×

SCB EIC หั่น GDP ปีนี้เหลือ 0.7% หลังโควิดกระทบกำลังซื้อ-ท่องเที่ยวแรงกว่าคาด แนะรัฐกู้เพิ่ม 0.5-1 ล้านล้าน เร่งอัดฉีดเศรษฐกิจ

15.09.2021
  • LOADING...
SCB EIC

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลงเหลือ 0.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.9% ตามการระบาดในประเทศระลอกสามที่รุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าคาด จากความกังวลของสถานการณ์ระบาดในประเทศ 

 

อย่างไรก็ดี คาดว่าสถานการณ์จะทยอยปรับดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้ จากอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจะมีทิศทางชะลอลงบ้าง ทั้งจากฐานที่ปรับสูงขึ้นและผลกระทบของการระบาดสายพันธุ์เดลตาทั่วโลกที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเกิด Supply Disruption ในหลายห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน 

 

ในส่วนของภาครัฐ ยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งจากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจหลายประเภท อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาล่าสุดยังไม่เพียงพอ ทั้งในมิติเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และจำนวนเงิน โดย EIC คาดว่าภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินในส่วนที่เหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับปี 2565 EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตที่ 3.4% โดยจะเป็นการฟื้นตัวจากทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ เริ่มจากการส่งออกสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวแม้ในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

 

ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชียที่จะเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถเอื้อให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศได้สะดวกขึ้น จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 6.3 ล้านคน นอกจากนี้ การใช้จ่ายในประเทศก็จะฟื้นตัวเช่นกันจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่จะกลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ จากระดับนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าช่วงปกติมาก และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกจากผลกระทบในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านพลวัตการเปิดปิดกิจการที่ปรับแย่ลง ตลาดแรงงานที่เปราะบาง และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนของภาครัฐ แม้ด้านการลงทุนโครงการภาครัฐจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) แต่แรงส่งจากภาครัฐในภาพรวมจะลดลงจากปีก่อนหน้าตามการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณที่ลดลง รวมถึงเม็ดเงินราว 3 แสนล้านบาท ที่จะเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็ถือว่ายังน้อยกว่าเม็ดเงินที่ภาครัฐใช้ทำมาตรการเพิ่มเติมในปี 2564

 

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ทำให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Output Loss) ในระดับสูงและอาจกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

โดยกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2562 จะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566 ดังนั้นภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติมราว 5 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยแม้ระดับหนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นกว่าเพดานหนี้ที่ 60% ต่อ GDP แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยภาครัฐต้องสื่อสารถึงแผนการลดระดับหนี้ในระยะปานกลางที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการคลัง

 

ด้านนโยบายการเงินคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 และ 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้น้ำหนักกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs ให้มากขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพิจารณาเข้าดูแลอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินหากเกิดความผันผวนตามภาวะการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้น

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญจาก

  1. การระบาดของโควิดทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง
  2. ปัญหาด้าน Supply Chain Disruption ที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งการปิดโรงงานในประเทศและการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน
  3. ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในวงกว้าง
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X