การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (3 กุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นการประชุดนัดแรกของปีนี้ ที่ประชุมมีมติ ‘เอกฉันท์’ ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับในที่ประชุม แม้คณะกรรมการมีความเห็นว่า ระยะสั้นเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 แต่แรงกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมยังเติบโตได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนที่สูง ในระยะข้างหน้าจึงจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับต่ำต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงเห็นควรให้คงดอกเบี้ยไว้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยแม้มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ กนง. จะยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5% ตลอดทั้งปี 2564 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้
โดยผลกระทบจากการกลับมาระบาดของโควิด-19 ทั้งไทยและต่างประเทศ ทำให้ EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตเพียง 2.2% ซึ่งถือเป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า และน่าจะทำให้ กนง. รักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
EIC ระบุว่า การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแบบเหมาะสม ตรงจุด เพียงพอ ผ่านเครื่องมือนโยบายอื่นๆ เช่น มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ นับว่ามีความจำเป็นมากขึ้น
โดยมาตรการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการดำเนินนโยบายควรจะมุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นพิเศษ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐยังมีเม็ดเงินที่สามารถพยุงเศรษฐกิจได้คิดเป็นวงเงิน 6.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่เหลือราว 5 แสนล้านบาท และเม็ดเงินในส่วนของงบกลางอีก 1.4 แสนล้านบาท
ส่วนการลดดอกเบี้ยนโยบาย ทาง EIC ประเมินว่า อาจไม่เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน เพราะอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่ส่งผลวงกว้าง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เฉพาะเจาะจงตามที่ กนง. แสดงความกังวล และนโยบายการเงินอาจถูกผ่อนคลายเพิ่มเติมผ่านเครื่องมืออื่นนอกจากดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกไปจนถึงเดือน มิถุนายน 2564 ซึ่งมาตรการนี้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้รายกรณีไป จึงอาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อครัวเรือนได้ตรงจุดกว่าการลดดอกเบี้ยทั่วไป
ระยะต่อไปคาดว่า อาจมีการผ่อนคลายเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อจูงใจให้มีการปล่อยกู้มากขึ้น โดยอาจพิจารณาเพิ่มวงเงินที่สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้ได้ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกุู้ของสถาบันการเงิน และรัฐบาลอาจเข้ามาช่วยชดเชยความเสียหายมากขึ้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล