×

SCB EIC มองเศรษฐกิจไทย U-shape ฟื้นตัวช้า ปรับคาดการณ์ปี 64 โต 3.8%

09.12.2020
  • LOADING...
SCB EIC มองเศรษฐกิจไทย U-shape ฟื้นตัวช้า ปรับคาดการณ์ปี 64 โต 3.8%

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่าเมื่อไตรมาส 3/63 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 ทำให้ทาง SCB EIC ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้ดีขึ้น โดยมองว่า GDP จะติดลบ 6.5% หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่คาดว่าจะติดลบ 7.8% 

 

ทั้งนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นยังทำให้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 3.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว (โต 5.4%) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% แต่ส่วนที่น่ากังวลคือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะอยู่ราว 8 ล้านคน จากปี 2562 ที่อยู่ราว 40 ล้านคน คาดว่าประเทศพัฒนาแล้วจะกลับมาก่อน เพราะได้รับวัคซีนก่อน 

 

นอกจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์ว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและยังไม่เห็นจุดสูงสุด โดยเดือนตุลาคมยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ชั่วโมงการทำงานยังซบเซา โดยมีแรงงานออกสู่นอกระบบและการย้ายงานเข้าภาคเกษตรของแรงงาน ด้านตัวเลขการเปิดกิจการใหม่ของไทยยังเปิดน้อยลง ขณะที่ยอดการปิดกิจการยังเพิ่มสูงขึ้น และบริษัทที่มีกำไรต่ำกว่ารายจ่ายดอกเบี้ย (Zombie Firm) ยังมีสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจากในประเทศยังจำกัด

 

ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้การบริโภคของไทยช่วงระยะข้างหน้าจะลดลงและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปี 2564 มีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 

 

  • การระบาดของโควิด-19 การอนุมัติการกระจายวัคซีน 
  • เงินบาทที่แข็งค่า โดยคาดว่าปี 2564 ช่วงสิ้นปีจะอยู่ที่ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่การแข็งค่าที่เร็วกว่าประเทศคู่ค้าอาจกระทบการฟื้นตัวของอุปสงค์ในต่างประเทศ
  • บริษัทปิดกิจการและการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และหนี้เสีย
  • สัดส่วนบริษัท Zombie Firm (บริษัทที่มีปัญหาเรื่องการจ่ายดอกเบี้ย) กระทบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย
  • ปัญหาภัยแล้ง โดยปริมาณน้ำในเขื่อนที่กักเก็บไว้ยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 
  • ความเสี่ยงด้านการเมืองภายในประเทศที่มีความร้อนแรงและยืดเยื้อ

 

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศก็ยังต้องติดตาม ทั้งการเมืองของสหรัฐฯ และนโยบายการเงิน รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ ทั้งนี้เมื่อ โจ ไบเดน ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคาดว่าจะเห็นแพ็กเกจการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณที่สูงขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น ขณะที่แผนการขึ้นภาษีคาดว่าจะต่ำกว่าระดับรัฐบาลก่อนหน้า ด้านบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลกคาดว่าสงครามการค้าจะลดระดับความตึงเครียดลง

 

แต่มองว่าความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ของโลกจะเปลี่ยนจากน้ำมันมาในส่วนของเทคโนโลยีมากขึ้น และอาจจะเห็นแรงกดดันทางการค้าผ่านการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ และการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินคาดว่าทุกประเทศคงดอกเบี้ยในระดับต่ำ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงปี 2567

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X