×

SCB EIC ห่วงนโยบาย Digital Wallet กระทบฐานะการคลัง คาดดันหนี้สาธารณะปี 2573 ทะลุเพดานเร็วขึ้นจากเดิม 2 ปี

25.09.2023
  • LOADING...
SCB EIC Digital Wallet

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ Unsynchronized แต่ยังเป็นภาพการฟื้นต่อเนื่องแม้ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือ 3.1% จาก 3.9% หลังส่งออกกดดัน ประเมินนโยบาย Digital Wallet ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ช่วงสั้น

 

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่ามีมุมมองต่อเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 จะมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่พร้อมกันในภาคส่วน (Unsynchronized) ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ประเมินว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดย SCB EIC ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลงมาอยู่ที่ขยายตัว 3.1% ลดลงจากช่วงต้นปีนี้ที่เคยประเมินว่า GDP ของไทยจะขยายตัวประมาณ 3.9% หลังจากตัวเลข GDP ของไทยไตรมาส 2/66 มีตัวเลขออกมาไม่ดี อีกทั้งตัวเลขการส่งออกที่ออกมาย่ำแย่ต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการส่งออกจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/66 อีกทั้งเครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้มีโอกาสที่ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านคน

 

สำหรับแนวโน้ม GDP ของไทยในปี 2567 SCB EIC ประเมินว่าจะขยายตัวได้ 3.5% มาจากปัจจัยสนับสนุนทั้งการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง อีกทั้งในปี 2567 จะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนที่ฟื้นตัวกลับมาทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน หลังจากการเมืองของไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ รวมถึงการส่งออกในปี 2567 ที่คาดว่าจะมีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3.5% จากในปี 2566 ที่คาดว่าจะมีตัวเลขส่งออกติดลบประมาณ 1.5%

 

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง (Uncertain) มาจากแรงกดดันสำคัญ เช่น เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อภาคที่มีการพึ่งพิงและมีความเชื่อมโยงกับจีน เช่น การส่งออก, การท่องเที่ยวของไทย, อสังหาริมทรัพย์ของไทย และการลงทุนทางตรง (FDI) โดยในปี 2566 ประเมินว่า GDP ของจีนจะเติบโตประมาณ 5% และในปี 2567 มีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับ 5% เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่จะกดดันการขยายตัวของจีนในระยะยาว

 

อีกทั้งมีปัจจัยจากปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงซึ่งยังลดลงได้ช้า โดยในปีนี้มาตรการทยอยช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่เคยให้ในช่วงโควิด-19 ระบาดกำลังจะทยอยหมดลง ซึ่งอาจมีผลกระทบให้กำลังซื้อลดลงและมีความเสี่ยงที่จะเห็นอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่อาจมีผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม

 

กังวล Digital Wallet เร่งดันหนี้สาธารณะทะลุเพดาน

ดร.ฐิติมากล่าวต่อว่า ยังมีความกังวลภาคการคลังของไทย โดย SCB EIC ประเมินว่า กรณีพื้นฐาน (Base Case) แม้ว่ารัฐบาลไทยจะไม่มีนโยบาย Digital Wallet วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท แต่ภาพในระยะยาวที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ส่งผลให้รัฐบาลจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงยังมีความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายในการดูแลภัยพิบัติจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้งตามมา ทำให้มีความเสี่ยงการขาดดุลทางการคลังสูงขึ้น

 

ขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบาย Digital Wallet ประเมินว่าจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยปี 2573 สูงเกินเพดานที่กำหนดไว้ที่ 70% เร็วขึ้นประมาณ 2 ปี จากกรณี Base Case ซึ่งเดิมจะเกิดขึ้นในปี 2575

 

“นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมองว่าเป็นอัปไซด์ของเศรษฐกิจไทย แต่ถ้ามองเข้าไปลึกๆ อย่าง Talk of the Town คือ Digital Wallet วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3% ของ GDP คงต้องมาดูที่มาของเงินว่ามาจากไหน จากงบประมาณโดยตรงหรือมาจากนอกงบประมาณ ซึ่งอาจกระตุ้นให้ GDP ไทยในปี 2567 เติบโตได้เกิน 5% ในระยะสั้น หรือช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้จากเดิมอีก 2-3% แต่หลังจากหมดมาตรการนี้ GDP จะเติบโตเหลือ 3-4% ซึ่งนโยบายนี้อาจเป็นต้นทุนการคลังที่สูงขึ้นมาและอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้ก่อหนี้แตะเพดานหนี้สาธารณะได้เร็วขึ้น จึงต้องนำมา Trade Off กัน”

 

ส่วนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอื่นๆ ที่จะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้แก่ นโยบายฟรีวีซ่าให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้น GDP ได้ 0.1% นโยบายการลดราคาพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดเงินเฟ้อลงได้ 0.3% ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 ประเมินว่าจะมีผลกระทบให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น 1.5%

 

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวที่ต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสนับสนุนการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ในอนาคตมีโอกาสที่ภาครัฐจะลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อให้สอดรับกับนโยบายนี้ แต่ยังต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากหรือน้อยอย่างไร

 

คาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ยแตะ 2.5%

ดร.ฐิติมาประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าหลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้นคาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินมีโอกาสจะเข้าสู่ปกติ จึงคาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 2.5% ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเข้าใกล้ปลายทางของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงเพื่อใช้ควบคุมความเสี่ยงของเงินเฟ้อในอนาคตที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ SCB EIC ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ 1.7% และในปี 2567 ที่ 2% ตามกรอบเป้าหมาย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X