ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD กล่าวว่า SAWAD ยังคงเป้าหมายรายได้และการเติบโตของสินเชื่อที่ 20% จากการขยายตัวของธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ ซึ่งปีนี้ SAWAD ได้ขยายธุรกิจไปสู่ 2 ธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย
- สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ (S-Leasing) โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อ 5-7 พันล้านบาท ในปี 2564
- สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (S-Cap) โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อที่ 2-3 พันล้านบาท ในปี 2564
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 2/2564 อาจจะไม่คึกคักมาก เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซา แต่เชื่อว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 นี้ยังอยู่ในสัญญาณที่ดี และแนวโน้มครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
“ปกติแล้ว High Season ของบริษัทคือครึ่งปีหลัง ซึ่งส่วนมากผลการดำเนินงานจะดีกว่าครึ่งปีแรกเสมอ ปีนี้ก็น่าจะเป็นตามนั้น แต่ก็ต้องพิจารณาความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนในประเทศไทยประกอบด้วย”
ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) SAWAD จะควบคุมให้ไม่เกินระดับ 4-5% โดยช่วงไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ระดับประมาณ 4.22% จากการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวม NPL จึงปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง แต่มองว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
ขณะเดียวกัน SAWAD ยังเดินหน้าขยายสาขาตามเป้าหมายเดิม แต่ในไตรมาส 2 นี้ มีการชะลอตัวบ้าง เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็มีสาขา Kiosk ในธนาคารออมสินมาช่วยเติมเต็มได้ โดยหลังจากร่วมทุนกับกลุ่มออมสิน ได้เพิ่มสาขา Kiosk ราว 1,000 สาขา ส่งผลให้ปีนี้ SAWAD จะมีเครือข่ายสาขาเพิ่มเป็นกว่า 5,000 สาขา จากปัจจุบันที่มีสาขามากกว่า 4,700 สาขา
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 SAWAD มีกำไร 1,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุที่กำไรเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากบริษัทมีรายได้อื่น 905.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 205.68 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29.40% เทียบกับรายได้อื่นงวดเดียวกันของปีก่อน 699.67 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง เนื่องจากบริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนประเภทของเงินลงทุนในบริษัทย่อย (บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด) เป็นบริษัทร่วม
โดยการปรับเปลี่ยนประเภทเงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เป็นบริษัทร่วม มีผลทำให้จำนวนพอร์ตลูกหนี้ลดลง 42,266 ล้านบาท เหลือ 34,755 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทไม่ได้นำลูกหนี้ที่อยู่ในบริษัทร่วมมาแสดงรวมอยู่ในงบการเงินรวมของบริษัท อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1,900.71 ล้านบาท ลดลง 184.75 ล้านบาท หรือลดลง 8.86% ซึ่งสอดคล้องจากการเปลี่ยนประเภทของเงินลงทุนในบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วม รวมทั้งการปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง การคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 2,806 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,786 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น