×

SCB CIO แนะ ฉวยจังหวะดอลลาร์แข็งค่าระยะสั้นกระจายเงินลงทุนต่างประเทศผ่าน 4 ผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเวลท์

02.03.2023
  • LOADING...
SCB CIO

SCB CIO คาดการณ์เงินดอลลาร์มีทิศทางแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น เมื่อ Fed ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง กดดันเงินบาทอ่อนค่า แนะเร่งใช้จังหวะนี้กระจายพอร์ตลงทุนต่างประเทศด้วยเงินดอลลาร์ เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่จูงใจกว่าลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว แนะนำ 4 ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นักลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ ทั้งเงินฝาก หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง 2 สไตล์ และกองทุนรวมที่ไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  

 

ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่าจะยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้คาดว่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นอย่างน้อยไปจนถึงช่วงที่ Fed ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่ แต่หลังจาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย ซึ่ง SCB CIO คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) ของสหรัฐฯ ปีนี้ไปอยู่ที่ 5.25% อาจได้เห็นค่าเงินดอลลาร์กลับทิศทางเป็นอ่อนค่าลงอีกครั้งในระยะกลางถึงระยะยาว โดยคาดว่ามากกว่า 6 เดือน

 

ทั้งนี้ การที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในระยะสั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะสั้น ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งโดยปกติดุลบัญชีเดินสะพัดมีความสัมพันธ์ (Correlation) ที่มักจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินบาทคือ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เงินบาทแข็งค่า และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล เงินบาทจะอ่อนค่า 

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง-ยาวดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มที่จะเกินดุลมากกว่านี้ จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจีนเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาเที่ยวไทยรวดเร็วขึ้น 

 

ส่งผลให้สำนักวิจัยต่างๆ ปรับเพิ่มประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเนื่อง เช่น SCB EIC ที่ล่าสุดปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 เพิ่มเป็น 30 ล้านคน จากเดิม 28.3 ล้านคน และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ที่ระดับก่อนเกิดโควิดในช่วงปลายปี 2567 

 

ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่ามากขึ้น ซึ่ง SCB CIO คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2566 เงินบาทน่าจะอยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์

 

“ในช่วงเวลานี้เงินดอลลาร์ยังแข็งค่าและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าระยะสั้น SCB CIO มองว่า หากเงินบาทอ่อนค่าไม่เกิน 35 บาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นจังหวะที่ดีในการแลกเงินบาทเป็นดอลลาร์สำหรับลงทุนในต่างประเทศด้วยเงินดอลลาร์ เพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์ที่น่าสนใจกว่าการลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว 

 

“โดยจากข้อมูลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งถูกยกให้เป็นอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk Free Rate) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยมากพอสมควร โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 1 เดือน – 1 ปีของสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 4-5% ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลไทยช่วงอายุเดียวกันให้ผลตอบแทนในระดับที่ต่ำกว่า 2% เท่านั้น” ศรชัยกล่าว 

 

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์มีผลิตภัณฑ์การลงทุนหลากหลายรูปแบบที่รองรับความต้องการของนักลงทุนที่สนใจลงทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่า โดยผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมี 4 ประเภท ได้แก่ 

 

  1. บัญชีเงินฝากออมทรัพย์เงินดอลลาร์ (Foreign Currency Deposit: FCD) คือบัญชีเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ต้องการฝากเงินในรูปแบบเงินตราต่างประเทศ เช่น เงินดอลลาร์ ยูโรดอลลาร์ หรือสกุลเงินต่างประเทศอื่น โดยกรณีฝากเงินดอลลาร์ นักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยในรูปสกุลเงินดอลลาร์ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนต่างประเทศหรือเก็บเงินตราต่างประเทศไว้รอลงทุน   

 

  1. หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำและผลตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับเอาไว้ หรือ Capped Floored Floater ที่เป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ โดยจะอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมระยะข้ามคืนที่ใช้พันธบัตรรัฐบาลวางเป็นหลักประกัน (SOFR) โดยจะนำอัตราดอกเบี้ย SOFR แต่ละวันในงวดวันพิจารณาอัตราดอกเบี้ยมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยด้วยวิธีคิดทบต้น หรือ Compound Average กรณีที่ SOFR เฉลี่ยในรอบ 3 เดือนเท่ากับหรือมากกว่า 4.0% ตราสารจะให้ผลตอบแทนที่ 4.0% กรณีที่ SOFR เคลื่อนไหวในกรอบ 3.75-4.0% จะให้ผลตอบแทนเท่ากับดอกเบี้ย SOFR เฉลี่ย แต่หาก SOFR อยู่ต่ำกว่า 3.75% ตราสารจะให้ผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 3.75% ในรอบระยะเวลา 3 เดือน ผลิตภัณฑ์นี้จะจ่ายเงินต้นและผลตอบแทนในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งมีกรอบของผลตอบแทนที่น่าสนใจ

 

  1. หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่ใช้บริหารจัดการความประสงค์จะใช้สกุลเงินต่างประเทศในอนาคต (Dual Currency Investment: DCI) เป็นหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอีกประเภทที่มีอายุตราสารระยะสั้น เช่น 1 เดือน โดยจะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า กรณีที่ลงทุนจนครบอายุแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามที่ตกลงไว้ เช่น เงินบาทแข็งค่า อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามที่ตกลงไว้ ก็จะแปลงหุ้นกู้นั้นเป็นเงินดอลลาร์ตามอัตราที่ตกลงไว้ แต่หากเงินบาทอ่อนค่ากว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมาย ก็จะได้รับเงินคืนเป็นเงินต้นสกุลเงินบาทพร้อมผลตอบแทน จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์อยู่แล้ว

 

  1. กองทุนรวมที่ไปลงทุนสินทรัพย์ในต่างประเทศโดยไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารหนี้ระยะสั้นต่างประเทศ (SCBFST) ที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้นักลงทุนได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทน (Yield) ของพอร์ตลงทุนและส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกองทุนนี้มีความเสี่ยงระดับ 4 คือ เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ 

 

 

หมายเหตุ:

  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารหนี้ระยะสั้นต่างประเทศ (SCBFST) มีความเสี่ยงระดับ 4 คือ เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
  • กองทุนที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นตราสารที่มีความซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป เนื่องจากเป็นตราสารที่ประกอบด้วยตราสารหนี้และอนุพันธ์แฝง โดยการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงของปัจจัยอ้างอิง และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสาร เป็นต้น ผู้ลงทุนทำความเข้าใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนลงทุน
  • การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงไม่ใช่เงินฝาก และธุรกรรมการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใด จึงมีความเสี่ยงของการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนเต็มจำนวน และการขายคืนเป็นไปตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์การลงทุนตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน
  • ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะตราสาร หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยพาณิชย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X