×

แบนถุงพลาสติกแก้ปัญหาจริงไหม มองวิกฤตขยะล้นสู่กระแส ‘Say No Plastic’ รับปีใหม่ 2563

03.01.2020
  • LOADING...
งดใช้ถุงพลาสติก

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เริ่มปี 2563 ได้ไม่นาน หนึ่งในกระแสซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ฮิตบนโซเชียลมีเดียในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นการปฏิเสธรับถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยวิธีการที่ไม่ได้ใช้เพียงแค่ถุงผ้า หากแต่เป็นการหยิบอุปกรณ์ในครัวเรือนมาใส่สินค้าจนเป็นสีสัน และฮือฮาบนสื่อออนไลน์อยู่ขณะนี้
  • หนึ่งในสาเหตุที่ภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนไม่น้อยกว่า 75 แห่ง ออกมาผนึกกำลังงัดแคมเปญ ลด ละ เลิก จ่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เป็นเพราะสถานการณ์ขยะพลาสติกในประเทศไทยยุคปัจจุบัน กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต และส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสัตว์น้ำตามท้องทะเล
  • THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย ถึงกระแสการงดจ่ายถุงพลาสติกว่า เป็นการหักดิบหรือเพิ่มภาระให้ประชาชนหรือไม่ และวิธีแก้ไขวิกฤตในมุมมองของกรีนพีซเป็นอย่างไร

เปิดศักราช 2563 ได้เพียงไม่กี่วัน กระแสที่กำลังถูกพูดถึงอย่างหนาหูในบริบทสังคมไทยช่วงเวลานี้ คงนี้หนีไม่พ้นกรณี ‘งดจ่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ (Single Use Plastic) ซึ่งเป็นมาตรการลดขยะพลาสติกที่เกิดจากความร่วมมือจากภาครัฐและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมถึงร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ 

 

ที่ผ่านมา ‘ขยะพลาสติก’ ถือเป็นปัญหาหนักใจของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เพียงแต่ถูกมองอย่างให้ความสำคัญมากขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจากมีการรายงานจากสื่อของไทยและต่างชาติไปในทิศทางเดียวกันว่า ปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทยได้ก่อตัวเพิ่มขึ้นในรอบหลายปี

 

สำหรับสถานการณ์ขยะพลาสติกชุดล่าสุดตามรายงานโดยกรีนพีซ เรื่อง ‘ต่อกรการค้าขยะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ แสดงให้เห็นว่าหากเทียบกันในระดับอาเซียนแล้ว ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2559 ที่มีจำนวน 69,487 ตัน ส่วนในปี 2561-2562 กลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 481,381 ตัน อีกทั้งยังติดอันดับที่ 2 จากกลุ่มสมาชิกอาเซียนที่มีปริมาณขยะสูงที่สุด รองจากอันดับ 1 ของอาเซียนก็คือประเทศมาเลเซีย ที่มีปริมาณขยะที่ 872,797 ตัน

 

คำถามต่อมาหลังจากเห็นตัวเลขปริมาณขยะมากมายเช่นนี้ คือขยะพลาสติกเหล่านี้ไปอยู่ไหนบ้างในประเทศไทย 

 

เลิกใช้ถุงพลาสติก

 

ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษต่อสถานการณ์ด้านการจัดขยะมูลฝอยของไทย พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั้งหมด 2,490 แห่งโดยประมาณ แยกเป็นสถานที่ที่มีการกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 466 แห่งเท่านั้น แบ่งเป็นกองทิ้งขยะและเผากลางแจ้ง 64% ฝังกลบ 35% และเตาเผา 1% ซึ่งสวนทางกับจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน เป็นเหตุให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยสะสมตกค้างจำนวนมาก และจากปริมาณขยะเหล่านั้นมี 10-15% ไหลลงสู่น่านน้ำทะเลไทย

 

ซึ่งปัญหาขยะที่ถูกพบในท้องทะเลได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของ ‘มาเรียม’ พะยูนที่เคยรอดจากการเกยตื้นจนกลายเป็นที่รักของคนไทยหลายคน แต่ทว่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภายหลังจากการเสียชีวิตของมาเรียมได้มีการผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิต ปรากฏว่ามีชิ้นส่วนพลาสติกอุดตันในลำไส้ จนทำให้ลำไส้อักเสบ นำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด กระทั่งช็อกและจากไปในที่สุด 

 

งดใช้ถุงพลาสติก

 

การตายของมาเรียมกลายเป็นกระจกสะท้อนถึงภัยขยะพลาสติกที่แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันมีสัตว์ทะเลจำนวนมากกำลังถูกขยะพลาสติกที่เล็ดลอดลงสู่ท้องทะเลคุกคามอย่างหนัก และที่น่าตกใจกว่านั้น มีการรายงานว่าด้วยเรื่อง ‘สถานการณ์ขยะและพลาสติกในท้องทะเล’ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดของโลก

 

จากปัญหาที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้ จึงทำให้สังคมไทยช่วงหลังเกิดโครงการผุดขึ้นมาจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือแม้แต่ภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาจัดแคมเปญแสดงพลังต่อต้านการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการลดจำนวนขยะพลาสติกในประเทศไทยให้น้อยลงมากที่สุด

 

โดยทั้งสองมาตรการจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมากในเวลานี้ และสร้างประเด็นร้อนรับปี 2563 ไม่แพ้ข่าวอื่นในประเทศ

 

เริ่มจากมาตรการที่ 1 คือ การจับมือกันระหว่างภาครัฐ และตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เกี่ยวกับการลดการเผยแพร่ภาพถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งผ่านจอโทรทัศน์ จนเกิดการตั้งคำถามแบบวงกว้างบนโซเชียลมีเดียว่า มาตรการดังกล่าวนั้นคุ้มค่าหรือมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ที่จะช่วยลดค่านิยมการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ผ่านการเซนเซอร์หรือตัดฉากละครที่มีถุงพลาสติกออกจากหน้าจอ

 

เลิกใช้ถุงพลาสติก

 

ซึ่งภายหลัง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาชี้แจงต่อคำถามจากสังคมว่า การเบลอถุงพลาสติกนั้นก็ไม่ต่างจากการเบลอภาพบุหรี่ สุรา หรือปืน ส่วนการติติงหรือการทำอะไรแล้วเกิดดราม่าเป็นเรื่องที่ง่าย แต่อยากจะฝากถึงประชาชนที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ว่า อยากให้ดูถึงเจตนารมณ์ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ว่ามีเจตนาดีที่อยากจะแสดงให้สังคมเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะลด เลิก การใช้ถุงพลาสติกให้ได้

 

ส่วนมาตรการที่ 2 ถือเป็นนโยบายที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความตั้งใจผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ด้วยการประกาศจับมือกับภาครัฐและเอกชนประมาณ 75 องค์กร ร่วมลด ละ เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) ให้กับผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยความหวังที่ต้องการให้ปริมาณขยะจากพลาสติกลดลง 

 

ทว่าหลังจากนโยบายเริ่มมีผลได้เพียง 3 วันเท่านั้น นับจากวันที่ 1 มกราคม 2563 กระแสโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ได้มีการโพสต์ภาพความตื่นตัวของคนไทยที่มีต่อมาตรการลดถุงพลาสติก ผ่านภาพการนำภาชนะต่างๆ เช่น ตะกร้า, กระสอบ, กะละมัง เป็นต้น นำมาใส่สิ่งของเพื่อทดแทนการใช้ถุงพลาสติก จนเป็นเทรนด์สีสันที่ก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆ และเป็นภาพสะท้อนว่า มีประชาชนไม่น้อยที่ขานรับนโยบายนี้ และพร้อมให้ความร่วมมือที่จะปฏิเสธถุงพลาสติกเสมอ

 

เลิกใช้ถุงพลาสติก

ขอบคุณภาพจาก: Lowcostcosplay / ทอปฟี่ แมคอัพ / วรเชษฐ์ เอมเปีย

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการ ลด ละ เลิก การจ่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งของภาครัฐ ใช่ว่าจะมีแต่คนเห็นด้วย เพราะบางส่วนยังมีการตั้งคำถามว่าการยกเลิกการจ่ายถุงพลาสติกให้ประชาชนเปรียบเสมือนการหักดิบเกินไป หรือผลักภาระให้ประชาชน

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย 

 

พิชามญชุ์ระบุว่า “ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นการหักดิบ เพราะเราได้มีการพูดคุยถึงประเด็นของพลาสติกในสังคมกันมาสักระยะแล้ว ซึ่งมากพอที่จะทำให้คนในสังคมเล็งเห็นว่ามลพิษพลาสติกอยู่ในทิศทางไหนและวิกฤตเพียงใด เรามองว่าการแบนถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราพร้อมแล้วที่จะให้ผู้บริโภคใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งจะช่วยปรับพฤติกรรมของผู้คนได้ไปในตัว และทำให้คนรู้สึกว่าตอนนี้เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป และการเลิกจ่ายถุงพลาสติกนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

 

งดใช้ถุงพลาสติก

 

เมื่อถามถึงประเด็นว่าการเลิกจ่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพียงพอที่จะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกภาพรวมลดลงหรือไม่ พิชามญชุ์บอกสั้นๆ ว่า “ยังเป็นไปไม่ได้”

 

จริงอยู่ที่ถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในประเภทของขยะพลาสติกที่ถูกพบในไทยมากกว่า 45,000 ล้านใบต่อปี แต่ในขณะเดียวกันขยะพลาสติกนั้นถูกผลิตในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์หลากหลายประเภท เช่น แก้วพลาสติก หลอด เศษโฟม กล่องอาหาร หรือที่พบได้บ่อยอย่างขวดน้ำพลาสติก 

 

อีกทั้งการเลิกจ่ายถุงหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นเพียงความร่วมมือที่เกิดขึ้นเฉพาะองค์กรประเภทห้างร้านสรรพสินค้าเท่านั้น ทว่าตามแหล่งตลาดท้องถิ่นทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดสด ร้านขายของชำทั่วประเทศ ซึ่งมีการประเมินว่ามีอยู่ 5-6 แสนร้านโดยประมาณก็ยังคงมีการใช้ถุงหูหิ้วพลาสติกอยู่ดี ดังนั้นการแบนพลาสติกเพียงชนิดเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาพรวมขยะพลาสติกลดลงแต่อย่างใด

 

งดใช้ถุงพลาสติก

 

มาถึงตรงนี้ มุมมองและข้อมูลจาก พิชามญชุ์ รักรอด แสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่า นโยบายลดจ่ายถุงพลาสติกจากห้างร้านต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ดี สำหรับจุดเริ่มต้นลดพลาสติก แม้จะไม่สามารถแก้ไขได้แบบภาพรวมก็ตาม แต่ยังคงมีคำถามสำคัญอีกหนึ่งประเด็น นั่นก็คือ แล้ววิธีไหน คือวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการทำให้ปริมาณขยะที่มีอยู่ในประเทศไทยลดลงได้เป็นอย่างดี ในมุมมองของกรีนพีซ?

 

พิชามญชุ์ จำแนกทางออกของปัญหาเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

 

1. นโยบายทางกฎหมายจากภาครัฐ ที่ต้องมีความรวดเร็วและจริงจังต่อการจัดการขยะพลาสติกให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่ทำอยู่ต้องยอมรับว่า ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขวิกฤตการณ์พลาสติกลงได้ ซึ่งกฎหมายไทยจำเป็นต้องมีความเข้มแข็ง มีปฏิกิริยาที่ชัดเจนและจริงจังมากกว่านี้ เพราะตัวผู้บริโภคสามารถช่วยแก้ไขได้เพียงปลายทางเท่านั้น อย่างที่เห็นล่าสุดว่ามีไม่น้อยที่พร้อมใจพกถุงผ้า และปฏิเสธพลาสติก ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคทำได้ ทว่าทางภาครัฐคือ กลุ่มที่สามารถแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือการผลิต ควรจะมีมาตรการที่ดีและจริงจัง ที่จะแสดงออกว่าต้องการลดปริมาณพลาสติกให้มากกว่านี้

 

2. ภาคผู้ผลิต ต้องมีแนวทางการจัดการกับ ‘บรรจุภัณฑ์’ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเลือกที่จะไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับพลาสติกตั้งแรกเริ่มของห่วงโซ่การผลิตสินค้าต่างๆ โดยในปัจจุบันก็เริ่มมีแบรนด์ดังไม่กี่แห่งที่ให้ความสนใจกับการปรับบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันแล้ว

 

เลิกใช้ถุงพลาสติก

 

สุดท้าย หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ กล่าวย้ำว่า เมื่อใดก็ตามที่ภาครัฐและภาคธุรกิจมีความแข็งขัน และจริงจังต่อการลดจำนวนการกำเนิดขึ้นของพลาสติกรูปแบบต่างๆ ก็น่าจะเป็นอีกวิธีที่ดีที่จะช่วยให้ปัญหาพลาสติกในไทยดีขึ้น ถึงแม้การแก้ปัญหาแบบภาพรวมอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ในทันที 

 

อีกทั้ง กระแสสังคมไทย ณ ช่วงเวลานี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราทุกคนสามารถเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดพลาสติกลงได้ด้วยตัวเอง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของประเด็นนี้ ต้องเกิดจากความร่วมมือของประชาชนทุกคน ที่ต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมของตัวเอง เพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตขยะพลาสติกด้วยสองมือของเราเอง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising