×

SCB 10X เผยยังมีเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพเหลืออีก ‘หมื่นล้านบาท’ หลังเข้าลงทุนใน Flash Express เน้นโฟกัสกลุ่ม Blockchain และ DeFi

02.06.2021
  • LOADING...
SCB 10X ลงทุน ใน สตาร์ทอัพ

ปิติพร พนาภัทร์ Chief Business Development and Financial Officer บริษัท เอสซี​บี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) บริษัทโฮลดิ้งคอมพานีในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ SCB 10X ยังมีเม็ดเงินลงทุนอีกราว 1 หมื่นล้านบาท สำหรับลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทั้งในไทยและทั่วโลก รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้หน่วยงาน Venture Builder แม้ว่าบริษัทเพิ่งจะเข้าไปเป็นผู้ร่วมลงทุนหลักในการระดมทุนรอบ Series D+ และ Series E ของกลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการ E-Commerce และเป็นบริษัทแม่ของ Flash Express ผู้ให้บริการด้านขนส่งเอกชน

 

ทั้งนี้ SCB 10X จะยังเน้นการลงทุนในธุรกิจ 5 ด้านคือ Blockchain, Fintech, Digital Lifestyle Ecosystems, Health Ecosystem และ  Deep Tech 

 

“Blockchain และการบริการทางการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Finance: DeFi) จะเป็นโฟกัสของเรา ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะอยู่ในต่างประเทศเยอะหน่อย แต่สตาร์ทอัพในไทยเราก็ยังลงทุนอยู่ เพราะหนึ่งในภารกิจของเราคือการสนับสนุนและผลักดันสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตและก้าวสู่เวทีโลกได้” ปิติพรกล่าว

 

ผู้บริหาร SCB 10X ระบุว่า บริษัทไม่ได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้ตายตัวว่าจะต้องลงทุนเป็นจำนวนเงินเท่าไร แต่จะพิจารณาตามโอกาสและศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน โดยเปิดกว้างตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (Early Stage) ไปจนถึงระยะที่ธุรกิจเติบโต (Growth Stage) ซึ่งหากมองเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีและสามารถต่อยอดความร่วมมือระหว่างกันได้ก็พร้อมลงทุนเต็มที่ ขณะเดียวกัน SCB 10X ก็ยังมีแผนจะปั้นสตาร์ทอัพของตัวเองออกสู่ตลาด ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เริ่มเปิดตัวไปบ้างแล้ว

 

ปิติพรยังกล่าวถึงการร่วมลงทุนกับกลุ่มธุรกิจแฟลชว่า SCB 10X ตัดสินใจเข้าไปลงทุน เพราะมองว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูง มีความสามารถในการแข่งขันในตลาด และมีคุณสมบัติตรงตาม Due Diligence Checklist ที่วางเอาไว้ 

 

“เรามองว่าแฟลชเป็นบริษัทที่มี Intelligence มีการจัดทำระบบคลังข้อมูล แอปพลิเคชัน ใช้ระบบ AI มีแผนบริหารจัดการต้นทุนและการดำเนินธุรกิจที่ดี ใช้แนวคิดแบบ Asset Light หรือเช่าซื้อแทนการซื้อขาด ซึ่งต่างจากธุรกิจโลจิสติกส์รูปแบบเดิม ซึ่งโมเดลเหล่านี้เขาสามารถเอาไปใช้ในการขยายกิจการไปยังภูมิภาคได้เลย เพียงแค่ต้อง Localise ให้เหมาะกับแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน ขนาดตลาดของธุรกิจขนส่งก็มีขนาดใหญ่เพียงพอทำให้เชื่อว่าจะแข่งขันได้” 

 

ปิติพรกล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจแฟลชยังมีแผนในการต่อยอดความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาโซลูชันและบริการทางการเงิน ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และสร้างประสบการณ์การเงินรูปแบบใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าในอนาคตอันใกล้ เช่น การปล่อยสินเชื่อให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้บริการแฟลชหรือพนักงานขนส่งสินค้าเอง

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising