SCB EIC ชี้ หมู ไก่ และข้าวโพด อ่อนไหวสูง เสี่ยงกระทบเกษตรกรกว่า 5.96 แสนครัวเรือน หากไทยเปิดตลาดให้สหรัฐฯ อย่างไม่มีเงื่อนไข แนะภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานฟาร์มไทย
SCB EIC ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากไทยเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ อย่าง ‘ไม่มีเงื่อนไข’ โดยชี้ว่าภาคการเกษตรและปศุสัตว์จัดเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อผลการเจรจา เนื่องด้วยราคาสินค้าที่ต่ำลง อาจกดดันให้เกษตรกรผู้ผลิตตัดสินใจล้มเลิกกิจการ เพราะแข่งขันต่อไม่ไหว ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและวัตถุดิบของไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ปัจจุบันไทยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าเนื้อสุกรไว้ที่ 40% และแบนการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ เรื่อยมา จากประเด็นการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine)
ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงมองว่าได้รับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากไทย และพยายามกดดันให้ไทยเปิดตลาดเนื้อสุกรมาโดยตลอด
ดังนั้นการเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสหรัฐฯ จึงอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเจรจาปรับลดอัตราภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) แต่เสี่ยงที่จะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่มีความอ่อนไหวแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มสินค้า
หมู ไก่ ข้าวโพด อ่อนไหวสูง เสี่ยงกระทบเกษตรกร 5.96 แสนครัวเรือน
เนื้อสุกร เนื้อไก่ เครื่องใน และข้าวโพด จัดเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง เนื่องจากไทยพึ่งพาการผลิตในประเทศเป็นหลัก จึงไม่มีการนำเข้าเนื้อสุกรและเนื้อไก่เลย แต่ยังมีการนำเข้าข้าวโพดอยู่บ้างราว 22% ของการบริโภคในประเทศ
ด้วยต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงกว่าสหรัฐฯ ประกอบกับมีเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก การเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมู เนื้อไก่ และข้าวโพดจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับลดลงอย่างมาก กดดันให้เกษตรกรโดยรวมมีรายได้ลดลง จนอาจต้องยุติการผลิตเพราะแข่งขันต่อไปไม่ไหว
แม้ผู้บริโภคจะได้อานิสงส์จากราคาสินค้าและวัตถุดิบที่ต่ำลง แต่จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารและวัตถุดิบของไทย เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น
โดยต้นทุนการเลี้ยงสุกรและไก่ในไทย สูงกว่าต้นทุนการเลี้ยงสุกรและไก่ในสหรัฐฯ มากถึง 27% แม้ว่าจะนับรวมต้นทุนค่าขนส่งมายังไทยด้วยแล้วก็ตาม ส่วนต้นทุนผลิตข้าวโพดไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ราว 9%
ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตข้าวโพดในไทยมีจำนวนมากถึง 4.2 แสนราย มีเกษตรกรผู้ขุนสุกร 1.5 แสนราย และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ 0.26 แสนราย
กลุ่มอ่อนไหวปานกลาง-ต่ำ แข่งขันสูงขึ้น แต่กระทบในวงแคบ
สำหรับกลุ่มเนื้อวัวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวในระดับปานกลาง เนื่องจากในปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเนื้อวัวและเครื่องในจากต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้าอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)
หากไทยเปิดตลาดเนื้อวัวให้สหรัฐฯ เพิ่มเติม จะทำให้ผู้ผลิตในประเทศเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในบางกลุ่มสินค้า เช่น เนื้อวัวเกรดพรีเมียม
ในทางกลับกัน กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่ำ เช่น ถั่วเหลือง ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าที่ในปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างมากอยู่แล้ว จึงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ และในวงจำกัด
แนะภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานฟาร์มไทย พร้อมประเมินผลกระทบการเจรจาอย่างถี่ถ้วน
ทั้งนี้ SCB EIC ได้มอบข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นได้แนะให้ภาครัฐประเมินผลกระทบของการเปิดตลาดอย่างถี่ถ้วน โดยอาจพิจารณาเปิดตลาดสินค้าบางรายการแบบมีเงื่อนไข พร้อมเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและการหาตลาดใหม่ ผ่านวงเงินที่เหลือจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 157,000 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น SCB EIC ยังประเมินอีกด้วยว่า รัฐบาลอาจพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ผ่านการใช้งบกลาง ที่เป็นรายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน หรือปรับปรุงงบประมาณฯ ปี 2569 บางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินรับมือวิกฤต ดังที่เคยทำในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่ก็เตือนว่าแนวทางดังกล่าวอาจสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มหนี้สาธารณะได้
ส่วนมาตรการในระยะยาว SCB EIC แนะให้ภาครัฐเร่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ ผ่านการส่งเสริมมาตรฐานฟาร์มและโรงงาน ปรับกระบวนการผลิตให้ตอบโจทย์เทรนด์ ESG หรือใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยลดต้นทุน พร้อมกับแนะให้ไทยกำหนด ‘Red Line’ ที่ชัดเจน สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของอาหารในระยะยาว
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต