ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดทำให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและ SMEs จำนวนมาก ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหมุนเวียนในธุรกิจ โดยต้นตอของปัญหานี้คือข้อกำหนดทางด้านเครดิตเทอมการชำระเงินซึ่งปกติมีระยะเวลา 45-60 วัน ด้วยเหตุนี้ธนาคารและบริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส จึงร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม PayZave ที่เปิดให้คู่ค้าสามารถดำเนินการรับ-จ่ายค่าสินค้าระหว่างกันทันทีโดยไม่ต้องรอเครดิตเทอม โดยทั้งสองฝ่ายจะทำข้อตกลงให้ส่วนลดการขาย เพื่อแลกกับการได้รับชำระค่าสินค้าก่อนครบรอบบิล โดยธนาคารจะให้การสนับสนุนทางการเงินกับผู้ซื้อในการชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น ได้สินค้าที่มีต้นทุนถูกลงและผู้ขายก็ได้เงินค่าสินค้าทันทีโดยไม่ต้องไปหากู้จากแหล่งเงินทุนอื่น ซึ่งเป็นการบริหารสภาพคล่องที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์อย่างลงตัว
อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ในระบบการเงินการธนาคารขณะนี้ยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่พอสมควร ในที่นี้หมายถึงการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่อาจจะมีเกณฑ์ไม่ตรงตามกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในระหว่างโควิด ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องหาทางออกด้วยการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบซึ่งมีดอกเบี้ยราคาแพง เพื่อนำมาหมุนเวียนในธุรกิจที่เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ
“แพลตฟอร์ม PayZave เกิดจากความต้องการช่วยเหลือซัพพลายเชนในช่วงโควิด ด้วยโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับซัพพลายเออร์รายเล็กๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า เปลี่ยนแนวคิดจากระบบ ‘ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ เป็น ‘จ่ายก่อนเซฟกว่า’ นำผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันโดยตรงเพื่อสร้างข้อตกลงการชำระเงิน โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดทางด้านเครดิตเทอม 45-60 วัน เมื่อไม่มีเครดิตเทอมจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งคนกลางหรือสถาบันทางการเงิน จึงช่วยให้ประหยัดต้นทุนทางธุรกิจได้ทั้งสองฝ่าย ผู้ซื้อได้ส่วนลดของสินค้า ผู้ขายได้รับเงินทันที ประหยัดเวลาด้วยขั้นตอนที่รวดเร็ว สะดวกทำรายการออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และทันสมัยด้วยระบบ Reconciliation (กระทบยอด) อัตโนมัติแบบเรียลไทม์” อรพงศ์กล่าว
อรพงศ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์ม PayZave มีผู้ใช้งานในระบบแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ราย แบ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่ราว 50 ราย และส่วนที่เหลือเป็นซัพพลายเออร์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในซัพพลายเชน โดยธนาคารได้ตั้งเป้าจะมีคู่ค้าเข้าใช้งานในระบบราว 80,000 รายภายในสิ้นปีนี้
“เราเปิดกว้างให้บริการสำหรับคู่ค้าซัพพลายเชนทุกรายในประเทศไทยเข้าใช้งานได้แม้ไม่ใช่ลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในช่วงวิกฤตโควิด สำหรับผู้ซื้อที่อาจมีเงินสดไม่มากพอธนาคารก็ได้เตรียมวงเงินโอดีดอกเบี้ยพิเศษเอาไว้ให้อีกด้วย โดยเราจะเปิดให้ใช้บริการ Payzave ฟรี โดยไม่มีค่าธรรมเนียมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จากนั้นจึงจะนำข้อมูลมาพิจารณาคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่เหมาะสมต่อไป” อรพงศ์กล่าว
ด้าน สุภาพ จรัลพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัด หนึ่งในผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Payzave กล่าวว่า สถานการณ์โควิดส่งผลให้ 70-80% ของซัพพลายเออร์ที่ทำการค้ากับบริษัทมีปัญหาสภาพคล่อง จึงมองว่าแพลตฟอร์ม PayZave จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคโควิดได้ เพราะสามารถช่วยให้ซัพพลายเชนของบริษัทที่อยู่ทั่วประเทศขอรับเงินได้ทันทีเมื่อส่งมอบงานเรียบร้อย โดยปัจจุบันมีซัพพลายเออร์ของบริษัทขึ้นในระบบแล้วกว่า 1,500 ราย