×

SCB CIO มองตลาดหุ้นญี่ปุ่นถูกกดดันระยะสั้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น แนะใช้จังหวะหุ้นผันผวนสะสม TOPIX เข้าพอร์ต

17.08.2023
  • LOADING...
SCB CIO

SCB CIO คาดประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นเดือนตุลาคมนี้มีแนวโน้มคงมาตรการ YCC ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก -0.1% มาที่ 0.0% อาจเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2567 ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่นผันผวนระยะสั้นจากผลตอบแทนของ JGB ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น กดดันกำไรบริษัทจดทะเบียน ประกอบกับเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าได้น้อยลง มีผลต่อกำไร/ขาดทุนจากค่าเงินของบริษัท มองตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดย JGB และเงินเยนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น หุ้นกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จาก Yield ที่เพิ่มขึ้น ปรับมุมมองตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็น Neutral ประเมินดัชนี TOPIX ใน 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ประมาณ 2,393 จุด 

 

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า จากกรณีที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เดือนกรกฎาคม ได้คงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่น (JGB) อายุ 10 ปี หรือ Yield Curve Control (YCC) ไว้ที่ 0% ในกรอบอ้างอิงเดิม ± 0.5% เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีความยืดหยุ่นขึ้น โดยเปลี่ยนกรอบการซื้อ JGB อายุ 10 ปี อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield)  อยู่ที่ 1.0% ทำให้เรามองว่าจะช่วยยับยั้งผลข้างเคียง (Side Effect) ด้านลบจากการใช้มาตรการ YCC ที่มีต่อตลาดตราสารหนี้และความผันผวนในตลาดการเงินอื่นๆ ได้ 

 

ส่วนการประชุม BOJ ในเดือนตุลาคมนี้ SCB CIO มองว่ามีแนวโน้มสูงที่จะคงมาตรการ YCC ไว้ตามเดิม ขณะที่การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งถัดไป ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก YCC หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก -0.1% มาอยู่ที่ 0.0% อาจเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2567 ภายใต้สมมติฐานว่าผลการเจรจาค่าจ้างในฤดูใบไม้ผลิ (Shunto) เบื้องต้นออกมาสูงใกล้เคียงปีนี้ที่ 3.6% ซึ่งทำให้ BOJ มั่นใจว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืน  

 

ทั้งนี้ ในระยะสั้นท่าที BOJ ที่ดำเนินนโยบายการเงินบนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ผ่อนคลาย จะส่งผลให้ Yield ของ JGB อายุสั้นมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไป ส่วน Yield ของ JGB อายุยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ส่วนต่าง Yield ของ JBG ระยะสั้นและระยะยาวสูงขึ้น แต่เรามองว่าจะมีผลทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก Yield พันธบัตรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) อื่นๆ จะปรับเพิ่มตามด้วย ส่วนหนึ่งมาจากแรงขายพันธบัตรใน DM นำเงินมาลงทุนบน JGB ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีแนวโน้มส่งเงินกลับจากต่างประเทศ (Repatriation) มากขึ้น ผ่านการขายตราสารหนี้ต่างประเทศนำกลับมาลงทุนใน JGB แต่แรงขายส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากธนาคารและประกันชีวิตญี่ปุ่น ซึ่งป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน 

 

สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นคาดว่าจะมีความผันผวนในระยะสั้นจาก Yield ของ JGB ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กดดันกำไรบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นบางส่วน ประกอบกับเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าได้น้อยลง อาจไปกดดันความสามารถแข่งขันและผลกำไร/ขาดทุนจากค่าเงินของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดย JGB และเงินเยนมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งจากหุ้นกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จาก Yield ที่เพิ่มขึ้น ทั้งกำไรปกติ (Recurring Profit) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ทำให้ P/BV กลุ่มธนาคารปรับตัวดีขึ้น อีกทั้ง Yield สินเชื่อใหม่และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่ดีขึ้น ทำให้ผลประกอบการได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ดีขึ้น และเราคาดว่าข่าวร้ายการปรับนโยบายการเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยช่วงที่เหลือของปี 

 

“BOJ เคยปรับเปลี่ยนมาตรการ YCC มาแล้ว 3 ครั้ง คือ ในเดือนกรกฎาคม 2561 เดือนมีนาคม 2564 และเดือนธันวาคม 2565 ซึ่ง 1 เดือนหลังการปรับ YCC พบว่า Yield ของ JGB อายุ 10 ปี มักเพิ่มขึ้น ส่วนเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปรับตัวลดลง แต่ผ่านไป 3 เดือนหลังปรับ YCC ตลาดการเงินญี่ปุ่นจะเคลื่อนไหวผสมผสาน ขึ้นอยู่กับท่าทีนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) และ BOJ รวมทั้งบรรยากาศลงทุนในเวลานั้น ซึ่งเรามองว่ามี 4 ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นรออยู่ในระยะถัดไป ได้แก่ 1. ความคืบหน้าการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่น เน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น 2. แนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัท 3. ความคาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน และ 4. การปรับโครงการลงทุนเพื่อลดภาษีสำหรับประชาชนญี่ปุ่นในปี 2567 ซึ่งอาจทำให้เงินลงทุนภายใต้โครงการนี้เพิ่มจาก 14 ล้านเยนต่อคน เป็น 18 ล้านเยนต่อคน” ดร.กำพลกล่าว

 

ทั้งนี้ SCB CIO มองว่า จากปัจจัยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ยังมีอยู่ และราคาเป้าหมายของดัชนี TOPIX ที่ยังมีโอกาสปรับขึ้นจากระดับปัจจุบัน (Upside) จึงปรับมุมมองบนตลาดหุ้นญี่ปุ่น จาก Slightly Negative มาเป็น Neutral หรือจากเดิมทยอยขาย เป็นหยุดขาย หรือถือไว้ก่อน โดยเราประเมินราคาเป้าหมายดัชนี TOPIX 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 2,393 จุด ซึ่งตัวเลขนี้มาจากการให้น้ำหนัก 70% กับปัจจัยเรื่องผลตอบแทนส่วนเพิ่มเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้น (Earnings Yield Gap) และราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ส่วนน้ำหนักอีก 30% คือปัจจัยมหภาค (Macro-based) ซึ่งมีผลต่อการลงทุนมากขึ้น เพราะบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นพึ่งพารายได้ต่างประเทศระดับหนึ่ง  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising