ตั้งแต่เกิดการปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมาหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Save the Children เปิดเผยว่ามีเด็กที่ถูกเจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมาสังหารไปแล้วอย่างน้อย 43 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 6 ปี และระบุว่าเมียนมาอยู่ในสถานการณ์ที่เป็น ‘ฝันร้าย’ ขณะกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่นระบุยอดผู้เสียชีวิตรวมแล้วราว 540 ราย
พยานหลายคนระบุว่าเจ้าหน้าที่กองทัพได้โจมตีประชาชนแบบสุ่มตามท้องถนน และบางคนก็ถูกสังหารในบ้านของตนเอง เช่น กรณีของเด็กหญิงขิ่น เมียว ชิต วัย 6 ขวบ ที่ครอบครัวบอกว่าเธอถูกตำรวจฆ่าขณะวิ่งไปหาพ่อ ระหว่างถูกบุกค้นบ้านในเมืองมัณฑะเลย์เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เมย์ ธุ สุมายา พี่สาววัย 25 ปีของเด็กหญิงคนดังกล่าว บอกว่าเจ้าหน้าที่เตะเพื่อเปิดประตู และหลังจากเปิดประตูได้แล้วก็ถามพ่อของพวกเธอว่ามีคนอื่นอยู่ในบ้านอีกหรือไม่ และเมื่อพ่อของพวกเธอตอบว่าไม่มี เจ้าหน้าที่ก็กล่าวหาว่าพ่อของเธอโกหกและเริ่มค้นบ้าน
แต่นั่นเป็นจังหวะที่เด็กหญิงวัย 6 ขวบวิ่งเข้ามาหาพ่อของเธอพอดี
“จากนั้นพวกเขาก็ยิงและตีเธอ” สุมายาเล่า
สื่อชุมชนของมุสลิมชาวเมียนมายังรายงานว่า พ่อของเด็กหญิงวัย 6 ขวบบอกว่าคำพูดสุดท้ายที่ลูกสาวพูดกับเขาคือ “ฉันทำไม่ได้ค่ะพ่อ มันเจ็บปวดเหลือเกิน” เธอเสียชีวิตในอีกครึ่งชั่วโมงถัดมาขณะที่ถูกรีบนำตัวขึ้นรถเพื่อไปรับการรักษา นอกจากนี้ ตำรวจยังทุบตีและจับกุมลูกชายวัย 19 ปีของผู้เป็นพ่อด้วย BBC รายงานว่ากองทัพเมียนมายังไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ต่อกรณีดังกล่าว
นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตยังมีเด็กชายวัย 14 ปี ที่เชื่อว่าถูกยิงระหว่างอยู่ในบ้านหรืออยู่ใกล้บ้านของเขาในเมืองมัณฑะเลย์ และเด็กชายวัย 13 ปีอีกราย ที่ถูกยิงในเมืองย่างกุ้งระหว่างกำลังเล่นบนถนน
องค์กร Save the Children เตือนว่าจำนวนของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะก็น่าจะอยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญ โดยอ้างถึงรายงานที่ว่ามีทารกวัย 1 ขวบถูกยิงเข้าที่ตาด้วยกระสุนยาง นอกจากนี้ กลุ่มดังกล่าวได้เตือนว่าความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็ก เนื่องจากเด็กๆ ต้องทนทุกข์จากความกลัว ความเศร้าโศก และความเครียด
“เด็กๆ ได้พบเห็นความรุนแรงและความสะเทือนขวัญ” Save the Children ระบุในแถลงการณ์ “เป็นที่ชัดเจนว่าเมียนมาไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ อีกต่อไป”
อีกด้านหนึ่ง ทูตขององค์การสหประชาชาติประจำเมียนมาก็เตือนถึงความเสี่ยงของการนองเลือดที่ใกล้เข้ามา เมื่อการปราบปรามการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น คำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากการเริ่มต้นปะทะระหว่างทหารและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดน และสหประชาชาติก็เป็นองค์กรล่าสุดที่ออกมาระบุให้ครอบครัวของผู้ที่ทำงานในองค์กรนั้นเดินทางออกนอกเมียนมา แต่ก็ระบุว่าจะยังมีทีมงานบางส่วนที่ยังเหลืออยู่ในประเทศ
ส่วนชะตากรรมของ ออง ซาน ซูจี ล่าสุดก็ถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีก 1 ข้อหา คือข้อหาละเมิดกฎหมายความลับของทางราชการ หลังจากก่อนหน้านี้ถูกตั้งข้อหาครอบครองอุปกรณ์วอล์กกี-ทอล์กกีผิดกฎหมาย, ละเมิดข้อกำหนดในสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และเผยแพร่ข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความกลัวหรือความตื่นตระหนกไปก่อนหน้าแล้ว ทนายความของเธอระบุกับสำนักข่าว Reuters เมื่อวันพฤหัสบดีว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าซูจีทราบถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศขณะนี้หรือไม่ แต่กล่าวว่าเธอ “ดูเหมือนจะมีสุขภาพดี”
ล่าสุด สหราชอาณาจักรได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับ Myanmar Economic Corporation (MEC) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่สนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทัพเมียนมา โดย โดมินิค ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ระบุว่ากองทัพเมียนมาได้จมดิ่งลงสู่ ‘จุดต่ำสุดครั้งใหม่’ ด้วยการสังหารผู้บริสุทธิ์อย่างโหดร้าย ซึ่งรวมถึงเด็กด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครในฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
- บรรดาอดีตผู้นำโลกเรียกร้องให้ UN เข้าแทรกแซง เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมา หลังยอดผู้เสียชีวิตเกินครึ่งพัน
ภาพ: STR / AFP
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: