ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2563 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาวานนี้ (16 พฤศจิกายน) ซึ่งมีอัตราการหดตัวอยู่ที่ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยถือเป็นตัวเลขซึ่งหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ สะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามอยู่ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ แล้วอะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามดูในระยะข้างหน้า
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ตอบคำถามนี้ไว้ชัดเจนว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้ามีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง แต่เป็นการฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลง
EIC ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าส่วนหนึ่งได้ปัจจัยหนุนจากฐานที่ต่ำในปี 2562 ซึ่งมีการจัดทำงบประมาณล่าช้า ทำให้คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาครัฐจะยังขยายตัวในระดับสูง
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวจะยังซบเซาต่อเนื่อง แม้ล่าสุดจะมีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
สำหรับภาคการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวชะลอลง รวมถึงการกลับมาแพร่ระบาดอีกระลอกของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย
ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่ -6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่ EIC เคยคาดการณ์เอาไว้ สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 มีโอกาสหดตัวน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ที่ -7.8%
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ แต่การค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 3.5%
แม้รายงานข่าวเบื้องต้นของการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพถือเป็นข่าวดีต่อการฟื้นตัวและความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แต่ผลดีในรูปของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า หลังจากมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย ซึ่งยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ การฟื้นตัวในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ จากหลายปัจจัยกดดัน โดยเฉพาะแผลเป็นเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วย การปิดกิจการที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบาง สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ลดลงมากตามจำนวนงานเต็มเวลาและงานโอทีที่หายไป โดยบางส่วนกลายเป็นงานต่ำระดับ รวมถึงยังมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวอีกจำนวนมาก
จากทั้งสองปัจจัยดังกล่าว ส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ ประกอบกับภาระหนี้ที่มากขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้า ทำให้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีแนวโน้มใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลให้การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นไปอย่างช้าๆ ในช่วงปีหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล