×

SCBX กับปรากฏการณ์ ‘ไปก่อนไม่รอแล้ว’ มุ่งสู่การเป็น ‘บิ๊กเทคคอมพานี’ โจทย์ท้าทายหน่วยงานกำกับและแบงก์อื่นๆ ที่ต้องวิ่งตามให้ทัน

26.09.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • การเปลี่ยน ‘ยานแม่’ ลำใหม่ของ SCB ที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค ภายใต้ร่วมเงา SCBX ไม่เพียงสร้างแรงเขย่าในวงการแบงก์ไทยเท่านั้น แต่ยังสั่นสะเทือนไปทั้งวงการการเงิน
  • คนในแวดวงเทคโนโลยีมองปรากฏการณ์ใหม่ของ SCBX เป็นเหมือนการเปลี่ยนตัวเองจาก ‘ปลาใหญ่’ เป็น ‘ปลาไว’ เพื่อให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ยังมีโจทย์ท้าทายว่าจะขึ้นไปแข่งในระดับภูมิภาคได้มากน้อยแค่ไหน
  • บิ๊กมูฟของกลุ่มไทยพาณิชย์ยังสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ว่าจะวิ่งตามทันหรือไม่ เมื่อหน่วยธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับโจทย์ใหญ่ของแบงก์อื่นๆ จะไล่ตามคู่แข่งรายนี้อย่างไร
  • การเขย่าองค์กรครั้งใหญ่ของกลุ่มไทยพาณิชย์รอบนี้ สร้างกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน สะท้อนผ่านราคาหุ้น SCB ที่แม้จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ แต่ราคาหุ้นพุ่งทะยานกว่า 18% หลังประกาศแผนงานครั้งใหม่

เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนไปทั้งวงการการเงินไทย ตอกย้ำภาพที่ชัดเจนว่าแบงก์ไหนปรับตัวช้าอาจรั้งท้ายขบวน เมื่อกลุ่มธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Group) ประกาศปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าว่า ‘ไทยพาณิชย์’ จะไม่เป็นแค่แบงก์พาณิชย์อีกต่อไป เพราะหลังจากนี้ธุรกิจ ‘ธนาคาร’ จะเป็นเพียงแค่โหนดหนึ่งในกลุ่มธุรกิจของไทยพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ ‘SCBX’ (เอสซีบี เอกซ์) ซึ่งเปรียบได้กับ ‘ยานแม่’ ลำใหม่ที่จะพุ่งทะยานไปในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (FinTech Group) รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เป็นหัวหอกสำคัญขยับไปแข่งขันในตลาดระดับภูมิภาคต่อไป และดูเหมือนผู้เล่นในประเทศจะไม่ใช่คู่แข่งอีกต่อไปแล้ว

 

ดังนั้นบริการในนาม SCB Group จะไม่ได้มีแค่การรับฝากเงิน ปล่อยกู้ โอนเงิน แลกเปลี่ยนเงิน หรืออิงบริการพื้นฐานของธุรกิจแบงก์แบบเดิมๆ อีกต่อไป แต่จะมีการปรับตัวที่มากกว่า 360 องศา เรียกได้ว่าเป็น ‘Going Upside Down’ (กลับหัวตีลังกา) สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ที่คณะผู้บริหารธนาคารเคยประกาศเอาไว้เมื่อปี 2561 หรือ 3 ปีที่แล้ว

 

แผนงานใหม่ทั้งหมดของ SCB Group ทำเพื่อแก้โจทย์ของโลกยุคใหม่ เพราะปัจจุบันระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเข้ามาเร่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนจำนวนมากเริ่มมองหาวิธีการใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ในวิถีชีวิตมากขึ้น ไม่ต่างจากธนาคารขนาดใหญ่แห่งอื่นๆ ของไทยที่ในเวลานี้น่าจะกำลังซุ่มปรับตัวเช่นกัน เห็นได้จากทุกแบงก์จะมีบริษัทลูกเพื่อศึกษาธุรกิจเทคโนโลยีเตรียมการรับมืออนาคตกันเกือบทุกแห่ง

 

 

ล่าสุด อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) การมาถึงของเทคโนโลยีการเงินที่ไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Finance Technology) การขยายตัวและการบุกตลาดของแพลตฟอร์มระดับโลกในธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปจะทำให้โมเดลธุรกิจที่เป็นตัวกลางและพึ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมลดบทบาทลงจากการถูกดิสรัปชัน

 

เพราะบริการเดิมจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลง และจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น SCB จะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม ต้องปรับตัวให้เข้ากลับโลกใหม่ แต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ ซึ่งมีฐานลูกค้าบุคคลกว่า 16 ล้านคน และมีฐานเงินฝากติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ

 

ทั้งนี้เพื่อจะเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เพื่อให้อยู่รอดในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป้าหมาย หรือ Milestone ของ SCB คือการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคน ขยายธุรกิจใหม่ออกไปต่างประเทศ และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้ได้ในปี 2568

 

เริ่มจากกลยุทธ์ SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ 

 

โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ เป็นการเสริมความแข็งแกร่งธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคต และตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง

 

ก่อนหน้านี้ SCB นำร่องธุรกิจใหม่ด้วย ‘โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี’ กับแพลตฟอร์มระดับโลกแล้ว และเริ่มก่อตั้งบริษัท SCB Tech X และบริษัท Data X ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งจะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Business) ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ Digital Asset ด้านต่างๆ ในโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาว

 

นอกจากนี้ SCB Group ยังร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) จัดตั้งกองทุนธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC) แล้วให้ SCB 10X บริหาร โดยช่วงแรกจะลงขันลงทุนฝ่ายละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,200 ล้านบาท) ส่วนที่เหลือจะระดมทุนจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง (Accredited Investor) เพื่อให้กองทุนมีมูลค่าในระดับ 600-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9-2.5 หมื่นล้านบาท) จะได้นำเงินไปเน้นลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่มีศักยภาพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงระยะเติบโต เพื่อหาโอกาสเติบโตในเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั่วโลก

 

 

ประเด็นการปรับตัวของ SCB Group ผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำแห่งหนึ่งของอาเซียนที่มีมูลค่ากิจการระดับแสนล้านดอลลาร์ จากการเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีที่เป็นรู้จักและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้งในธุรกิจเกม อีคอมเมิร์ซ และบริการทางการเงินแบบใหม่ ซึ่งล่าสุดได้รุกเข้าไปในออนไลน์แบงกิ้งมากขึ้นกล่าวให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า จริงๆ ธนาคารแทบทุกแห่งในภูมิภาคนี้รวมทั้งไทยก็พยายามปรับตัวมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีกันมากอยู่แล้ว เพียงแต่ใช้วิธีที่แตกต่างกันไป อันนี้นับเป็นมูฟที่ก้าวกระโดดเลยน่าสนใจ เพราะอาจทำให้คล่องตัวขึ้นมากเมื่อไม่เป็นแบงก์ โดยพยายามเปลี่ยนเป็น ‘ปลาไว’ ไม่ใช่แค่ ‘ปลาใหญ่’ เพื่อให้ทันโลก

 

“ส่วนกรณีการปรับตัวของ SCB จะทำให้กลายมาเป็นคู่แข่งกันในภูมิภาคอีกรายหรือไม่นั้น ในประเทศไทยต้องยอมรับว่าเขาใหญ่มาก แต่ถ้าจะดูเทียบกับทั่วโลกก็คงต้องดูมูลค่าตลาดเพื่อเปรียบเทียบจะบอกได้ แต่แผนการนี้จะประสบความสำเร็จแค่ไหน ยังต้องติดตามดู” ผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำแห่งหนึ่งของอาเซียนกล่าว

 

ด้าน ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Siametrics และกรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) กล่าวว่า การปรับตัวของ SCB น่าจะไม่ใช่แค่ฟินเทค แม้จะมีภาพการเงินเป็นหลัก เพราะถ้าดู ‘โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี’ ก็ยังมีกลิ่นอายการของการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการมาแบบนี้ก็เป็นไปได้ว่าขั้นถัดไปนอกจากการปล่อยกู้แล้วจะกลายไปเป็นเทคคอมพานียักษ์ใหญ่ แต่แผนธุรกิจลักษณะนี้จะดีหรือไม่ คงต้องติดตาม

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าแผนธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่เช่นนี้ไม่ผูกขาดข้อมูล น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มในการแข่งขัน (Value Competition) ได้ คือนอกจากจะช่วยให้มีบริการที่ดีขึ้นแก่ลูกค้าแล้ว ยังมีส่วนดีต่อธุรกิจเทคฯ ในเมืองไทยให้สามารถเติบโตได้ด้วย เนื่องจากในไทยยังไม่มีเทคฯ รายใดที่เติบโตอย่างโดดเด่น

 

ณภัทรบอกว่า หลังจากนี้ยังต้องติดตามดูว่า การรวมกำลังกันอย่างเข้มแข็งของบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยแล้ว จะทำให้เกิดนวัตกรรมใดในระดับโลกได้บ้าง จะช่วยให้เกิด New Business Economy ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการยกระดับประเทศ รวมถึงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ 

 

“การขยับเช่นนี้มีผลต่ออุตสาหกรรมแบงก์ไทย เพราะจริงๆ ทุกแบงก์ก็เตรียมปรับตัวกันอยู่แล้ว เท่าที่ทราบ อย่างธนาคารทิสโก้ก็ปรับตัวแล้ว แต่จะออกมาในภาพลักษณ์แบบนี้ หรือ Consolidated เพื่อปรับตัว เป็นเรื่องปกติที่จะทำให้ต้องมีความ X ขึ้นมา ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมได้ดี ที่สำคัญในบริบทที่เปลี่ยนไปต้องขยับกันหมด คงไม่ใช่แค่แบงก์เท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจแบงก์มีสภาพคล่องสูง สามารถขยับไปฟินเทค หรือบริการอื่นๆ ได้อีก” ณภัทรกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าการปรับตัวของ SCB ในครั้งนี้ยังมีคำถามถึงองค์กรกำกับดูแลว่า จะกำกับดูแลต่อเรื่องนี้อย่างไรให้เหมาะสม เพราะต่อไปจะไม่ใช่แค่แบงก์ เพราะเทคโนโลยีจะสร้างบริการได้หลากหลาย จึงต้องดูว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำกับธุรกิจที่มีความซับซ้อนไม่ชัดเจนอย่างไร 

 

เพราะธุรกิจเป็นทุกอย่างพร้อมๆ กันได้ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าทางผู้กำกับเองก็คงกำลังคิดเรื่องนี้เหมือนกัน เนื่องจากการที่บริษัทแม่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จะเป็นเจ้าของข้อมูลอันมหาศาลด้วย อาจทำอะไรได้อีกมาก และการที่ผู้เล่นในตลาดพยามจะมุ่งสู่การเป็นบิ๊กเทคคอมพานี การแข่งขันที่แฟร์ มีสิทธิ์เข้าถึงและแชร์ข้อมูล ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance หรือ ESG) จะช่วยให้ได้ประโยชน์ร่วมกันและยั่งยืนได้

 

มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับสัญญาณที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เคยกล่าวในงาน ‘The Future of Financial System อนาคตโลกการเงิน’ ก่อนหน้านี้ว่า เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จะทำให้เกิดแพลตฟอร์มมาช่วยทำให้เกิดบริการใหม่มากมาย ทำให้เส้นแบ่งขอบเขตในแต่ละธุรกิจไม่ชัดเจน การกำกับดูแลเองก็จำเป็นต้องปรับด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือ และ ธปท. จะผลักดันให้เกิดบริการใหม่ๆ มาแก้ Pain Point ของระบบการเงินของไทย เช่น การโอนเงินข้ามประเทศที่ค่าบริการสูง การเข้าถึงสินเชื่อหรือสภาพคล่องของรายย่อยและ SMEs ไทย

 

สุดท้ายนี้ จาก Landscape ที่เปลี่ยนไป บวกกับการขยับแผนธุรกิจของ SCB ทำให้เห็นภาพชัดว่าทั้งอุตสาหกรรมแบงก์ นอนแบงก์ และธุรกิจทั่วไป รวมถึงผู้กำกับดูแล ต้องทรานส์ฟอร์ม ปรับตัวขนานใหญ่ให้ทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเพื่อให้อยู่รอด และอื่นใดยังทำให้ราคาหุ้นของ SCB พุ่งกระฉูด 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กันยายนนี้ หรือ 1 วันหลัง SCB ประกาศทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ ราคาหุ้น SCB ปิดตลาดในวันดังกล่าว เพิ่มขึ้นถึง 18.72% หรือ 20.50 บาท มาอยู่ที่ระดับ 130 บาทต่อหุ้น สะท้อนการตอบรับเชิงบวกของนักลงทุนจำนวนมาก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X