ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs’ กำลังเป็นกลุ่มที่หลายธนาคารต่างหมายตาอยากดึงเข้ามาไว้ในมือ ด้วยตัวเลขมหาศาลกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ แต่มีเพียง 8 แสนรายเท่านั้นที่เข้าถึงบริการทางการเงิน ชี้ให้เห็นว่า ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับทุกธนาคาร
เพียงแต่ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า วันนี้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs กำลังอยู่ในภาวะ ‘เหนื่อย’ ต่อการทำธุรกิจในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยการเจอโจทย์ที่เข้ามาท้าทายหลากหลายข้อ ไล่มาตั้งแต่ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ ตามมาติดๆ ด้วยการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง เข้ามากดดันกลุ่มผู้ประกอบการที่ส่งออกเป็นหลัก สมัยก่อนโตหลัก 10% แต่ไตรมาสล่าสุด -4%
ไม่พอยังโดนซ้ำเติมด้วยปัจจัยที่น่ากลัว คือ ภาวะ ‘เงินบาทแข็งค่า’ นับตั้งแต่ปลายปี 2559 เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 17% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาห์สหรัฐ จาก 33.9 บาท เหลือเพียง 30.6 บาท เทียบให้เห็นภาพ ทุกๆ 100 บาท เงินที่ได้รับมาน้อยลงไปถึง 3.3 บาท อาจดูเป็นตัวเลขที่ไม่เยอะ แต่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ส่งสินค้ามูลค่าหลักล้านขึ้นไป คิดดูว่าจะทำให้รายได้หายไปมากแค่ไหน
อีกทั้งค่าแรงขั้นต่ำยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากขาลง หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจนมากดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ปีก่อนอาจบอกว่า ผู้บริโภคมีเงินแต่ไม่กล้าใช้ แต่สำหรับปีนี้ผู้บริโภคไม่มีเงินเลย บรรดาผู้ประกอบการก็มียอดขายที่น้อยลงไปด้วย ไม่พอต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีอีก เรียกได้ว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการ SMEs ไทยประสบปัญหาอย่างมาก คือ ‘ยอดขายหด กำไรหาย รวมทั้งสภาพคล่อง’
อย่าลืมว่า ส่วนหนึ่งของประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วย SMEs เพราะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ เช่น การเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการ การมีบทบาทต่อการจ้างงานของประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นในการประกอบธุรกิจ เชื่อมโยงกับกิจกรรมขนาดใหญ่ และภาคการผลิตอื่นๆ
โดยกว่า 99.8% ของผู้ประกอบการในไทยเป็น SMEs 50% ของการจ้างงานของธุรกิจในไทยมาจาก SMEs และ 70% ของการผลิตของ SMEs ขายในประเทศ ดังนั้น SMEs จึงเป็นกลไกหลักเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และเป็นช่องทางในการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับ ‘กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs’ ที่แม้ธนาคารจะอยากได้มาอยู่ในมือแค่ไหน แต่ถ้าวันนี้ SMEs ยังยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองไม่ได้ แล้วธนาคารจะอยู่ได้อย่างไร เรื่องนี้ ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ หรือ SCB รับรู้เป็นอย่างดี
จนเป็นที่มาของการทำแคมเปญ ‘SME Fighto’ ปลุกสปิริตนักสู้ผู้ประกอบการ ประกาศ ‘ยกเลิก’ ค่าธรรมเนียมทุกประเภทเมื่อทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และมีบัญชีมณีมั่งคั่ง พร้อมอาวุธเพื่อผู้ประกอบการที่เรียกว่า ‘มณี Free Solution’ ผู้ช่วยเรื่องธุรกิจแบบครบวงจร เพื่อผู้ประกอบการ SMEs ให้ค้าขายราบรื่น ร่ำรวย เติบโตอย่างมั่งคั่ง
สำหรับ ‘มณี Free Solution’ ประกอบด้วยสามจุดเด่น เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่มียอดขายไม่เกิน 75 ล้านบาทต่อปี ให้สามารถลดต้นทุนจากการทำธุรกรรม เติบโตอย่างมั่งคั่ง และสามารถต่อยอดธุรกิจได้ ประกอบไปด้วย
1. ฟรี! ค่าธรรมเนียม นับเป็นอีกครั้งที่ SCB ตัดสินใจลุกขึ้นมายกเลิกค่าธรรมเนียมทุกประเภท เมื่อทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล โดยฟรีตั้งแต่รับฝากเช็คข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคารแบบทันที โอนเงินต่างธนาคารแบบล่วงหน้า 1 วัน โอนเงินต่างธนาคารแบบไม่จำกัดยอดเงินสูงสุด จ่ายเงินเดือนพนักงานทุกธนาคาร และจ่ายบิล ชำระค่าสินค้าและบริการ
2. ฟรี! อัปเกรดดอกเบี้ย บัญชีมณีมั่งคั่ง บัญชีเดินสะพัดดอกเบี้ยสูงสุด 1% รับดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เมื่อฝากตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
3. ฟรี! บริการ Co-working Space และสัมมนาต่อยอดธุรกิจ เพื่อช่วยผลักดันให้ธุรกิจของผู้ประกอบการก้าวไปได้ไกลยิ่งขึ้น โดยปรับ SCB Business Center ให้กลายเป็นศูนย์รวมของคนอยากทำธุรกิจ โดยร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ เช่น ไปรษณีย์ไทย wongnai และ GET ที่จะมาร่วมมือในการช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา และให้บริการที่สนับสนุนการดำเนินงาน และต่อยอดการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ และยังได้ร่วมมือกับ Class Café สร้างสรรค์พื้นที่ Co-working Space ภายใต้ชื่อ CLASS.SCB ขึ้นภายใน SCB Business Center
นอกจากนี้ยังได้ทดลองพัฒนาสาขาต้นแบบที่เปิดให้บริการธุรกรรมการเงินตลอด 24 ชั่วโมง ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศที่ SCB Business Center สาขาสยามสแควร์ หลายคนอาจสงสัยว่า จริงๆ แล้ว SCB ได้ตั้ง ‘Banking Agent’ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าสามารถเข้ามาทำธุรกรรม ฝาก ถอน โอนได้อยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงอีก
อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้คำตอบกับ THE STANDARD ว่า สิ่งที่แตกต่างคือ ‘Banking Agent’ ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ แต่ SCB Business Center ทำได้เพราะจะมีพนักงานประจำอยู่ตลอด ซึ่งบางครั้งพ่อค้าแม่ค้าบางส่วนก็สะดวกมาธนาคารในช่วงเวลาดึกมากกว่า เนื่องจากเพิ่งค้าขายเสร็จ
ขณะเดียวกันอีกคำถามที่ตามมาคือ คุ้มหรือไม่ที่ยกเลิกค่าธรรมเนียม? แน่นอนจะส่งผลให้รายได้ธนาคารส่วนหนึ่งหายไปทันที ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตอบคำถามนี้อย่างน่าสนใจว่า
“SCB มองว่า ครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เราเชื่อว่าหากแสดงให้เห็นถึงความความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือ ในอนาคต SMEs จะเห็นคุณค่า ถ้าถามว่าทุบหม้อข้าวตัวเองไหม ส่วนหนึ่งคงใช่ แต่ในระยะยาวจะ Win-Win ทั้งคู่ อีกอย่างเราเชื่อว่า ถ้าได้ใจแล้ว พวกเขาจะกลายมาเป็นลูกค้าที่ดีในอนาคต เวลาคนลำบาก ถ้าไม่ช่วยจะได้ใจได้อย่างไร”
อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าเป็น ‘มณี Free Solution’ จะขาด ‘แม่มณี’ สัญลักษณ์ที่ SCB สงวนไว้สำหรับพ่อค้าแม่ค้าไปได้อย่างไร แต่จะว่าไปเรื่องราวของ ‘แม่มณี’ เป็นอีกหนึ่งกิมมิกทางการตลาดที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนฉากการทำแคมเปญของธนาคารที่เน้นขายโปรโมชัน มาสู่แคมเปญที่มีสตอรีเข้ามาสอดแทรก
ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าให้ฟังว่า ‘แม่มณี’ เกิดขึ้นมาพร้อมกับช่วงที่ SCB ออกแคมเปญ ‘แม่มณี Money Solution’ เพื่อโปรโมตการใช้งาน QR Payment โดยคำว่า มันนี่ พ้องเสียงกับคำว่า มณี พอดิบพอดี
ครั้งนั้นแม่มณีมาในรูปแบบของนางกวัก มีกระเป๋าใส่เงิน ชึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่หลายร้านค้าตั้งไว้หน้าร้าน ด้วยเชื่อว่าจะช่วยกวักเงินกวักทองเข้ามาที่ร้าน โดย SCB จะแจกให้กับร้านค้าที่สมัครใช้งาน QR Payment ซึ่งหลายร้านได้ตั้งไว้หน้าร้าน บางรายถึงขนาดถวายน้ำแดงและดอกไม้ มองเป็นสิ่งของมงคล
ธนาเล่าติดตลกว่า ด้วยความที่โรงงานที่ทำมี 3 แห่ง แม่มณีจึงมี 3 เวอร์ชัน เพราะแต่ละแห่งทำไม่เหมือนกัน จึงมีคนเข้าใจผิดว่า SCB ทำแม่มณีออกมา 3 ปาง และมีคนออกมาประกาศขอซื้อทั้ง 3 ปางก็มี
“ความสำเร็จของแม่มณี คือการสอดแทรกความเป็นไทยเข้าไปอย่างพอดิบพอดี ซึ่งมีกลิ่นความเป็นไทยแต่ไม่ได้ไทยเยอะจนโบราณ อีกอย่างคือนำคนที่ไม่เคยทำงานธนาคารมาทำกับคนที่มีประสบการณ์ในธนาคาร คือความลงตัวที่พอดี ได้มุมมองใหม่ๆ ของการทำการตลาด จนในที่สุดแม่มณีสามารถ Represent ความเป็น SCB ได้ด้วย”
เพียงแต่การกลับมาครั้งนี้ของแม่มณีไม่ได้อยู่ในรูปลักษณ์ของนางกวักอีกแล้ว เพราะแคมเปญ ‘SME Fighto’ ต้องการปลุกสปิริตนักสู้ผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้นแม่มณีเวอร์ชัน 2019 จึงใช้ชื่อว่า ‘มณีชยา’ แปลความหมายได้ว่า ‘ชัยชนะ’ ซึ่งมาพร้อมรูปลักษณ์ใหม่
มีลักษณะคล้ายนักมวย หุ่นเพรียวบาง สวมใส่ชุดตะเบ็งมาน นุ่งโจงกระเบน มือคาดเชือก สวมมงคลที่หัว และไม่ลืมที่จะถือกระเป๋าเงินทองไว้ในมือ โดยดีไซน์ใหม่นี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘มวยคาดเชือก’ ที่สะท้อนถึงการ ‘สู้ไม่ถอย’
ขณะเดียวกัน ‘มณีชยา’ ยังมาพร้อมกับ ‘มณีเกิร์ล’ คนล่าสุด ‘คริส หอวัง’ โดย SCB ให้เหตุผลที่เลือกมาจากการที่คริส นั้นมีคาแรกเตอร์ของนักสู้ อีกอย่างทำธุรกิจด้วย จึงเชื่อว่าจะสามารถสื่อสารแคมเปญนี้ได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของ SCB ที่พร้อม ‘ช่วย’ SMEs ไทย ให้ลุกขึ้น ‘สู้’ กับทุกอุปสรรค
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์