×

ยานแม่ SCBX กวาดกำไร 9 เดือนแรกทะลุ 3 หมื่นล้าน หลังรายได้ดอกเบี้ยพุ่งตามสินเชื่อ ขณะที่ CIMBT โชว์กำไร 2.8 พันล้าน โตเฉียด 65%

21.10.2022
  • LOADING...
SCBX

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ประกาศผลกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ของปี 2565 จำนวน 10,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการขยายตัวของฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 22,815 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 30,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

ในไตรมาส 3 ของปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 27,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิพร้อมกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 3.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ มีจำนวน 11,752 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้น 6.5% จากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางธุรกิจในวงกว้าง ในขณะที่รายได้จากการลงทุนและการค้าปรับตัวลดลง 81.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย

 

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 16,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีที่ 42.6% ในไตรมาส 3 ของปี 2565

 

โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรองในไตรมาส 3 ของปี 2565 จำนวน 7,750 ล้านบาท ลดลง 22.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับสูงที่ 163.8% 

 

สำหรับคุณภาพของสินเชื่อโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 3.34% ปรับตัวลดลงจาก 3.58% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 และเงินกองทุนตามกฎหมายยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.5%

 

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ กล่าวว่า ธุรกิจของกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ควบคู่กับการสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ในขณะเดียวกันการจัดตั้งธุรกิจใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘ยานแม่’ มีความก้าวหน้าหลายประการ เช่น 

 

  • การบุกตลาดธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถของบริษัท ออโต้ เอกซ์ ภายใต้แบรนด์ ‘เงินไชโย’ ที่สามารถขยายฐานลูกค้าและสินเชื่อมากกว่า 3 พันล้านบาทภายในไตรมาสเดียว 

 

  • บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้เปิดตัวซูเปอร์แอปด้านการลงทุนแห่งแรกของไทย ที่รวบรวมการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ในแพลตฟอร์มเดียว 

 

  • แพลตฟอร์มโรบินฮู้ดได้ผันตัวไปเป็นซูเปอร์แอปอย่างเต็มรูปแบบ โดยเพิ่มบริการจองที่พักและกิจกรรมท่องเที่ยว (Online Travel Agent) บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า (Mart Service) และบริการรับ-ส่งของ (Express Service) ตลอดจนได้รับใบอนุญาตแพลตฟอร์มบริการเรียกรถแล้ว 

 

ในวันเดียวกัน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ได้ประกาศผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,811.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,103.3 ล้านบาท หรือ 64.6% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2564 สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 3.9% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 45.5% เป็นผลจากการลดลงของการด้อยค่าของสินทรัพย์ ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 0.4%

 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 2.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 2.79 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากสิ้นปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 2.39 แสนล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (The Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็น 80.2% จาก 88.5% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564

 

ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.4% ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 3.7% สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2565 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้

 

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 113.6% เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ 117.5% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.1 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท

 

ขณะที่เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 กันยายน 2565 มีจำนวน 56.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 20.5% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้น 1 ที่ 15%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X