×

SCB EIC หั่น GDP ไทย ปีนี้เหลือ 1.9% คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติลดเหลือแค่ 4 แสนคน แนะรัฐใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและตรงเป้าเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

01.06.2021
  • LOADING...
SCB EIC

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 อีกครั้ง เหลือ 1.9% จากเดิมที่เคยปรับลดมาแล้วในช่วงเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งลดจาก 2.6% เหลือ 2.0% เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศ มีแนวโน้มใช้เวลาควบคุมนานถึง 4 เดือน (เดือนเมษายน-กรกฎาคม) จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 3 เดือน ทำให้การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ Face to Face เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจะลดลงเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหายในส่วนนี้จะอยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท หรือ 1.9% ของ GDP

 

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้คาดว่า จะลดลงมาอยู่ที่ 4 แสนคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.5 ล้านคน แม้ทางการจะมีแผนเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการเปิดให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศจากความกังวลต่อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

 

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่เศรษฐกิจชะลอลงเล็กน้อยจากคาดการณ์ครั้งก่อน เป็นผลจากแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ฉีดวัคซีนได้เร็วกว่า โดย SCB EIC ได้ปรับประมาณการส่งออกไทยในปีนี้จาก 8.6% เพิ่มเป็น 15%

 

อีกหนึ่งปัจจัยบวกคือ มาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐทั้งจากวงเงิน 2.4 แสนล้านบาทภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และวงเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ออกมาใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินบางส่วนราว 1 แสนล้านเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยอาจต้องรอถึงช่วงต้นปี 2566 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับการเติบโตก่อนเกิดโควิด-19 

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การระบาดที่ยืดเยื้อยังมีแนวโน้มทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Economic Scars) ลึกขึ้น ซึ่งข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า อัตราการว่างงานกลับมามีทิศทางเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปี โดยเพิ่มจาก 1.86% ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน ซึ่งสูงกว่าช่วงปิดเมืองรอบแรกเมื่อปีก่อนไปแล้ว 

 

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกนี้ยังไม่ได้รวมเอาผลของการระบาดระลอก 3 ซึ่งมีความรุนแรงมากเข้าไปด้วย ตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยจึงมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก ในขณะเดียวกันจำนวนชั่วโมงทำงานก็ปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกที่ -1.8% จากจำนวนคนทำงานต่ำระดับ (ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเสมือนว่างงานที่ยังไม่ตกงาน แต่ไม่มีการทำงานและไม่มีรายได้ที่มีอยู่ถึง 7.8 แสนคน เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก 3.6 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่จำนวนคนทำงานเต็มเวลาและล่วงเวลาลดต่ำลง 

 

นอกจากนี้รายได้จากการทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยเงินเดือน โบนัส และค่าแรงโอที ก็ยังหดตัวอย่างมีนัยสำคัญถึง -8.8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในทุกสาขาธุรกิจสำคัญนอกภาคเกษตร ทั้งนี้ แผลเป็นในตลาดแรงงานที่ลึกขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายได้และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัวได้ยากและกระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เป็นไปได้อย่างล่าช้า 

 

โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีตาม GDP ที่ยังคงหดตัว ก่อนที่จะทรงตัวในระดับสูงตลอดปี 2564 ตามมาตรการพักชำระหนี้ที่ยังมีอยู่ ขณะที่รายได้ไม่ได้ฟื้นตัวเร็วนัก ทำให้ปัญหาหนี้สูง (Debt Overhang) จะเป็นอีกอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า

 

ยรรยงกล่าวอีกว่า ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจในปี 2564 ผ่านการใช้จ่ายทั้งในและนอกงบประมาณ โดยในส่วนของรายจ่ายในงบประมาณ คาดว่าภาครัฐจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนก่อสร้างในปี 2564 ให้ขยายตัวได้ถึง 9.6% จากการก่อสร้างหลายโครงการ อาทิ รถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟทางคู่ เป็นต้น 

 

ขณะที่รายจ่ายนอกงบประมาณส่วนใหญ่จะมาจากมาตรการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้ราว 5.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2.9 แสนล้านบาทก่อนการระบาดรอบ 3 และมีการอนุมัติเพิ่มเติมอีกราว 2.4 แสนล้านบาทหลังมีการระบาดรอบ 3 ซึ่งเป็นการใช้เม็ดเงินจนหมดวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมาตรการที่ออกมาใหม่ ได้แก่ การลดค่าน้ำค่าไฟ การขยายมาตรการเราชนะและ ม.33 เรารักกัน การให้เงินผู้ถือบัตรสวัสดิการ คนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ 

 

นอกจากนี้ล่าสุดภาครัฐยังได้ออก พ.ร.ก. กู้เงิน เพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถใช้วงเงินได้จนถึงช่วงปีหน้า โดยจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาด ทำให้ EIC คาดว่า ภาครัฐมีแนวโน้มใช้เม็ดเงินจากวงเงินใหม่เพิ่มเติมอีกราว 1 แสนล้านบาทเข้าสู่เศรษฐกิจในปี 2564 นี้ 

 

“การออก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาทเพิ่มเติมของภาครัฐ เป็นนโยบายที่มีความเหมาะสมเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติควรพิจารณาใช้เงินอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีน การช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบหนัก และการสนับสนุนการจ้างงาน ควบคู่กับการออกมาตรการเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำหรับการฟื้นตัวในระยะปานกลางและยาว” ดร.ยรรยง กล่าว

 

ด้านนโยบายการเงิน SCB EIC คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 แต่จะเน้นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้และการกระจายสินเชื่อให้ทั่วถึงมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงิน ภาวะการเงินโดยรวมของไทยยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายจากการที่ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ภายใต้แนวโน้มเงินเฟ้อที่แม้จะสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าตามราคาน้ำมัน แต่จะยังอยู่ในระดับต่ำ (คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 อยู่ที่ 1.3%)  

 

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยที่สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนของทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐปรับสูงขึ้นตามไปด้วย  

 

สำหรับค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 EIC คาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อนมาอยู่ในช่วง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยนับจากช่วงต้นปีนี้ เงินบาทได้อ่อนค่าลงแล้ว 4.2% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการอ่อนค่าที่มากกว่าค่าเงินสกุลส่วนใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากการระบาดระลอกใหม่และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดต่ำลงเป็นสำคัญ 

 

ในช่วงที่เหลือของปี 2564 มองว่า ปัจจัยภายในประเทศไทยจะยังคงเป็นแรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเงินบาท ทั้งจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจขาดดุลครั้งแรกในรอบ 8 ปี และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้าย มีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจะไม่อ่อนค่ามาก เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนลงในช่วงครึ่งหลังด้วยเช่นกัน ตามการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรปที่จะทยอยเร่งตัวขึ้นในระยะข้างหน้า

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising