ในออฟฟิศ เธอคือพนักงานระดับหัวหน้า และเป็นไอดอลของน้องๆ
ในโลกโซเชียล เธอเป็นดั่งเซเลบที่มีไลฟ์สไตล์สุดแสนจะน่าอิจฉา
กระเป๋า เสื้อผ้า นาฬิกา รวมถึงอาหารการกินที่เธอเลือก ล้วนแล้วแต่หรูหราจนหลายคนต้องยก #นี่แหละคุณแม่ ให้
แต่อีกมุมมืดที่ไม่มีใครล่วงรู้คือ เธอกำลังถูกหนี้สินคุกคามจนต้องประทังชีวิตด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเศษเงินที่เจอในกระเป๋ากางเกง
นี่คือเรื่องราวของ ‘คุณนายออม’ ซีรีส์ออนไลน์ชุดใหม่จากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของคนยุคโซเชียลได้อย่างถึงแก่น เพราะเมื่อยอดไลก์ในอินสตาแกรม และคอมเมนต์ชื่นชมในเฟซบุ๊กมีผลอย่างมากต่อจิตใจ นั่นหมายความว่าใครๆ ก็ตกที่นั่งแบบ ‘คุณนายออม’ ได้ หากใช้จ่ายเกินตัวเพียงเพื่อจะสร้างภาพให้ตัวเองดูดีในสายตาคนอื่น
แม้ในซีรีส์ ชีวิตของคุณนายออมอาจดูเป็นเรื่องน่าขำ แต่แท้จริงแล้วเรื่องราวของเธอกลับทำให้เราขำไม่ออก เพราะนอกจากคุณนายออมแล้ว ปัจจุบันยังมีคนรุ่นใหม่อีกนับล้านที่กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกันนี้ คือมีหนี้ท่วมตัวทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นวัยทำงาน
จากรายงานเรื่อง ‘มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร’ ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า 1 ใน 2 ของคนอายุตั้งแต่ 25-35 ปีจะมีหนี้ และเป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนคนเป็นหนี้มากที่สุด สะท้อนถึงการเข้าสู่ภาระหนี้ของคนไทยตั้งแต่อายุยังน้อย ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ยังมีสัดส่วนหนี้เสียที่สูงเกิน 1 ใน 5 อีกด้วย
ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวยังพบว่า หนี้ที่กลุ่มคนวัยเริ่มทำงานถือครองอยู่มากที่สุดคือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการนำไปจับจ่ายใช้สอย บริโภคส่วนตัว และอาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยคิดเป็นสัดส่วน 30% ของคนรุ่นใหม่ที่ถือครองหนี้ชนิดนี้ แถมคนวัยเริ่มทำงานที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลยังมีหนี้เสียสูงถึง 20% เลยทีเดียว
ท้ายเรื่องของคลิปเปิดตัว ‘คุณนายออม’ แก้ปัญหาหนี้ด้วยการพยายามปรับเปลี่ยนวิธีคิด ศึกษาหนทางหลุดพ้นหนี้ด้วยตัวเอง เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ปลอดภาระหนี้อย่างสบายใจ และออกช่วยเหลือคนเป็นหนี้ สอนคนให้รู้จักบริหารจัดการเงินหลากหลายวิธีด้วยพลังความรู้และประสบการณ์ที่มี
การชี้แนะจากคุณนายออม หรือกูรูทั้งหลายมีประโยชน์ แต่คนเป็นหนี้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นที่ตัวเอง โดยวิธีที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดคือหยุดเป็นหนี้เพิ่ม หยุดพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และที่สำคัญคือต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างจริงจัง เพื่อจะได้ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้ง
จากนั้นค่อยแยกประเภทหนี้ให้ชัด ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด ซึ่งจะทำให้คนเป็นหนี้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และสามารถวางแผนปลดหนี้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การจัดกลุ่มรวมหนี้ด้วยการ ‘ย้ายโอนหนี้’ จากหลายๆ แห่งมารวมกันอยู่ในที่เดียวก็เป็นวิธีที่จะทำให้ภาระดอกเบี้ยที่เคยจ่ายเป็นประจำทุกเดือนลดลง รวมถึงยอดผ่อนชำระที่จะลดตามไปด้วย ทำให้มีเงินเหลือต่อเดือนมากขึ้น บริหารจัดการการเงินง่ายขึ้น และที่สำคัญคือสบายใจมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าลืมว่าหนี้ยังไม่ได้หายไปไหน สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องคือหยุดพฤติกรรมจับจ่ายฟุ่มเฟือยจนกว่าจะปลดหนี้ได้สำเร็จ
ประตูสู่การเป็นหนี้มีอยู่มากมาย แต่หนทางปลดหนี้ก็เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกใช้ชีวิตแบบคุณนายออมตอนต้นเรื่อง หรือท้ายเรื่องเท่านั้นเอง
อ้างอิง: