×

SCB CIO ชี้ครึ่งปีหลังมีหลายปัจจัยเสี่ยงกดดันการลงทุน แนะจัดพอร์ตรับมือ เน้นลงทุนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐฯ ควบหุ้นไทย-จีน

31.05.2023
  • LOADING...
ศรชัย สุเนต์ตา

SCB CIO มองครึ่งหลังปีนี้มีหลายปัจจัยความไม่แน่นอนกดดันการลงทุน ทั้งดอกเบี้ยที่สูง ปัญหาเงินเฟ้อยังลงช้า การแก้ปัญหาเพดานหนี้ในสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนเมืองของไทย แนะจัดพอร์ตลงทุนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุยาวและหุ้นกู้คุณภาพสูง 60% อีก 30% ลงทุนในหุ้นเน้นตลาดเกิดใหม่ 

 

ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังคงแนะนำให้ผู้ที่ลงทุนจัดพอร์ตลงทุนแบบระมัดระวัง เนื่องจากยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนรออยู่มาก ทั้งปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์เกือบทุกประเภท โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5-5.25% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ตลาดคาดการณ์ว่า Fed อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจาก Fed ระบุไว้ว่าการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาข้อมูลหลายรายการประกอบกัน ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังปรับลดลงช้า ขณะที่ค่าแรงยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จึงมีโอกาสที่จะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยได้

 

ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยในปีนี้มีความเป็นไปได้ยากที่เงินเฟ้อจะชะลอตัวจนถึงระดับ 2% ตามเป้าหมายของ Fed  ฉะนั้นจะทำให้อัตราดอกเบี้ยน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินสหรัฐฯ เนื่องจากในช่วงโควิดสถาบันการเงินในสหรัฐฯ มีสภาพคล่องสูง โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินในท้องถิ่น จึงนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ 

 

ดังนั้น เมื่อผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย Fed ในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ราคาพันธบัตรปรับลดลง และทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้ต้องขาดทุนบนงบดุล จึงมีเงินทุนไม่เพียงพอ แม้ว่ากระทรวงการคลังและ Fed จะยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างรวดเร็วผ่านโครงการปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินอัดฉีดสภาพคล่องผ่านโครงการ Bank Term Funding Program แต่เนื่องจากสถาบันการเงินเข้ามากู้ยืมผ่านโครงการนี้ค่อนข้างมาก สะท้อนว่ายังมีความต้องการสภาพคล่องสูง ดังนั้นจึงยังประมาทกับประเด็นนี้ไม่ได้ 

 

ขณะเดียวกันคาดว่าในระยะต่อไปการกำกับดูแลธนาคารขนาดกลางและขนาดย่อมในสหรัฐฯ จะมีความเข้มข้นขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไร การปล่อยสินเชื่อ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง และกดดันทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ 

 

ส่วนกรณีการแก้ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ เป็นประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะมีผลต่อตลาดการลงทุนอย่างมาก หากสหรัฐฯ ปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพราะไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้ได้ทันก่อนกระแสเงินสดในคลังจะหมด เนื่องจากจะทำให้สหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ มีผลทำให้ต้นทุนการกู้ยืมทุกอย่างเพิ่มขึ้น  

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ทั้งทางพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตน่าจะตกลงกันได้ในที่สุด แต่เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ความเสี่ยงที่ยังอาจเกิดขึ้นได้อยู่ ดังนั้นเพื่อความรอบคอบในการลงทุน ผู้ลงทุนควรชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก่อน จนกว่าประเด็นนี้จะมีความชัดเจน  

 

นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ต้องจับตาในช่วงปลายปี โดยปัจจุบันตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะเติบโตน้อยมาก หรือเกิดเศรษฐกิจถดถอยแต่ไม่รุนแรง เนื่องจากภาวะการจ้างงานในสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งอยู่ ซึ่งหากเป็นตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ในระยะกลางถึงระยะยาว ตลาดหุ้นก็น่าจะยังปรับตัวขึ้นได้อย่างช้าๆ แต่หากผิดไปจากที่คาดไว้ คือจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ก็อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นเปลี่ยนทิศทางเป็นขาลงได้

 

แนะจัดพอร์ตสู้เศรษฐกิจถดถอย

 

สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง แนะนำลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว รวมถึงหุ้นกู้คุณภาพสูงในสหรัฐฯ ในสัดส่วน 60% ของพอร์ต เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจข้างหน้า ส่วนอีก 30% แนะลงทุนในหุ้นโดยใช้กลยุทธ์ทยอยเข้าลงทุนในจังหวะที่ตลาดย่อตัวลงมา เน้นคัดเลือกหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า กรณีที่สหรัฐฯ เกิดเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ หุ้นจีน หุ้นไทย และหุ้นในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เป็นต้น และอีก 10% ควรกระจายความเสี่ยงลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) โดยให้น้ำหนักที่ทองคำ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่รับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอย และภาวะเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าได้ดี 

 

“ปีนี้การวางกลยุทธ์ลงทุนทำได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่สินทรัพย์ทุกประเภทปรับตัวลดลงอย่างพร้อมเพรียง โดยตลาดหุ้นปีนี้ไม่ได้ปรับตัวลดลงทุกตลาด และแต่ละตลาดไม่ได้ปรับตัวลงทุกกลุ่มธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนให้ต้องติดตามกันต่อเนื่อง ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย แนวโน้มเงินเฟ้อ เสถียรภาพสถาบันการเงินในสหรัฐฯ การแก้ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ดังนั้น SCB CIO มองว่า ผู้ลงทุนก็ยังคงต้องเน้นจัดพอร์ตลงทุนแบบระมัดระวังก่อน” ศรชัยกล่าว 

 

ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนไม่ดีเท่ากับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากการที่จีนเปิดเมือง เนื่องจากไทยยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ในประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลเป็นปัจจัยเฉพาะตัวอยู่ อย่างไรก็ตาม ตลาดรับรู้เรื่องปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลไปมากพอสมควรแล้วในราคาหุ้น และอาจจะมีตกใจมากเกินไป จนทำให้ราคาหุ้นขนาดใหญ่ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากนโยบายของพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลปรับลดลงไปมากพอสมควร จนมูลค่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น ประกอบกับช่วงที่ดอกเบี้ยใกล้จะหยุดปรับขึ้น หรือเริ่มขึ้นช้าลง จะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะกลางถึงยาว เพียงแต่ตลาดจะค่อยๆ ฟื้นตัว คือปรับขึ้นได้เพียงแต่ในระยะสั้น ระหว่างการปรับขึ้นจะมีการปรับฐานเป็นช่วงๆ 

 

ดังนั้นจึงแนะนำให้หาจังหวะช่วงที่ตลาดปรับฐาน ทยอยเข้าสะสมกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย 

 

อีกทั้งผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Asset Allocation) และมีการทบทวนสัดส่วนสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งเป้าหมายการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนไม่มีเวลาติดตามพอร์ตการลงทุนเป็นประจำ หรือไม่มั่นใจเรื่องการปรับสัดส่วนเงินลงทุนเอง  

 

SCB CIO ขอแนะนำให้เลือกลงทุนกับกองทุนที่จัดทำ Asset Allocation สำเร็จรูป เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Cross Asset Investment Opportunity (ชนิดสะสมมูลค่า) หรือ SCBCIO(A) ที่วางกลยุทธ์การลงทุนระยะยาว พร้อมปรับสัดส่วนลงทุนตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งกองทุนนี้จัดตั้งและบริหารโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) โดยมี SCB CIO เป็นที่ปรึกษาการลงทุน ร่วมทำงานกับผู้จัดการกองทุนอย่างใกล้ชิด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X