วันนี้ (31 สิงหาคม) ปฏิบัติการ #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563
ครั้งนั้นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนทั้งที่เคยอาศัยและอาศัยอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน ตลอดจนผู้ศรัทธาในองค์เจ้าแม่ทับทิม ออกมาร่วมกันแสดงพลังคัดค้าน ทำให้การรื้อถอนหรือขนย้ายต้องสะดุดหยุดลง
แต่วันนี้พวกเขาออกมาแสดงพลังอีกครั้ง เมื่อมีการส่งหนังสือจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินว่า จะเข้ามาเคลื่อนย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมไปประดิษฐานยังจุดอื่น ทำให้ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และนิสิตจุฬาฯ ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันอารักขาองค์เจ้าแม่ โดยร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ก่อนที่จะเดินเท้าไปยังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน และตะโกนที่ด้านหน้าอาคารว่า #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม 3 ครั้ง ก่อนที่นิสิตจะนำแถลงการณ์ที่มีข้อเรียกร้อง 6 ข้อไปมอบให้สำนักงาน
สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ระบุว่า สืบเนื่องจากวันที่ 24 สิงหาคม 2563 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน และจัดให้มีรถประชาสัมพันธ์วิ่งวนในบริเวณสามย่าน-สวนหลวง โดยให้ข้อมูลการย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองไปยังที่ประทับชั่วคราว บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 34 และจะเปิดให้เข้าสักการะได้ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2563 นั้น
.
คณะกรรมการบริหารศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองขอชี้แจงว่า การย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมไปยังที่ประทับชั่วคราวในวันที่ 31 สิงหาคมนั้น ไม่ได้มีการเจรจาตกลงกันระหว่างสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับศาลเจ้าแม่ทับทิมมาก่อน เป็นการกระทำโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ทางศาลเจ้าฯ มิได้รับรู้หรือยินยอมให้มีการย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมในวันดังกล่าวแต่อย่างใด
ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองขอประกาศจุดยืนว่า ทางศาลเจ้า ไม่มีความประสงค์จะย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมไปตั้งอยู่ที่ประทับอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นที่ประทับชั่วคราวหรือที่ประทับถาวรแห่งใหม่ และทางศาลไม่ยินยอม หากจะมีบุคคลใดมายกองค์เจ้าแม่ทับทิมอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชนจำนวนมากออกจากศาลไปยังที่ประทับชั่วคราว ซึ่งมิใช่สถานที่อันสมควรแก่การประทับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ เป็นอาคารพาณิชย์ที่ไม่มีการประดับตกแต่ง มีห้องน้ำอยู่ด้านหลังแท่นบูชาเทพเจ้า ไม่มีตู้สำหรับประดิษฐานเทวรูปเป็นสัดส่วน ทั้งยังคลุ้งไปด้วยกลิ่นสีทาผนัง ส่วนที่ประทับใหม่ถาวรที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ได้จัดไว้นั้น ก็ตั้งอยู่ในอุทยาน 100 ปี หันหลังให้ถนน ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับจัดงานประเพณี ทั้งยังอยู่ติดร้านจำหน่ายสุรา เป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะสม และไม่เคารพองค์เจ้าแม่ทับทิมเป็นอย่างยิ่ง
การกระทำของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการกระทำที่ไม่ให้ความสำคัญกับชุมชนข้างเคียง ให้ได้มีโอกาสธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่ควรค่าแก่การรักษา กล่าวคือมีความประสงค์ที่จะรื้อถอนอาคารเก่าแก่เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมขนาด 1,803 ยูนิตขึ้นแทนที่ ในระยะเวลาที่ผ่านมานี้ การปรากฏขึ้นของห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ บริเวณรอบรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รุกล้ำการดำรงอยู่ของชุมชนที่มีมาแต่ดั้งเดิม เป็นการแสวงหาผลกำไรที่มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบแม้แต่น้อย
ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเก่าแก่ ตั้งอยู่คู่ชุมชนสามย่านมาเป็นเวลากว่า 50 ปี เป็นสถานที่ซึ่งสำคัญยิ่ง โดยมีองค์เจ้าแม่ทับทิมที่มีอายุกว่า 150 ปี และกระถางธูปพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ประดิษฐานเป็นสง่าอยู่ภายในศาลเจ้า อีกทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนแต้จิ๋วที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แสดงให้เห็นว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้เป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินทอง หากแต่เกิดจากการจากสั่งสมภูมิปัญญาของชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น
ทางศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองมีความประสงค์ที่จะยืนหยัดอยู่คู่ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีชีวิต เป็นตัวแทนของอัตลักษณ์ชุมชนในอดีตที่กำลังจะจางหาย โดยเชื่อว่าการสร้างสิ่งใหม่สามารถดำเนินไปพร้อมกับการธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็น ‘เสาหลักของแผ่นดิน’ จึงควรพิจารณาบทบาทของตนในฐานะ ‘ผู้ให้การศึกษา’ การพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยนั้นจึงควรเป็นไป ‘เพื่อการศึกษา’ ดังพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ในการพระราชทานที่ดินแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มิใช่การดำเนินธุรกิจที่คำถึงถึงผลกำไรเป็นหลักดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
โดยศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ขอเรียกร้องต่อสำนักงานจัดการทรัพย์สินทั้งสิ้น 6 ข้อ ดังนี้
- ขอให้ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองได้อยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของนิสิต และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชน
- ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินให้ความชัดเจนเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างของไซต์งานรอบศาลเจ้าๆ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสาธารณชน
- ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินอำนวยความสะดวกในการจัดงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานานให้สามารถดำเนินการได้ดังเดิม
- ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินจัดให้มีการเจรจาอย่างเป็นทางการในประเด็นเกี่ยวกับศาลเจ้าฯ โดยเปิดให้คณะกรรมการศาลเจ้าฯ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย
- ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับศาลเจ้าฯ ให้ประชาชนและผู้มีจิตศรัทธารับรู้โดยทั่วถึงกัน
- ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นมิตรกับชุมชน มิใช่คำนึงถึงแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว