SCB CIO ประเมินปี 2023 แม้ดอกเบี้ยในหลายประเทศจะขึ้นช้าลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลออย่างมีนัยและพร้อมเพรียงกัน ชี้ครึ่งปีแรกโอกาสดีสะสมหุ้นไทยและอินโดนีเซีย
กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB CIO ประเมินภาพเศรษฐกิจโลกในปี 2023 มีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น จากปัจจัยดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นออกฤทธิ์ โดยมี 6 ประเด็น ดังนี้
- อัตราเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดแล้วในหลายประเทศ แต่ยังปรับตัวลดลงช้า และยังเกินเป้าหมายของธนาคารกลางหลัก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงช้า ทำให้การบริหารจัดการเรื่องเงินเฟ้อยังเป็นประเด็นหลักที่ธนาคารกลางต้องทำนโยบายการเงินแบบตึงตัว
- อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบช้าลง (Slower Rate Hike) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 และจะเริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงจนกว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย
โดยในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน SCB CIO คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกธนาคารกลางหลักจะยังคงให้น้ำหนักกับประเด็นเงินเฟ้อสูงเป็นหลัก และในช่วงครึ่งหลังจะเริ่มมาให้น้ำหนักการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในอัตรา 0.50 bps สู่ระดับ 4.50% ในการประชุมระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ และคาดว่าใน 3 การประชุมแรกของปี 2023 จะปรับขึ้นอีกครั้งละ 25 bps แล้วคงดอกเบี้ยที่ 5.25% ต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2023
สำหรับในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2023 คาดว่าจะมีการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 50 bps เป็น 1.75% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดก่อนเกิดโควิด โดยสาเหตุที่ขยับขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่มากนัก เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 2023 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น
โดยจากค่าเงิน US Dollar Index ที่เริ่มชะลอการแข็งค่า ร่วมกับแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว และการกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ทำให้ SCB CIO ปรับประมาณการค่าเงินบาทปลายปี 2022F ที่ 35-36 และปลายปี 2023F ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการเริ่มกลับมาเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตราเดิม 0.46% จากที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23% ในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งผ่านต้นทุนส่วนหนึ่งไปยังภาคธุรกิจและครัวเรือนผ่านดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย
- ผลจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยในระดับสูง ทำให้เกิดภาวะการชะลอลงของเศรษฐกิจหลักอย่างมีนัยและพร้อมเพรียงกัน (Synchronized and Serious Slowdown) โดย SCB CIO เชื่อว่า ยูโรโซนและอังกฤษยังเป็น 2 กลุ่มเศรษฐกิจหลักที่มีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรงสูง จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตด้านพลังงาน ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงด้านนี้ต่ำกว่าจากความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน ภาคครัวเรือน และธุรกิจที่มีการก่อหนี้ต่ำเมื่อเทียบกับการเกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงครั้งก่อนๆ
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการประท้วงจะเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันให้ทางการจีนยกเลิก Zero-COVID Policy ในปี 2023 แต่การเปิดเมืองเปิดประเทศน่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้า การลงทุน และนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี
- ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์จากทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มสูงต่อไป
- การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลกจะยิ่งเร็วขึ้น ตามกระแส Geopolitics, ESG และ Digital Innovation โดยปัจจัยด้านความยืดหยุ่นและแข็งแกร่ง (Resiliency) และด้านความมั่นคง (Security) จะถูกนำมาพิจารณาร่วมกับปัจจัยด้านประสิทธิภาพ (Efficiency) มากขึ้น
กำพลกล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนในปี 2023 ว่า ควรเน้นการลงทุนแบบระมัดระวัง และกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง โดยยังคงแนะนำถือเงินสดหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ 5-15% ของพอร์ตโฟลิโอ แนะสะสมพันธบัตร/หุ้นกู้ โดยทยอยเพิ่ม Duration แต่เน้นที่มีคุณภาพสูง SCB CIO เชื่อว่าในภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวนักลงทุนควรเน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจากกระแสเงิน (Yield) มากกว่าผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นยังต้องระวังกับดักด้านมูลค่า (Valuation Trap: P/E) ต่ำจากราคาที่ปรับลง แต่กำไรในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลงเช่นกัน สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ แนะนำทยอยสะสมหุ้นไทยและอินโดนีเซียที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวของรายได้และกำไรต่อเนื่องจากอานิสงส์การฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงถดถอย แต่การเปิดเมืองของจีนและการลดกำลังการผลิตของ OPEC ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันโลก การปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบช้าลงของ Fed ส่งผลให้แรงกดดันค่าเงินของกลุ่มประเทศ Emerging Markets เริ่มชะลอลง โดยเฉพาะในประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมาเกินดุล เช่น ไทย ทำให้การป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีความจำเป็นมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี