×

#saveก๋วยเตี๋ยวกัญชา ก่อนปิดตำนานหายไปจากสามย่าน หลังเจอวิกฤตรายรับหาย รายจ่ายพุ่ง ถูกจุฬาฯ ฟ้องขับไล่

14.01.2022
  • LOADING...
save hemp noodles

หลังวานนี้ (13 มกราคม) เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีของ ‘ร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชา’ หรือ ร้านก๋วยเตี๋ยวตี๋ใหญ่ต้มยำ ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยจุฬาฯ 48 ที่อาจต้องปิดตัวลงในสิ้นเดือนนี้หากหาเงินก้อนใหญ่มาจ่ายสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ไม่ทัน

 

เช้าวันนี้ (14 มกราคม) เดินทางลงพื้นที่ร้านดังกล่าว ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของร้านซึ่งเป็นคู่สามีภรรยาที่ช่วยกันทำงานเพียงสองคนในร้าน โดยมีเด็กเสิร์ฟหนึ่งคนที่เป็นนิสิตช่วยงาน ถูกจ้างโดยงบของสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ซึ่งเนติวิทย์ระบุว่า เป็นเงินจากขายหนังสือ โดยขอนำมาจ้างงานนิสิตหอในที่อยากมีรายได้เสริมไปเป็นนิสิตช่วยงานที่ร้าน เพื่อให้ ‘พี่เขา’ สามารถทำอาหารโดยไม่ต้องพะวงวิ่งขึ้นลงเสิร์ฟอาหาร โดยมีการจ้างงานมา 1 สัปดาห์แล้ว

 

ที่ร้านวันนี้ เราพบกับ ธีระยุทธ์ ล้อมธนาพงษ์ หรือ ‘ตี๋เล็ก’ เจ้าของร้าน ‘ก๋วยเตี๋ยวกัญชา’ พร้อม น้ำ ภรรยา ที่กำลังช่วยกันเตรียมเปิดร้าน โดยมีลูกค้าเดินทางมารออุดหนุนตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด 

 

ธีระยุทธ์เปิดเผยว่า หลังมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องหาให้ทันเพื่อนำไปชำระให้กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ทำให้มีคนทยอยมาอุดหนุนเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ต้องเจอกับวิกฤตโควิด ต่อมามหาวิทยาลัยถูกสั่งปิด ทำให้ลูกค้าน้อยลง บางวันขายได้น้อยนิด แทบไม่พอต้นทุน ซึ่งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ขายดีมาก มีลูกน้องถึง 6 คน แต่เมื่อขาดทุนสะสมจากภาวะดังกล่าวทำให้ต้องตัดสินใจลดจำนวนการจ้างลูกน้อง จนกระทั่งเลิกจ้างทั้งหมด เหลือเพียงตัวเองและภรรยาเท่านั้นที่ประคับประคองร้านนี้

 

จุดเริ่มต้นของการถูกฟ้องร้องจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ฐานผิดสัญญา, ละเมิด, ขับไล่, เรียกค่าเสียหาย มาจากการเริ่มต้นทำสัญญาเช่าตึกเพื่อขายอาหารช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ต่อมาเจอวิกฤตโควิด ลูกค้าหาย ลงทุนไปกับการทำร้านและค่าประกัน ค่าเช่า จนต้องควักทุนสำรองมาใช้ จนกระทั่งวิกฤตการหมุนเงิน ส่วนการขายก๋วยเตี๋ยวก็แทบจะไม่สามารถสร้างรายได้ได้เลย บางวันขายได้ 400-500 บาทเท่านั้น

 

เมื่อไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายเข้ามาไม่หยุด รวมถึงค่าเช่า ค่าไฟ ค่าน้ำ และอื่นๆ ที่ต้องแบกรับ จึงกลายเป็นภาวะติดลบของร้าน โดยเฉพาะภาระหนี้กับทางจุฬาฯ ที่ประมาณเกือบ 400,000 บาท

 

“ขายผ่านแอปส่งอาหารไม่ได้มีรายได้มาก เพราะต้องแบกรับต้นทุน ขายได้เงินน้อยกว่าราคาหน้าร้านอีก แถมต้องโดนหักค่า GP สูงมาก ไม่คุ้ม” ธีระยุทธ์กล่าว

 

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้ช่วยหรือเข้ามาเยียวยาอย่างไรหรือไม่ ธีระยุทธ์บอกว่า ไม่เคย มีแต่คำปลอบใจให้ความหวัง อีกอย่างเราทำสัญญายังไม่ครบ วางเงินประกันยังไม่ครบ เพราะต้องเอาเงินไปลงทุนกับร้าน และคาดว่าเมื่อขายแล้วมีรายได้มากขึ้นจะแบ่งไปชำระ แต่ก็มาเจอกับโควิด ทำให้หนี้สะสม และเมื่อไม่มีเงินไปทำสัญญาก็ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น

 

“ตอนนี้มีเดดไลน์ให้ย้ายออก 31 มกราคมนี้ หลังจากถูกฟ้องร้อง ถ้าอยากอยู่ต่อก็ต้องหาเงินไปจ่ายที่ค้างชำระทั้งหมด แต่ถ้าออกก็ต้องผ่อนชำระหนี้ที่ค้างเหมือนกัน เงื่อนไขทั้งหมดจุฬาฯ กำหนด เราก็ต้องเลือกเอา” ธีระยุทธ์กล่าว

 

ธีระยุทธ์เปิดเผยอีกว่า เคยไปยื่นหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ เพราะช่วงปลายปี 2563 เจอวิกฤตแม่ป่วย และมีค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 3 แสนกว่าบาท ทำให้ยิ่งเครียด เจ้าหน้าที่ก็รับเรื่องไป แล้วก็บอกกว่า “มันเป็นธุระของเรา ไม่ใช่ธุระของเขา” ตั้งแต่นั้นก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือผ่อนผันอะไร กระทั่งมีหมายศาลมา

 

ก่อนหน้านี้เคยไปขายของที่ชั้นจำหน่ายอาหารของห้างข้างๆ พื้นที่สามย่าน ตอนนั้นบอกว่าไม่มีค่าเช่า แต่เจอค่าต้นทุนเยอะมาก แถมวันไหนขายดี เก็บร้านก่อนก็โดนปรับ วันไหนเปิดช้าก็โดนปรับ ช่วงต่อสัญญาก็เร่งให้ต่อ พอเราไม่ต่อหาคนใหม่ได้ก็มาเร่งให้เราออก จะขนของออกก่อนเวลาก็ไม่ได้ เพราะห้ามปิดร้านก่อนเวลา วนเวียนแบบนี้

 

“ใครมากินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านช่วงนี้ อาจจะตกใจที่ราคาเพิ่มสูงขึ้น เดิมไม่อยากขึ้นราคา เพราะเราก็รู้รสชาติของการไม่มีจะกินมาก่อน แต่มันก็ไม่ไหว ยิ่งวัตถุดิบหลักเป็นหมูที่ราคาพุ่งขึ้นสองเท่าตัว พอมาเจอเรื่องเดดไลน์ก็อยากจะบอกลูกค้าว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยขึ้นราคาเลย เราแบกต้นทุนเอากำไรนิดหน่อย ใครๆ ก็จะรู้ว่าร้านเราให้เครื่องแน่นตลอด แค่รอบนี้ขึ้นเพราะอยากให้รู้ว่าสภาพความเป็นจริงของเรามันเป็นแบบนี้ ก็ต้องขอบคุณลูกค้าที่เข้าใจและขอโทษลูกค้าไปพร้อมกันด้วย” ธีระยุทธ์กล่าว

 

ขณะที่ น้ำ ภรรยาของธีระยุทธ์ ปัจจุบันเธอป่วยด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ทำให้ไม่สามารถทำงานหนักได้ เมื่อทำงานหนักมากๆ อาการป่วยจะกำเริบ และมีอาการมือบวม หยิบจับสิ่งของต่างๆ ได้ลำบาก 

 

ด้านเนติวิทย์ ซึ่งเปิดเผยข้อมูลได้โพสต์เชิญชวนให้มาช่วยกันอุดหนุนสนับสนุนร้านเก่าแก่ของสามย่านไม่ให้ต้องหายไป #saveก๋วยเตี๋ยวกัญชา 

 

“หลายๆ คนอาจจะกินแล้วถูกใจ กินแล้วไม่ถูกใจ หรือไม่เคยกินเลย แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องนี้ เท่ากับความเป็นมนุษย์ การเห็นอกเห็นใจกันในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ความเข้าใจความรู้สึกการต้องพลัดพรากจากที่อยู่อาศัย การที่ลูกที่อยู่ ป.2 ต้องหาที่เรียนใหม่หากต้องย้ายร้าน การรักษาร่องรอยของสามย่าน อนาคตที่เราอยากเห็น ร้านขนาดเล็กที่ยังอยู่ต่อไป หรือการกินรวบของทุนใหญ่” เนติวิทย์ระบุ

 

สำหรับบรรยากาศในวันนี้ มีนิสิตและประชาชนที่ทราบข่าวเดินทางมารออุดหนุนตั้งแต่ก่อนร้านเปิด มีการเขียนข้อความให้กำลังใจแปะไว้ที่หน้าร้านด้วย

 

สำหรับใครที่อยากช่วยอุดหนุนให้คู่สามีภรรยาผ่านหลายวิกฤตนี้ในชีวิตไปได้ สามารถไปอุดหนุนที่ร้าน หรือขณะนี้กำลังมีแคมเปญที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ที่ร่วมกับนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ทำแคมเปญ IM ‘อิ่ม’ Project เพื่อร่วมกันบริจาคเงินซื้อข้าวกล่องของทางร้านไปบริจาคตามมูลนิธิ โรงพยาบาล หรือชุมชนที่ต้องการ ตั้งเป้าไว้ที่ 5,000 กล่อง ราคากล่องละ 60 บาท รายละเอียด https://www.facebook.com/106380308587257/posts/107256048499683/?d=n

 

save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles save hemp noodles

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising