×

SCB EIC ห่วงกระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยรอบนี้

21.11.2024
  • LOADING...

SCB EIC ห่วงกระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP (Debt Deleveraging) ไม่ได้ช่วยปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้ เหตุความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทยอาจยังไม่ดีขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ลูกหนี้ยังมีรายได้ไม่พอรายจ่าย หวั่นนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม แนะนโยบายการคลังควรเจาะจงกลุ่มเปราะบาง เตือนนโยบายการเงินตึงตัวเกินไปอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลดหนี้อีกที

 

SCB EIC ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ลดลงต่อเนื่อง เหลือ 89.6% ในไตรมาส 2 ปี 2567 อาจเป็นผลจากการอนุมัติสินเชื่อใหม่ลดลง ‘มากกว่า’ จะเป็นผลจากการชำระคืนหนี้เก่าได้มาก ท่ามกลางภาวะที่ลูกหนี้ยังมีรายได้ไม่พอรายจ่าย

 

โดยตามการวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้และรายได้น้อย SCB EIC พบว่าภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง โดยข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ในปี 2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนไทยที่มีหนี้กำลังเผชิญปัญหาการเงินที่รุนแรงขึ้น สาเหตุหลักมาจากครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เพราะมีปัญหารายได้ลดลงชัดเจนเทียบกับปี 2564 ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มรายได้ปานกลางเริ่มเผชิญปัญหารายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย (รวมสำหรับรายจ่ายชำระหนี้) มากขึ้น

 

“การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์อาจดูไม่น่ากังวล หากเกิดจากการทยอยชำระคืนหนี้เดิมที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของรายได้” รายงานระบุ

 

SCB EIC ระบุอีกว่า กระบวนการ Debt Deleveraging ของไทยในปัจจุบันไม่ได้เกิดจาก ‘กรณีรายได้ในระบบเศรษฐกิจโตมาก หนี้เพิ่มขึ้นช้า’ แต่เกิดจาก ‘กรณีรายได้ในระบบเศรษฐกิจโตช้า หนี้ลดลงมาก’

 

“สถานการณ์ Debt Deleveraging ของไทยในปัจจุบันเริ่มคล้ายกรณีที่ 2 ซึ่งเกิดจากการลดลงของสินเชื่อมากกว่าการเติบโตของรายได้ เศรษฐกิจไทยอาจถูกแรงกดดันจากการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง และนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ยังทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เก่าเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ไม่ได้มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน กระบวนการ Debt Deleveraging ที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่ได้สนับสนุนให้ภาคครัวเรือนมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเท่าที่ควร” รายงานระบุ

 

นโยบายการคลังควรเจาะจงกลุ่มเปราะบาง

 

SCB EIC ยังแนะว่า นโยบายการคลังสามารถสนับสนุนกระบวนการ Debt Deleveraging ได้โดยการใช้มาตรการ จึงควรเน้นไปที่การช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบปัญหาทางการเงินหรือกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก โดยในระยะสั้นการสนับสนุนเงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของครัวเรือนเหล่านี้จะช่วยลดภาระรายจ่ายที่ครัวเรือนต้องแบกรับ ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการจัดการหนี้ได้ดีขึ้น ในระยะยาวการสร้าง Social Safety Net ให้แก่ครัวเรือนเปราะบางอย่างเป็นระบบจะช่วยสนับสนุนกระบวนการการแก้ไขปัญหาหนี้ได้มาก

 

นโยบายการเงินตึงตัวเกินไปอาจเป็นอุปสรรคกระบวนการลดหนี้

 

นอกจากนี้รายงานยังระบุอีกว่า หากนโยบายการเงินตึงตัวในช่วง Deleveraging และเศรษฐกิจมีหนี้สูงจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่า และใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวเมื่อเทียบกับนโยบายตึงตัวในช่วง Leveraging ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดีและการบริโภคยังคงขยายตัวได้

 

“การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดในช่วง Deleveraging ยิ่งกดดันให้การลดภาระหนี้ครัวเรือนชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างยืดเยื้อ ทำให้ การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนล่าช้า ครัวเรือนหลายครัวเรือนอาจประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้น ก่อให้เกิดแรงกดดันการบริโภคและการชำระหนี้ตามมา”

 

SCB EIC ระบุว่า นโยบายการเงินไทยในปัจจุบันอาจตึงตัวเกินระดับเป็นกลางต่อเศรษฐกิจได้ หากมองว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำลงมาก เนื่องจากศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวปรับลดลงอย่างชัดเจน

 

โดยจากการประเมินของ SCB EIC ในปี 2567 พบว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 2.7% จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 3.4% ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด

 

ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง (Neutral Rate) ที่สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจและระดับเงินเฟ้อในระยะยาว จึงมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงตามศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ การคงไว้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงกว่าในอดีตขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจลดลง จึงทำให้นโยบายการเงินมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียสถานะของความเป็นกลาง (Neutral Stance: ไม่กระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจ) และเข้าสู่สถานะตึงตัว (Tight Monetary Policy) ในกรณีนี้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นการลดความเสี่ยงที่นโยบายการเงินจะเข้าสู่สถานะตึงตัว

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่: https://www.scbeic.com/th/detail/product/debt-deleveraging-211124

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X