โควิด-19 ได้ก่อให้เกิด New Normal การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ที่ร้านอาหารไม่สามารถให้บริการแบบนั่งรับประทานในร้านตามปกติ ผู้ประกอบการร้านอาหารจึงต้องปรับตัวมาอยู่บนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีกันมากขึ้น
ปัญหาที่ตามมาก็คือเมื่อร้านอาหารเหล่านั้นถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม GP ในอัตราที่สูง ราคาอาหารและต้นทุนการทำธุรกิจก็สูงขึ้นไปด้วย และกลายเป็นภาระที่เจ้าของธุรกิจร้านอาหารไทยตลอดจนลูกค้าที่สั่งอาหารต้องแบกรับ
จากปัญหาทั้งหมดที่ได้กล่าวมาจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เกิดแนวคิดพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘Robinhood’ เพื่อให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี โดยยึดเอาประโยชน์ของ Stakeholder และสังคมเป็นหลัก ด้วยงบลงทุนเริ่มต้นที่ราว 100 ล้านบาท
ชูจุดเด่นการไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP จากร้านอาหาร, สมัครเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ฟรี, ร้านอาหารได้รับเงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมงนับตั้งแต่เกิดการทำธุรกรรม รวมถึงในอนาคตร้านอาหารขนาดเล็กก็จะมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็ว
อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB ได้เกิดแนวคิดการพัฒนาแพลตฟอร์มสั่งอาหารตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว จากจุดเริ่มต้นที่ตนมองว่าต้นทุนการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการสั่งอาหารจากฟู้ดเดลิเวอรีในช่วงโควิด-19 ระบาดค่อนข้างมีราคาที่สูง
ซึ่งด้วยความพร้อมของระบบนิเวศธนาคารไทยพาณิชย์ จุดแข็งด้านเทคโนโลยี ประกอบกับการมีลูกค้าในกลุ่มร้านอาหารเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีความพร้อมในการให้บริการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม โดยมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน คนส่ง และร้านอาหารได้ และคาดว่าน่าจะพร้อมเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เริ่มต้นที่พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
“เราน่าจะสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์การใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มที่ดีได้ Robinhood ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความคิดที่เราต้องการเป็นแชมป์หรือ ‘ยูนิคอร์น’ แต่ต้องการให้ประโยชน์คืนกับสังคม”
โดยตั้งเป้าหมายร้านอาหารบนแพลตฟอร์มในช่วงเปิดตัวที่ 20,000 ร้าน (เป้าหมายในช่วงสิ้นปีอยู่ที่ 40,000-50,000 ร้าน) ส่วนจำนวนเป้าหมายผู้ใช้งาน Robinhood ไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด ซึ่งอาทิตย์ย้ำว่าหากแอปพลิเคชันของพวกเขาสามารถส่งต่อประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้บริโภคในช่วง 3 เดือนแรกได้ก็น่าจะได้รับความนิยมแน่นอน พร้อมตั้งเป้าการ Monetize ทำเงินในระยะยาวด้วยการให้บริการสินเชื่อในอนาคต
ซีอีโอธนาคารไทยพาณิชย์ยังบอกอีกด้วยว่าทีมงานของ Robinhood จะเป็นหน่วยงานภายใต้บริษัทใหม่ Purple Ventures ซึ่งมี SCB10X เป็นผู้ถือหุ้น (แยกออกมาจากส่วนงานธนาคาร) โดยคาดว่าจะมีทั้งพนักงานที่ย้ายออกจากแผนกงานเดิมของบริษัทและพนักงานที่รับสมัครเข้ามาใหม่ในสัดส่วนราว 40-50 คน
สำหรับฟลีตคนส่งอาหารที่ทาง SCB ใช้นั้นจะเป็นการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์สตาร์ทอัพสัญชาติไทยอย่าง Skootar ซึ่งมีจำนวนสายส่งหลายหมื่นราย จึงทำให้ SCB และ Robinhood ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม
ส่วนประเด็นความร่วมมือในฐานะพาร์ตเนอร์ร่วมกับ GET อีกหนึ่งผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีนั้น อาทิตย์เปิดเผยว่าการเป็นพันธมิตรระหว่าง SCB และ GET ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ทั้งยังได้มีการพูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อยถึงกรณีที่ SCB จะเข้ามาเล่นในสังเวียนฟู้ดเดลิเวอรีด้วยตัวเอง โดยมองว่าแนวทางการให้บริการของ Robinhood จะเป็นไปในลักษณะการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการและร้านอาหารมากกว่าการแข่งขันกับผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์