาจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และปริมาณขายที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ รวมถึงยังมีกำไรจากสินค้าคงคลังจำนวน 1.2 พันล้านบาท (เทียบกับขาดทุนสินค้าคงคลัง 1.1 พันล้านบาทใน 1Q63 และกำไร 1.1 พันล้านใน 4Q63) โดยส่วนต่างราคา PE-แนฟทา และ PP-แนฟทา 1Q63 เพิ่มขึ้นสู่ 590 USD/ตัน (เพิ่มขึ้น 48%YoY และทรงตัว QoQ) และ 795 USD/ตัน (เพิ่มขึ้น 44%YoY และเพิ่มขึ้น 8%QoQ) ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในเอเชีย และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก
ด้านส่วนต่างราคา PVC ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 39%YoY และ 16%QoQ สู่ระดับ 608 USD/ตัน ทั้งนี้ SCBS คาดว่าปริมาณการขายโพลิโอเลฟินส์ 1Q64 จะเพิ่มขึ้น 13%YoY และ 24%QoQ สู่ 4.75 แสนตัน เนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน MOC เหมือนใน 4Q63
ด้านผลประกอบการธุรกิจ CBM (19% ของกำไรปี 2563) 1Q64 ค่อนข้างทรงตัว YoY เนื่องจากดำเนินงานที่ดีขึ้นและการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถูกหักล้างด้วยผลการดำเนินงานในต่างประเทศที่อ่อนแอ แต่จะปรับตัวดีขึ้น QoQ เนื่องจากปัจจัยทางฤดูกาล
โดย SCBS คาดว่าปริมาณการขายปูนในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น YoY จากโครงการภาครัฐจำนวนมาก และอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยต่างจังหวัดที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ขณะที่ปริมาณการขายในตลาดภูมิภาคจะอ่อนแอ YoY เพราะการลงทุนที่ซบเซาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ธุรกิจ CBM จะได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากโครงการลดต้นทุน เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้พลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้น
ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (18% ของกำไรปี 2563) 1Q64 จะลดลง YoY เนื่องจากมีสัดส่วนการถือหุ้น SCGP ลดลงจาก 100% เหลือ 72% หลังจาก IPO และฐานสูงของกำไรจากปีก่อนที่เกิดการซื้ออย่างตื่นตระหนกเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แต่ผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น QoQ เนื่องจากปัจจัยฤดูกาล
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการโดยรวมใน 2Q64 ของ SCC SCBS คาดว่าจะยังเติบโต YoY ซึ่งได้ปัจจัยหนุนจากธุรกิจเคมีคอลส์ เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่กว้างขึ้นใน 2Q64TD และปริมาณการขายที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากเสร็จสิ้นการขยายกำลังการผลิต
มุมมองระยะยาว:
SCC มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับธุรกิจเคมีคอลส์ในระยะ 3 ปีข้างหน้า จาก 5 ล้านตันต่อปีในปี 2563 สู่ระดับ 8.3 ล้านตันต่อปีในปี 2566 หลังจากขยายกำลังการผลิตเพื่อลดปัญหาคอขวดโรงแครกเกอร์ MOC อีก 0.35 ล้านตันใน 2Q64 และเริ่มเดินเครื่องโรงแครกเกอร์ LSP ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 2.95 ล้านตัน
สำหรับธุรกิจ CBM SCC ยังคงดำเนินการตามแผนสร้างการเติบโตในธุรกิจค้าปลีกและจัดจำหน่ายและกลุ่มปรับปรุงซ่อมแซม โดยจะนำเสนอบริการและโซลูชันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้สัดส่วนรายได้จากการให้บริการและโซลูชันซึ่งมีอัตรากำไรสูงเพิ่มขึ้นอีก
ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ บริษัทตั้งเป้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนผ่านการขยายกำลังการผลิต และการทำธุรกิจแบบบูรณาการในแนวตั้งในประเทศไทยและนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ ได้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดสู่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เติบโตสูงขึ้น และสร้างสรรค์โซลูชันผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล