×

SCB CIO คาดสายพันธุ์เดลตาฉุดการฟื้นตัว-เพิ่มความผันผวนเศรษฐกิจโลก แนะเน้นลงทุนหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป

18.08.2021
  • LOADING...
SCB CIO

Chief Investment Office ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB CIO) ออกบทวิเคราะห์ถึง 3 ประเด็นหลักที่มีผลต่อแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก (Global Asset Allocation) ประกอบด้วย 

 

  1. โควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งสามารถติดได้ง่ายและทำให้วัคซีนโควิดบางประเภทมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนๆ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาสูงขึ้นในหลายประเทศ 

 

  1. การเปิดเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะมีความแตกต่างกันมากขึ้น (Uneven Recovery) โดยประเทศที่มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก เช่น สหรัฐฯ และยุโรป น่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการกลับไปปิดเมืองแบบเข้มข้นได้ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีความคืบหน้าไม่มาก เช่นในกลุ่มประเทศ Emerging Markets (EMs) มีความเสี่ยงเรื่องการปิดเมืองเข้มข้นสูงกว่าอย่างมีนัย

 

  1. ความผันผวนสูงในตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากความกังวลผลกระทบโควิดสายพันธุ์เดลตาและประสิทธิภาพวัคซีนที่ลดลง รวมถึงความพยายามล่าสุดของทางการจีนในการจัดการ Internet Platform/Digitized Economy ทำให้ความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภาครัฐ (Regulatory Risks) ในตลาดหุ้นจีนสูงขึ้นอย่างมีนัย

 

โดย SCB CIO ประเมินว่าโควิดสายพันธุ์เดลตาจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมทำให้การเปิดเมืองและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีลักษณะที่ไม่ทั่วถึงในแต่ละประเทศและภาคธุรกิจ เนื่องจากโควิดสายพันธุ์เดลตาซึ่งสามารถติดได้ง่าย และทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาสูงขึ้นในหลายประเทศ การเปิดเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการมีแนวโน้มชะลอลง ประเทศที่มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนค่อนข้างมากเช่น สหรัฐฯ และยุโรป น่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการกลับไปปิดเมืองแบบเข้มข้นได้ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีความคืบหน้าไม่มาก เช่น กลุ่มประเทศ EM มีความเสี่ยงเรื่องการปิดเมืองเข้มข้นสูงกว่าอย่างมีนัย

 

แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ เช่น GDP และเงินเฟ้อในไตรมาส 2/2021 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เริ่มมีสัญญาณต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรปยังฟื้นตัวดีและออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ สำหรับความพยายามล่าสุดของทางการจีนในการจัดการ Internet Platform/Digitized Economy ทำให้ความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภาครัฐ (Regulatory Risks) และความผันผวนในตลาดหุ้นจีนสูงขึ้นอย่างมีนัย และมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจนจากทางการมากกว่านี้

 

สำหรับแนวโน้มตลาดการเงินโลก SCB CIO ประเมินว่า การกลายพันธุ์ของโควิดนำมาซึ่งความผันผวนสูงในตลาด แต่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปยังคงแข็งแกร่ง ส่วนอัตราผลตอบแทนแท้จริงของ US Treasury ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการส่งสัญญาณ QE Tapering จาก Fed โดยความผันผวนสูงในตลาดมีแนวโน้มดำเนินต่อไปจากความกังวลผลกระทบโควิดสายพันธุ์เดลตา และประสิทธิภาพวัคซีนบางประเภทที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ และยุโรปยังคงเติบโตต่อเนื่องและดีกว่าคาด ในระยะข้างหน้าแม้จะได้รับผลกระทบของการกลับมาระบาดของสายพันธุ์เดลตาบ้าง แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ และยุโรปน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าบริษัทในประเทศ EMs ที่มีการปิดเมืองเข้มข้นกว่า  

 

อย่างไรก็ดี ความกังวลเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของ US Treasury ยังอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อเทียบกับการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนแท้จริงของ US Treasury ยังอยู่ในระดับติดลบ โดย SCB CIO มองว่าอัตราผลตอบแทนของ US Treasury ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก Fed น่าจะเริ่มมีการส่งสัญญาณ QE Tapering ระหว่างการสัมมนา Jackson Hole (26-28 สิงหาคม) หรือการประชุมของ Fed ในครั้งถัดไป (21-22 กันยายน) และทำการลดการเข้าซื้อจริงในช่วงต้นปี 2022 ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ทั้งในช่วงก่อนและหลังประกาศปรับลด QE ในขณะที่ตลาดกลุ่ม EMs ได้รับผลกระทบจากการไหลออกของเงินทุนและการอ่อนค่าของค่าเงิน โดยเฉพาะประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและมีหนี้ต่างประเทศสูง

 

สำหรับกลยุทธ์ในการจัดพอร์ตการลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลก (Asset Allocation Portfolio Strategy) SCB CIO ยังคงมีมุมมองบวกต่อหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยปรับมุมมองตลาดหุ้นจีนและไทยลงเป็น Neutral พร้อมทั้งปรับมุมมองต่อทองคำเป็น Neutral เช่นกัน

 

  • SCB CIO มองว่า ในภาวะตลาดผันผวนจะมีโอกาสดีในการเข้ามาสะสมหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังมีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง และน่าจะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองค่อนข้างจำกัด เรายังคงมุมมองตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ Neutral จากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าตลาด Developed Markets (DMs) อื่น
  • SCB CIO ปรับมุมมองหุ้นจีนลงเป็น Neutral จากความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภาครัฐ (Regulatory Risk) ที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยเน้นตลาด A-Share ซึ่งน่าจะมีความเสี่ยงด้านนี้น้อยกว่า เนื่องจากมีหุ้นในกลุ่ม Internet Platform/Digitized Economy น้อยกว่าในตลาดหุ้น H-Share 
  • ในตลาดหุ้น ASEAN เรายังคงชอบเวียดนามที่สุดจาก Valuation ที่ยังคงถูกที่สุด ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังแข็งแกร่ง และความคืบหน้าในการนำเข้าวัคซีนที่ค่อนข้างดี เราปรับมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยลงเป็น Neutral จากความยืดเยื้อของการระบาดโควิด และการใช้มาตรการปิดเมือง รวมถึงสภาวะ Technical Recession ในอุปสงค์ภายในประเทศของภาคเอกชน (Private Domestic Demand) ที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น
  • ด้วยอัตราผลตอบแทนแท้จริงของ US Treasury ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ความผันผวนในตลาดหุ้นสูงขึ้น รวมถึงราคาทองคำที่ปรับลดลงล่าสุด เราปรับมุมมองต่อทองคำเป็น Neutral และปรับน้ำมันลงเป็น Slightly Negative จากปัจจัยอุปสงค์ที่น่าจะได้รับแรงกดดันจากการเปิดเมืองที่ช้ากว่าคาด รวมถึงความตึงตัวน้อยลงของปัจจัยอุปทานน้ำมัน
  • SCB CIO มีมุมมองต่อ DMs และ Asian REITs เป็น Neutral จากผลกระทบของโควิดสายพันธุ์เดลตา และความเสี่ยงการเปิดเมืองที่ล่าช้ากว่าคาด
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X