×

ซาอุดีอาระเบีย vs. ลาสเวกัส – สงครามแย่งชิงโลกกีฬาในดินแดนแห่งทะเลทราย

12.03.2024
  • LOADING...

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกีฬายักษ์ใหญ่ทั้ง F1 รายการซาอุดีอาระเบียน กรังด์ปรีซ์ และมวยคู่ใหญ่ระหว่าง แอนโทนี โจชัว กับ ฟรานซิส เอ็นกานนู ลงแข่งขันที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และต่างได้รับการตอบรับที่ล้นหลามจากบรรดาแฟนๆ ของกีฬาเหล่านั้นที่เดินทางไปชมหรือเชียร์ และมีคนดังอีกหลายคนถูกจับภาพออกสื่อ

 

สิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นการยืนยันนโยบายที่จะดึงเอากีฬาระดับโลกมายังซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นฮับแห่งกีฬาโลกแบบที่พวกเขาพยายามดำเนินกลยุทธ์นี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว

 

และอย่างที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียพยายามลงทุนอย่างมากกับโลกกีฬา เช่น การเข้าไปเทกโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, การให้การสนับสนุน LIV Golf, การเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับเทนนิสทั้ง ATP และ WTA รวมถึงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ F1 โดยเซ็นสัญญายาวนานถึง 10 ปี

 

แต่หนึ่งในสิ่งที่ซาอุดีอาระเบียพยายามจะทำและส่งผลให้มีความไม่ลงรอยเกิดขึ้นนั้น คือการพยายามดึงมวยและกีฬาต่อสู้เข้าไปสู่ประเทศพวกเขา โดยที่เห็นในตอนนี้คือไฟต์ที่ชกกันเรียบร้อยแล้วอย่างการเจอกันของโจชัวและเอ็นกานนูที่จบลงไปในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 มีนาคม ตามเวลาประเทศไทย) 

 

นอกจากไฟต์ที่จบไปแล้ว ยังมีไฟต์ใหญ่ระดับมโหฬารอย่างการที่ ไทสัน ฟิวรี กับ โอเล็กซานเดอร์ อูซิก จะชกป้องกันแชมป์กันที่ริยาด ซาอุดีอาระเบีย ในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ด้วย

 

ซึ่งนั่นเปลี่ยนแปลงภาพจำที่แฟนหมัดมวยเชื่อว่า มวยไฟต์ใหญ่มักจะต้องชกในสหรัฐอเมริกา หากไม่ใช่เมดิสันสแควร์การ์เดนในนิวยอร์ก ก็ต้องเป็นเอ็มจีเอ็มแกรนด์ในลาสเวกัส

 

นอกจากเรื่องของมวยแล้ว กีฬาต่อสู้อื่นๆ อย่าง MMA หรือแม้แต่มวยปล้ำดังอย่าง WWE ก็ต่างถูกซาอุดีอาระเบียดึงไปจัดที่ประเทศของพวกเขา เพื่อประกาศให้โลกรู้ถึงความต้องการเป็นศูนย์กลางกีฬาโลกแห่งใหม่เช่นกัน

 

แต่ทางลาสเวกัสก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาพยายามขยับขยายหลายขนาน เพื่อให้มีศักยภาพสามารถต่อสู้กับซาอุดีอาระเบียได้ แม้ว่าโดยภาพรวมแล้ว เม็ดเงินพวกเขาอาจจะไม่เยอะเท่าก็ตาม

 

ปรากฏการณ์ ‘ทรายดูด’ โลกกีฬาแห่งตะวันออกกลาง

 

 

แม้ว่าอาจจะมีการคิดแผนการในการดึงโลกกีฬามาที่ซาอุดีอาระเบียก่อนหน้าปี 2020 แต่คนส่วนมากกลับรู้จัก PIF หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2020 เท่านั้น 

 

ชื่อนี้เป็นที่พูดถึงอย่างมาก หลังความพยายามในการเทกโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2020 แม้ความพยายามของพวกเขาจะไม่ราบรื่น แต่สุดท้ายแล้ว PIF ก็ได้เป็นเจ้าของทีมสาลิกาดงอย่างสมบูรณ์ในเดือนตุลาคมปี 2021 ท่ามกลางการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ของแฟนๆ สโมสร

 

นับแต่นั้นมาถือเป็นช่วงเวลาที่โลกได้รู้จักกับ PIF อย่างเป็นทางการ โดยหลังจากนั้นพวกเขาก็สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับโลกกีฬาอีกหลายอย่าง อาทิ การก่อตั้ง LIV Golf พร้อมกับดึงตัวนักกอล์ฟชั้นนำทั่วโลกไปร่วมงานด้วยข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ

 

การดึงศึก Formula 1 เข้ามาจัดการแข่งขันในประเทศ ต่อจากการเป็นเจ้าภาพในศึก Formula E ที่เป็นมาอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2018 

 

ตามมาด้วยบิ๊กโปรเจกต์ในการโปรโมตลีกฟุตบอลของพวกเขาให้เป็นที่รู้จักด้วยการดึง คริสเตียโน โรนัลโด มาอยู่กับอัล นาสเซอร์ ในปี 2022 และหลังจากนั้นก็มีสตาร์อีกมากมายตบเท้าตามเข้ามาเพื่อรับสัญญาค่าตอบแทนก้อนโต

 

โดยล่าสุดพวกเขาก็เซ็นสัญญาให้การสนับสนุน ATP หรือองค์กรเทนนิสอาชีพชาย ทำให้ปัจจุบันการจัดอันดับโลกฝ่ายชายจะถูกเรียกว่า PIF ATP Rankings ซึ่งก่อนหน้านั้นพวกเขาก็เซ็นสัญญากับ WTA หรือองค์กรเทนนิสอาชีพหญิง และดึงทัวร์นาเมนต์สุดท้ายของปีอย่าง WTA Finals มาจัดที่นี่ก่อนหน้านี้ไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม อันที่จริงแล้วความพยายามแรกๆ ในโปรเจกต์การครอบครองโลกกีฬาของพวกเขากลับไม่ใช่กีฬาที่ว่ามาทั้งหมด หากแต่เป็นกีฬาต่อสู้

 

ซาอุดีอาระเบียดึง WWE เข้ามาจัดในประเทศพวกเขาได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014 และปัจจุบันก็จะมีศึกใหญ่อย่าง Crown Jewel จัดที่นี่อย่างสม่ำเสมอ

 

และต่อให้ไม่นับมวยปล้ำ WWE เป็นกีฬา แต่กีฬาระดับโลกชนิดแรกๆ ที่ถูกดึงมาซาอุดีอาระเบียก็ยังเป็นกีฬาต่อสู้อย่างมวยอยู่ดี โดยไฟต์ใหญ่ไฟต์แรกที่ถูกจัดขึ้นที่นี่คือการชกกันของ แอนดี้ รุยซ์ จูเนียร์ กับ แอนโทนี โจชัว ในศึก Clash on the Dunes เมื่อปี 2019

 

นั่นหมายความว่าความทะเยอทะยานของซาอุดีอาระเบียในการเทกโอเวอร์โลกกีฬาไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นไม่กี่ปี หากแต่พวกเขาวางแผนมาอย่างยาวนาน ทว่าแผนของพวกเขาเพิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

 

โดยการดึงกีฬามากมายมาจัดที่ซาอุดีอาระเบียนั้น ทำให้หลายฝ่ายมองว่าซาอุดีอาระเบียพยายามฟอกขาวตัวเองด้วยกีฬา โดยพยายามใช้กีฬาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นมากมายในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ยืนยันว่าเขาไม่สนใจว่าการกระทำของพวกเขาจะถูกเรียกว่าอะไร

 

มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า “หากการฟอกขาวตัวเองด้วยกีฬาจะทำให้ GDP ของประเทศผมเพิ่มขึ้น 1% ผมก็จะยังคงฟอกขาวตัวเองด้วยกีฬาต่อไป”

 

“ผมไม่สนอยู่แล้ว ผมชอบเพียงแค่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น จะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ที่คุณต้องการ แล้วเราก็จะได้ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้นมา”

 

กิดดิยา เมืองแห่งความทะเยอทะยานจากอำนาจเงินตรามหาศาล

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่แสดงออกถึงความต้องการเป็นผู้นำในการเป็นเจ้าแห่งกีฬาและความบันเทิงระดับโลกของซาอุดีอาระเบีย ก็คงต้องเป็นความพยายามในการสร้างกิดดิยา หนึ่งในเมืองภายใต้วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030

 

กิดดิยาถูกวางหน้าที่เป็นเมืองแห่งกีฬาและความบันเทิง ภายใต้แนวคิด Sport Super City โดยจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นส่วนกีฬาและความบันเทิง ส่วนต่อมาคือไลฟ์สไตล์ ซึ่งจะเป็นโซนช้อปปิ้ง ประกอบด้วยแบรนด์สินค้าดังมากมาย และส่วนที่ 3 คือโซนสวนสนุก ซึ่งมีการจับมือกับ Six Flags ผู้นำธุรกิจ Theme Park ระดับโลกมาเปิดบริการที่นี่

 

ทำให้กิดดิยาจะมีทั้งสนามกีฬาที่ทันสมัย พิพิธภัณฑ์โอลิมปิก ศูนย์ e-Sports ที่พวกเขายืนยันว่าจะยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก รวมไปถึงสนามแข่งรถทั้งสนาม F1 และสนามแบบออฟโรด นอกจากนี้ยังมีสนามอเนกประสงค์ที่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ และจุผู้ชมได้มากกว่า 20,000 คนด้วย

 

กิดดิยาเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2018 และมีการออกรายละเอียดพร้อมกับความคืบหน้าในเดือนธันวาคมปีก่อน โดยพวกเขาเปิดเผยว่า มีการลงทุนเฟสแรกมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ (2.64 แสนล้านบาท) และหลังจากนั้นก็มีการอัปเดตโครงการต่างๆ จากเมืองแห่งนี้มาเป็นระยะ

 

กิดดิยาจึงเป็นการยืนยันว่าซาอุดีอาระเบียเอาจริงเอาจังแค่ไหนกับการขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ของกีฬาโลก และนั่นก็ทำให้อีกซีกโลกอย่างลาสเวกัสอาจจะต้องรู้สึกว่าโลกกีฬาที่พวกเขาเคยครอบครองเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน เมื่อมีซาอุดีอาระเบียเข้ามาเป็นผู้เล่นอีกราย

 

การโต้กลับของเมืองแห่งบาปกับหนทางที่พวกเขาจะไม่พ่ายแพ้

 

 

การขยับปรับเปลี่ยนเข้าสู่นโยบายที่ต้องการเป็นศูนย์กลางกีฬาโลกของซาอุดีอาระเบีย อาจจะถือเป็นภัยคุกคามโดยตรงของลาสเวกัส เมืองที่เคยจัดการแข่งขันกีฬาต่อสู้ใหญ่ๆ ของโลกมาตลอด ทั้งมวยสากล, MMA และรวมไปถึง WWE อีกหลายต่อหลายครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนตัวเองของลาสเวกัสนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะอันที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้พยายามจะดึงมวยโลกไฟต์ใหญ่กลับมาสู่เมืองของพวกเขา แต่ต้องบอกว่าอำนาจการตัดสินใจเหนือมวยไฟต์เหล่านี้อยู่ที่โปรโมเตอร์และเอกชนอย่างโรงแรมดังมากกว่าอำนาจของเมืองด้วย

 

แต่ลาสเวกัสพยายามโฟกัสกับกีฬาที่ซาอุดีอาระเบีย ‘ไม่มีทางจัดได้’ มากขึ้น นั่นคือพวกกีฬาลีกระดับเมเจอร์ในประเทศอย่าง NFL, NBA, MLB และ NHL

 

ก่อนการขยายลีกของ NHL ในปี 2017 ในตอนนั้นลาสเวกัสไม่มีทีมกีฬาใดๆ อยู่ในเมืองเลยแม้แต่ทีมเดียว จนกระทั่ง แกรี เบตต์แมน ประธานจัดการแข่งขันของ NHL ประกาศขยายลีก 2014 และลาสเวกัสต่อสู้เพื่อให้พวกเขาได้รับเลือกเป็นเมืองที่จะมีทีม NHL จนกระทั่งพวกเขาทำสำเร็จ กลายมาเป็นทีมเวกัส โกลเดน ไนท์ส ในปัจจุบัน

 

หลังจากนั้นลาสเวกัสก็เดินหน้าดึงดูดทีมอเมริกันฟุตบอลอย่างเรดเดอร์สมาร่วมเมืองได้เป็นผลสำเร็จในปี 2020 โดยมีข้อเสนอล่อตาล่อใจคือสนามแห่งใหม่อย่างอัลลีเจียนต์ สเตเดียม ที่เมืองเก่าของพวกเขาอย่างโอ๊กแลนด์ให้ไม่ได้ 

 

และล่าสุดเมื่อปลายปีก่อน ลาสเวกัสก็มา ‘ไม้เดิม’ ด้วยการดูดทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ หรือโอ๊คแลนด์ เอส์ ทีมเบสบอลในศึก MLB มาร่วมเมืองอีก 1 ทีม ด้วยเงื่อนไขแบบเดียวกับเรดเดอร์ส นั่นคือการมอบสนามแห่งใหม่ให้ ซึ่งพวกเขาก็เพิ่งปล่อยภาพเรนเดอร์สนามใหม่นี้มาเมื่อสัปดาห์ก่อนด้วย

 

นอกจากทีมกีฬาที่ว่ามาแล้ว ลาสเวกัสเองก็มีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้ NBA อนุมัติทีมใหม่ในเมืองแห่งนี้ แต่อาจจะต้องรออีกนาน หลัง อดัม ซิลเวอร์ ประธานจัดการแข่งขันของ NBA ยืนยันว่า ลาสเวกัสมีความเป็นไปได้ที่จะมีทีม แต่อาจจะไม่ใช่เร็วๆ นี้

 

นอกจากกีฬาในประเทศแล้ว พวกเขายังปิดดีลใหญ่ในการเอา F1 มาลงแข่งขันที่เมืองของพวกเขาเป็นผลสำเร็จ แม้จะตะกุกตะกักไปบ้างในการแข่งขันปีก่อนเพราะปัญหาเรื่องพื้นผิวสนาม แต่โดยรวมแล้วผลตอบรับก็ออกมาดีทีเดียว

 

ขณะที่ความพยายามปรับปรุงเมืองในแง่อื่นๆ ของลาสเวกัสก็ทำได้อย่างดี โดยเฉพาะการสร้าง MSG Sphere ซึ่งได้รับขนานนามว่าเป็นอาคารทรงกลมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถูกออกแบบมาให้เป็นศูนย์กลางความบันเทิงของลาสเวกัส ภายในรองรับผู้ชมได้มากถึง 20,000 คน ด้วยทุนสร้างราว 2.3 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 8.14 หมื่นล้านบาท ทำให้กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างราคาแพงที่สุดในลาสเวกัสทันที 

 

MSG Sphere นอกจากจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่แล้ว สถานที่แห่งนี้ยังถูกจองให้เป็นพื้นที่จัด UFC และอาจจะกลายเป็นสถานที่จัดมวยไฟต์ใหญ่ในอนาคตด้วย

 

นั่นคือสิ่งที่ลาสเวกัสทำเพื่อที่จะตอบโต้ซาอุดีอาระเบีย ด้วยการขยายกีฬาในประเทศที่เมืองของพวกเขา และเพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ให้กับเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ซาอุดีอาระเบียยากจะทำตาม และในแง่นี้ถือว่าลาสเวกัสตอบโต้ได้อย่างชาญฉลาดและตรงจุดไม่น้อยเลยทีเดียว

 

การต่อสู้ที่ไม่มีผู้ชนะ และอาจจะไร้ผู้พ่ายแพ้

 

 

แม้โดยรวมแล้วซาอุดีอาระเบียอาจจะทุ่มเงินลงไปกับโครงการขนาดใหญ่เพื่อดึงกีฬาระดับโลกมาจัดการแข่งขันในประเทศของพวกเขามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล เทนนิส มวยสากล ไปจนถึง F1 และ e-Sports แต่คงพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำว่าพวกเขาชนะในสงครามเหนือโลกกีฬาครั้งนี้

 

ต้องเข้าใจว่ายกเว้นแค่ฟุตบอล กีฬาอื่นๆ ที่ซาอุดีอาระเบียดึงมาจัดที่ประเทศของพวกเขาเป็นกีฬาประเภทอีเวนต์ทั้งหมด ไม่ใช่กีฬาประเภทลีก ทำให้ในแต่ละปีจะมีคนดูแวะเวียนมาดูแค่เพียงปีละหน แม้ว่าสุดท้ายแล้วด้วยความต่างของชนิดและปฏิทินกีฬาอาจจะทำให้มีแฟนๆ เข้ามาในประเทศตลอดทั้งปี แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาผูกขาดตลาดกีฬาได้

 

และเมื่อตัดภาพมาที่กีฬาที่แข่งขันเป็นลีกอย่างฟุตบอล ซึ่งพวกเขาไปดึงสตาร์ดังมามากมาย แม้จะได้ความนิยมในระดับโลกเพิ่มขึ้นจริง แต่โดยรวมแล้วแฟนบอลก็ยังมองเป็นแค่ ‘ลีกรองที่มีดีแค่สตาร์ดัง’ เท่านั้น และไม่ได้มองว่ามีอิมแพ็กต์ต่อโลกฟุตบอลมากมายเท่าไรนัก

 

แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ซาอุดีอาระเบียทำสำเร็จอย่างงดงามคือการที่ได้แสงสปอตไลต์ส่องมาที่พวกเขาอย่างเต็มที่ และนั่นนำไปสู่การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 และการยื่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกต่อไปในอนาคตด้วย

 

ขณะที่ลาสเวกัส แม้จะใช้กลยุทธ์ดึงกีฬาในประเทศมาจัดในเมืองของพวกเขามากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องแลกไปคืองบประมาณมหาศาลในการสร้างสนามกีฬาต่างๆ แม้ว่าคนในเมืองจะยินดีที่จะจ่ายภาษีมากขึ้นเพื่อนำเงินเหล่านั้นมาสร้างสนาม ทั้งที-โมบายล์ อารีนา ของเวกัส โกลเดน ไนท์ส, อัลลีเจียนต์ สเตเดียม ของลาสเวกัส เรดเดอร์ส และสนามของลาสเวกัส แอธเลติกส์ ที่จะถูกสร้างขึ้นในอนาคต

 

แต่ภาษีเหล่านั้นก็จะกลับกลายมาเป็นค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ผ่านภาษีมลรัฐหรือ State Tax และจะส่งผลให้ค่าครองชีพในลาสเวกัสแพงขึ้นโดยปริยาย นั่นเองที่อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนลาสเวกัสน้อยลงไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักท่องเที่ยวอาจจะมาเยือนน้อยลงตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แต่พวกเขาอาจจะได้คอกีฬามาเยือนเมืองของพวกเขาแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่นำทีมกีฬาที่เป็นระบบลีกมาอยู่ในเมืองได้ถึง 3 ทีม ทำให้อาจการันตีได้ระดับหนึ่งว่า ในตลอด 5-7 เดือนที่ลีกกีฬาเหล่านี้แข่งขัน จะมีเงินหมุนเวียนเกิดขึ้นในลาสเวกัสทุกๆ สัปดาห์ และเงินดังกล่าวก็ไม่ใช่จำนวนน้อยเลยด้วย

 

จากทะเลทรายสู่ปลายทางที่คอกีฬาใฝ่ฝัน

 

 

ย้อนไปสัก 10 ปีก่อน หากมีคนบอกว่าจะไปซาอุดีอาระเบีย หลายคนอาจจะคิดไม่ออกว่าเขาเหล่านั้นจะไปทำอะไร เพราะนอกจากเรื่องของธุรกิจหรือเหตุผลทางศาสนาแล้ว ก็แทบจะคิดไม่ออกว่ามีความจำเป็นใดต้องเดินทางไปยังดินแดนทะเลทรายแห่งนี้

 

แต่ในปัจจุบัน คอกีฬามีเหตุผลนานัปการที่จะเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คิดย้อนไปก็น่ามหัศจรรย์ที่พวกเขาสามารถเปลี่ยนดินแดนทะเลทรายเช่นนี้ให้กลายเป็นปลายทางในฝันของคอกีฬาทั่วโลกได้

 

เช่นเดียวกันกับที่ลาสเวกัส แม้ภาพของ ‘เมืองแห่งบาป’ จะยังไม่ได้ลบเลือนหายไป แต่ภาพลักษณ์ในการเป็นบ้านของกีฬาใหญ่ โดยเฉพาะหลังจากจัดซูเปอร์โบวล์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ลาสเวกัสมีภาพที่ชัดเจนว่าเป็นหนึ่งในเมืองกีฬาที่ยิ่งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว

 

แม้สงครามทะเลทรายที่ซาอุดีอาระเบียกับลาสเวกัสแย่งชิงความยิ่งใหญ่เหนือโลกกีฬาในครั้งนี้ยังคงดำเนินต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ แต่ภาพลักษณ์ของทะเลทรายในเมืองของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

 

เพราะทุกวันนี้ซาอุดีอาระเบียและลาสเวกัสกลับกลายเป็นเมืองปลายทางของคอกีฬาโดยสมบูรณ์แล้วทั้งคู่นั่นเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X