×

เจาะลึก ‘รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021’ พบกระแส ‘จับจ่ายใช้สอยอย่างมีวิจารณญาณ’ ในกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง [PR News]

โดย THE STANDARD TEAM
28.05.2021
  • LOADING...
SCB Julius Baer

HIGHLIGHTS

  • ‘รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021’ เป็นการนำเสนอข้อมูลผลการวิเคราะห์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ ที่สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individual: HNWI) ใน 25 เมืองสำคัญทั่วโลก จัดทำขึ้นโดย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer)
  • จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ก่อให้เกิด ‘การเคลื่อนไหวด้านการใช้วิจารณญาณในการบริโภค’ (Conscious Consumption Movement) อย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มความมุ่งมั่นและตระหนักรู้ถึงการจับจ่ายใช้สอยอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืนของผู้บริโภคในกลุ่ม High Net Worth Individual (HNWI) หรือกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง

บทความนี้เปิดเผยข้อมูลของ ‘รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021’ (Global Wealth and Lifestyle Report 2021: GWLR) ที่จัดทำโดย ‘บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด’ (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่าง ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกของประเทศ และ ‘จูเลียส แบร์’ (Julius Baer) ผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งชั้นนำระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนที่ควรเก็บรักษาไว้หรือเพิ่มกำลังซื้อต่อไป ถือเป็นรายงานฉบับที่ 2 ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก จัดทำขึ้นต่อเนื่องจากฉบับดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี 2011  

 

โดย ‘รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021’ เป็นการนำเสนอข้อมูลผลการวิเคราะห์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ ที่สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individual: HNWI) ภายใต้ดัชนีชี้วัดที่มีความหลากหลาย จูเลียส แบร์ ได้ทำการติดตามราคาสินค้าและบริการ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อตรวจวัดอัตราเงินเฟ้อของราคาสินค้าและบริการต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้บริโภค HNWI ใน 25 เมืองสำคัญทั่วโลก 

 

รายงานฉบับล่าสุดยังรวบรวมพัฒนาการของ ‘การเคลื่อนไหวด้านการใช้วิจารณญาณในการบริโภค’ (Conscious Consumption Movement) ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ที่ได้เพิ่มความมุ่งมั่นและตระหนักรู้ถึงการจับจ่ายใช้สอยอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืนของผู้บริโภค 

 

SCB Julius Baer

 

โควิด-19 ผลกระทบที่สะเทือนถึงการบริโภคของลูกค้าระดับไฮเอนด์ 

ประเด็นสำคัญของรายงานฉบับล่าสุด มุ่งเน้นไปที่การระบาดครั้งใหญ่นี้ได้เปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริโภคทั่วโลกจากวิถีเดิมหรือไม่ หรือมีบทบาทในการเร่งให้เกิดเทรนด์การบริโภคที่อาจเกิดขึ้นแล้วให้กลายมาเป็นกระแสความนิยมหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ 

 

ผลการวิจัยของดัชนีไลฟ์สไตล์ ประจำปี 2021 พบว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อราคาสินค้าและบริการต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเที่ยวบินและห้องพักโรงแรม

 

ผลกระทบดังกล่าวมีความแตกต่างกันในระดับภูมิภาคต่างๆ แต่โดยรวมแล้วราคาสินค้าที่สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ของผู้มีความมั่งคั่งทั่วโลกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.05 โดยทวีปเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีมูลค่าการบริโภคที่ราคาแพงที่สุดในโลกสำหรับกลุ่ม HNWI ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาการบริโภคระดับไฮเอนด์ของภูมิภาคนี้ 


ข้อสรุปที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับผู้บริโภคที่ต้องการรักษาความมั่นคง คือ


1. การลงทุน โดยอัตราเงินเฟ้อ และปัจจัยอื่นๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและกฎระเบียบท้องถิ่นต่างๆ นั้นมีบทบาทอย่างมากต่ออำนาจการซื้อเพื่อความมั่งคั่งของผู้บริโภค


2. การรับรู้ถึงข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในท้องถิ่น หรืออัตราเงินเฟ้อส่วนบุคคล และปรับใช้กลยุทธ์การวางแผน และการจัดการความมั่งคั่งที่เหมาะสมจะเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความมั่งคั่งไม่ให้สูญสลายไปตามกาลเวลา

 

นอกจากนั้นในรายงานฉบับก่อนหน้ามีการระบุถึงเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ การเพิ่มขึ้นของการใช้วิจารณญาณในการบริโภค (Conscious Consumption) โดยในปีนี้ แนวโน้มการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้กลายเป็นกระแสหลักที่ถือเป็นแก่นสำคัญของประเด็นในเกือบทุกภาคส่วน 

 

ประเด็นที่สำคัญจากรายงานฉบับล่าสุด ประกอบด้วย:

 

  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคมุ่งมั่นและตระหนักถึงการซื้ออย่างมีจริยธรรมและยั่งยืนมากขึ้น ประเด็นดังกล่าวเชื่อมโยงไปถึงรูปแบบการบริโภคและความชื่นชอบของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่เคย ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจกับเทรนด์นี้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จนกลายเป็นกระแสที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน 


ในรายงานตั้งข้อสังเกตว่า การใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยจะฟื้นตัวขึ้นตามสถานการณ์ แต่ความต้องการซื้อสินค้าที่ผลิตอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืนก็จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าในอนาคตจะเกิดการผลักดันและสนับสนุนแนวทางการบริโภคอย่างมีสติมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการอุปโภคบริโภค การใช้ชีวิต การทำงาน และการลงทุน

 

  • ผู้บริโภคสนใจทางเลือกที่นำเสนอความใส่ใจมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในทวีปต่างๆ ก็พากันหันมาสนใจประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าระดับไฮเอนด์หรือการใช้บริการระดับพรีเมียม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการสร้างราคาที่ยุติธรรมยิ่งขึ้นในหมู่ผู้ผลิต 

 

ผู้บริโภคกลุ่ม HNWI หันมาบริหารทรัพย์สินให้มั่นคงสืบต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน

เมื่อการใช้วิจารณญาณในการบริโภค (Conscious Consumption) ของกลุ่ม HNWI เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ยังสะท้อนไปถึงพฤติกรรมด้านการจัดการความมั่งคั่งที่มีความพยายามบริหารทรัพย์สินให้มีความมั่นคงสืบต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน และอาจจะเป็นความพยายามในการรักษาความมั่งคั่งโดยรวมให้กับโลกนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนที่มองการณ์ไกล การลงทุนที่สร้างผลกระทบ (Impact Investment) การใช้โซลูชันอย่างยั่งยืน หรือการลงทุนเพื่อประโยชน์ของสังคม (Philanthropy)

 

จูเลียส แบร์ ในฐานะผู้บริหารความมั่งคั่งจึงแสดงบทบาทในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวก ด้วยการช่วยเหลือนักลงทุนให้สามารถตัดสินใจไปสู่ทางเลือกต่างๆ ได้อย่างมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับนัยยะของผลกระทบในวงกว้างจากการลงทุนมากขึ้น 

 

SCB Julius Baer

 

สรุปสาระสำคัญจากดัชนีไลฟ์สไตล์ ประจำปี 2021 ของจูเลียส แบร์

ดัชนีไลฟ์สไตล์มีการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของการบริโภคระดับไฮเอนด์ การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากราคาสินค้าใหม่มีแนวโน้มถูกลง แต่ฟากเอเชียยังครองตำแหน่งภูมิภาคที่มีราคาการบริโภคสินค้าที่แพงที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤตสุขภาพทั่วโลก เสถียรภาพของค่าเงินและความยืดหยุ่นของราคาในรายการดัชนี โดยปัจจุบันเซี่ยงไฮ้ครองตำแหน่งเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุด ตามมาด้วยโตเกียวและฮ่องกงเป็นอันดับสองและสามตามลำดับ แต่หากมองภาพใหญ่ มุมไบกลับเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

 

สืบเนื่องจากราคาดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์แคนาดาที่ลดลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้ทวีปอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีค่าครองชีพที่เข้าถึงได้มากที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตอย่างหรูหรา รวมถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินในละตินอเมริกา เม็กซิโกซิตี้ และแวนคูเวอร์ จึงกลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพที่เข้าถึงได้มากที่สุดในดัชนี มีนิวยอร์กเพียงเมืองเดียวเท่านั้นที่ยังคงติดอันดับ 10 เมืองที่แพงที่สุดในโลก ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพในภูมิภาคนี้มีราคาแพงที่สุด ในขณะที่ด้านเทคโนโลยีส่วนบุคคลยังพอเข้าถึงได้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นที่ตั้งขององค์กรด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก

 

ดัชนีปีนี้พบว่า โจฮันเนสเบิร์กเป็นเพียงเมืองเดียวในทวีปแอฟริกาที่ราคาดีที่สุดในการมีไลฟ์สไตล์แบบหรูหรา (Most Well-Priced) และเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองที่ระดับราคาร่วงลงอย่างมากในปีที่ผ่านมาเนื่องจากค่าเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้อ่อนค่าลงอย่างมาก สำหรับเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ที่ไต่ขึ้นอันดับในดัชนีนั้น เป็นผลสืบเนื่องด้วยแรงหนุนจากค่าเงินยูโรและฟรังก์สวิสที่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นลอนดอนที่ไม่ได้เลื่อนอันดับขึ้นหรือลง เนื่องจากความไม่แน่นอนของเงื่อนไขข้อตกลงเบร็กซิท (Brexit) 

 

SCB Julius Baer

 

วิกฤตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2020 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อดัชนีในปีนี้

โดยในภูมิภาคเอเชีย กรุงเทพฯ และสิงคโปร์ ต่างก็ลดอันดับลง ในขณะที่หลายเมืองในยุโรปเกิดปรากฏการณ์ภาวะขาดแคลนนักท่องเที่ยวเช่นกัน ด้านค่าใช้จ่ายของเที่ยวบินชั้นธุรกิจทั่วโลก ยอดขายบัตรโดยสารกลายเป็นศูนย์ ส่งผลให้บางสายการบินต้องเพิ่มราคาค่าโดยสารให้สูงขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุน ในขณะที่บางสายการ
บินยอมลดราคาค่าโดยสารให้ถูกกว่าท้องตลาดเพื่อสร้างความคุ้มค่าและดึงดูดนักเดินทาง

 

ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะดำเนินไปอย่างไรท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ ถึงแม้ว่าในช่วงที่สถานการณ์และข้อจำกัดต่างๆ อาจจะคลี่คลายลง และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ความระมัดระวังรักษาระยะห่างยังคงอยู่ อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในระยะยาวได้

 

SCB Julius Baer

 

เทรนด์การใช้จ่าย ‘เชิงประสบการณ์’ เพิ่มสูงขึ้นหลังกักตัว 

จากรายงานพบว่า การใช้จ่ายเชิงประสบการณ์ (Experiential Spending) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ ค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารแบบไฟน์ไดนิ่งเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อเปิดประสบการณ์ด้านอาหารหลังช่วงวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับเทรนด์การใช้จ่าย ‘เชิงประสบการณ์’ ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันหลังจากการกักตัว การจำกัดการใช้ชีวิตจากการล็อกดาวน์ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากการใช้จ่ายสินค้าอย่างรอบคอบไปสู่การจับจ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว จัดงานอีเวนต์ และประสบการณ์ต่าง ๆ อันเป็นที่น่าจดจำ เชื่อมโยงกับตัวเลขของสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีกำไรสูงสุดคือ เที่ยวบินชั้นธุรกิจ (+11.4%) และวิสกี้ (+9.9%) ในขณะที่หมวดสินค้าฟุ่มเฟือยที่ราคาตกลงมากที่สุดในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ รองเท้าสำหรับสุภาพสตรี (-11.7%) และห้องสวีทในโรงแรม (-9.3%)

 

 

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด

 

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวว่า “ช่วงที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาไลฟ์สไตล์ที่สะดวกสบายและความเป็นอยู่ที่ดีนั้นเพิ่มสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดัชนีแสดงให้เห็นว่ามูลค่าสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นผลจากค่าเงินเฟ้อ ความผันผวนของสกุลเงิน ผลกระทบจากกฎระเบียบในท้องถิ่น และอัตราภาษี การรักษาระดับความมั่งคั่งในระดับที่เคยทำมาอาจไม่เพียงพออีกต่อไป 

 

“เพื่อรักษาระดับความมั่งคั่ง การลงทุนคือสิ่งจำเป็น กลุ่ม HNWI จะต้องมีความเชื่อมั่นและลงทุนต่อเนื่อง เพราะการรักษาความมั่งคั่งให้กับคนรุ่นต่อไปจำเป็นต้องใช้ความคิดเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว ด้วยการวางแผนด้านความมั่งคั่งอย่างชาญฉลาดให้กับครอบครัว ไม่เพียงมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าความมั่งคั่งสูงสุดเท่านั้น แต่เป็นการสร้างค่านิยมด้านความมั่งคั่งแบบใหม่ที่จะสามารถยืนหยัดท้าทายบททดสอบของกาลเวลา และสร้างอิทธิพลในเชิงบวกให้กับโลกนี้ต่อไปได้ 

 

“บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ พร้อมให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ลูกค้าคนสำคัญ ด้วยทีม Expert Advisory ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่มีประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถด้านการบริหารความมั่งคั่งที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถประเมินผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุน เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งให้กับรุ่นถัดไปได้อย่างยั่งยืน”

 

ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2021 ‘Julius Baer – Global Wealth and Lifestyle Report 2021’ ได้ที่นี่

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X