ถือว่าเป็นการปิดฉากโรงภาพยนตร์สกาลาอย่างแท้จริง และนับจากนี้คงเหลือไว้เพียงตำนาน เมื่อล่าสุดช่วงเช้าของวันนี้ (1 พฤศจิกายน) เพจเฟซบุ๊ก Foto_momo ได้โพสต์ภาพรวมไปถึงคลิปไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก ปรากฏภาพของโรงภาพยนตร์สกาลาที่กำลังถูกรื้อถอนทุบทำลายลง เพื่อปรับปรุงพื้นที่หลังจากมีข่าวออกมาว่า บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ชนะประมูลในการพัฒนาบริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ ให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมจากสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ มีเนื้อที่โครงการทั้งหมดประมาณ 7 ไร่ 31 ตารางวา สํานักงานฯ อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการภายในกรอบพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา ซึ่งเดิมทีเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์สกาลา และอาคารพาณิชย์ สูง 3-4 ชั้น จํานวน 79 คูหา ส่วนใหญ่ประกอบกิจการเป็นคลินิก ร้านอาหาร ร้านค้าสินค้าแฟชั่น เครื่องสําอาง ธนาคาร โรงเรียนกวดวิชา ฯลฯ
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่: https://thestandard.co/cpn-confirmed-block-a-land-renting/
โรงภาพยนตร์สกาลาถือเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่อยู่คู่สยามสแควร์มากว่า 50 ปี โดยมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมที่งดงาม
รูปแบบสถาปัตยกรรมของโรงภาพยนตร์สกาลาถือเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีลักษณะภายนอกและโครงสร้างหลักของอาคารตามแบบสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco ที่เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสาน จนได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น พ.ศ. 2555 ก่อนที่ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์จะตัดสินใจยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ และยุติการเปิดรอบฉายโรงภาพยนตร์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563
ย้อนกลับไป ครั้งหนึ่งทางสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ เคยส่งหนังสือต่อกระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากร เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้การคุ้มครองอาคารโรงภาพยนตร์สกาลาในฐานะ ‘โบราณสถาน’ โดยมีความกังวลว่าอาจถูกสั่งรื้อถอนอาคารได้ หลังจากที่โรงภาพยนตร์สกาลาได้ปิดม่านลงอย่างถาวรไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 เพื่อส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่ในเวลาต่อมาหลังจากพิจารณาแล้ว กรมศิลปากรไม่รับขึ้นทะเบียนโรงภาพยนตร์สกาลาเป็นโบราณสถาน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535)
โดยระบุไว้ว่า โบราณสถานหมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย
สามารถย้อนชมบรรยากาศเพิ่มเติมได้ที่:
คลิกชมคลิปจากเพจเฟซบุ๊ก Foto_momo: https://www.facebook.com/fotomomo.project/videos/1036904607146331
อ้างอิง: