×

ไทยพาณิชย์คาดการณ์เศรษฐกิจโต 4% ดีขึ้น…แต่ยังไม่ถือว่าดี?

09.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins read
  • Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัว 4%
  • การส่งออกในปีที่ผ่านมาร้อนแรงมาก เติบโตถึง 10% ขณะที่ปีนี้เชื่อว่าจะโต 5% ค่าเงินบาทที่แข็งอาจส่งผลกระทบกับการส่งออกได้
  • การลงทุนด้านเทคโนโลยีของภาคเอกชนเป็นสิ่งจำเป็น คาดว่าอีก 3 ปี ธุรกิจไทยลงทุนไอทีถึง 5 แสนล้านบาท

“เศรษฐกิจปีนี้จะดีไหม?” เป็นคำถามที่ทุกคนคิดตลอดช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เพราะหลังจากเทศกาลเฉลิมฉลองก็คือชีวิตจริงที่ต้องทำงาน ทำธุรกิจ และอยู่ร่วมกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงและคาดเดาได้ยากเหลือเกิน

 

ตัวเลขการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับตัวเลขการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่ดี ทำให้หลายสำนักเศรษฐกิจต่างคาดการณ์ว่าประเทศไทยปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน แต่เมื่อมองลึกลงไปมากกว่าเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโต ก็คงอดคิดไม่ได้ว่าชีวิตของเราจะดีขึ้นตามไปด้วยหรือเปล่า นี่คือคำตอบจากการคาดการณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์สำหรับไตรมาสแรกของปี 2561

 

เศรษฐกิจไทย 2561 ดีขึ้น การลงทุนภาครัฐ-เอกชนคือพระเอก

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์แถลงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2561 โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของทั้งปีจะขยายตัว 4% ปัจจัยสำคัญคือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ประเทศคู่ค้าสำคัญนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น ทำให้รายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นดังจะเห็นได้จากปี 2560 ที่ผ่านมาที่ EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวที่ 10% และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปีนี้ด้วย

 

 

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทยอยู่ที่ 38 ล้านคนครั้ง ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งจากการศึกษาของ EIC พบว่าเมื่อรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น แนวโน้มที่ภาคธุรกิจจะลงทุน ขยายกิจการหรือปรับปรุงจะมีมากขึ้นด้วย เป็นผลดีกับอัตราการจ้างงานและการบริโภค

 

ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะเป็นแรงผลักให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตนอกเหนือจาก ‘ชีวิตที่ดีขึ้นของคนอื่น’ อย่างการส่งออกและการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของปีนี้คือการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งปี 2560 ยังทำได้น้อยกว่าที่คาดหวังคือ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2561 EIC เชื่อว่าจะเพิ่มมากขึ้นถึง 1.6 แสนล้านบาท ถ้ารัฐบาลสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแผนบนสมมติฐานที่ว่าจะไม่มีอะไรมาทำให้การดำเนินการของรัฐบาลสะดุดได้เลย

 

 

EIC คาดว่าการส่งออกของไทยปี 2561 จะขยายตัว 5% โดยอัตราการเติบโตจะไม่ร้อนแรงเท่ากับปีก่อนที่โตถึง 10% เนื่องจากปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ รวมถึงการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าจะชะลอลงเพราะสินค้าบางกลุ่มอาจมียอดส่งออกที่ลดลงเนื่องจากความต้องการในตลาดหดตัวลง เช่น Harddisk จอ LCD และเครื่องแฟกซ์ เป็นต้น

 

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโต 3% ซึ่งโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนจากเอกชนภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการนำเข้าที่เชื่อว่าจะโต 7.5% เนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการสำหรับภาคธุรกิจและเพื่อการบริโภคมีมากขึ้น

 

เมื่อมองเห็นทิศทางที่ดีขึ้นของดัชนีชี้วัดต่างๆ ก็ใช่ว่าจะได้ข้อสรุปพอที่จะพูดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะดีได้ เพราะ ‘ดีขึ้น’ กับ ‘ดี’ นั้นไม่เหมือนกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้

 

กำลังซื้อยังไม่ฟื้น บาทแข็งทำภาคเกษตรกรยังน่าห่วง

 

จากข้อมูลของ EIC แม้ยอดขายรถหรูอย่าง Mercedes-Benz จะเพิ่มขึ้นถึง 20% ในปีที่ผ่านมา แต่ใช่ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโดยรวมจะดีไปด้วย หากแต่เป็นเรื่องของคนรวยที่ยังคงสุขสบาย กับคนจนที่ยังจนและมีแนวโน้มที่จะลำบากมากขึ้น

 

ปัจจุบันประชาชนในระดับฐานรากยังมีปัญหาเรื่องหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าที่ยังเน้นแข่งขันด้านราคามีต้นทุนสูงกว่าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศคู่ค้าลดการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย รายได้ของผู้ส่งออกจึงลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หรืออย่างน้อยก็ไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่คาดหวัง ขณะที่ระดับราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ ซึ่งจะมีผลต่อรายได้และกำลังซื้อของครัวเรือนไทย โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ราคามีแนวโน้มลดลงคือ ยางพารา (ลด 1.9%) น้ำตาล (ลด 5.6%) และ ปาล์ม (ลด 3.7%)

 

เมื่อพิจารณาการจ้างงานปีที่ผ่านมา พบว่าลดลง 0.7% ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างลดลง 0.1% แม้ตัวเลขจะติดลบน้อย แต่นั่นคือการจ้างงานและค่าแรงแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย เมื่อหนี้สินยังมาก จ้างงานเพิ่มน้อย รายได้ไม่เพิ่ม ก็จะทำให้การบริโภคภายในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ โดย EIC ประเมินว่าจะเติบโต 3% ในปีนี้ และยอมรับว่าเรื่องกำลังซื้อยังเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นระดับโลกทั้งการเมืองในคาบสมุทรเกาหลี นโยบายการบริหารประเทศที่น่ากังวลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา และความไม่แน่นอนจากเรื่อง Brexit ของประเทศอังกฤษ ปัจจัยเหล่านี้อาจจะมีผลต่อการลงทุน ตลอดจนความต้องการสินค้าและบริการของประเทศไทยได้

 

การคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ในต้นปี 2561 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่น่าจะสร้างกำลังใจให้กับผู้ประกอบการและคนไทยได้ไม่น้อย เพราะประเทศไทยผ่านช่วงเวลาที่อึมครึมมาพอสมควรแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของภาคเอกชนและประเทศชาติผ่านการสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตนเอง

 

การลงทุนด้านเทคโนโลยีคือสิ่งจำเป็นกับทุกองค์กร โดยเฉพาะกับภาคการผลิตที่ EIC เชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญจะเกิดขึ้นอีกครั้งกับภาคการผลิตที่จะต้องเชื่อมโยงกันผ่าน Internet of Things โดยคาดว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากนี้จะขยายตัวปีละ 6% และจะมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาทในปี 2563

 

นี่เป็นการคาดการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปีเท่านั้น คงต้องรออีก 3 เดือนจึงจะตรวจการบ้านได้ว่าอะไรบ้างที่ถูก อะไรบ้างที่ยังไม่เข้าเป้า

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X