วันนี้ (2 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา เกียกกาย การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2564 โดย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตอนนี้เกิดความถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก เพราะประชาชนเสื่อมศรัทธาที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เมื่อคุณภาพประชาธิปไตยต่ำลง ทำให้กลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าแทรกแซงได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหารวยกระจุกจนกระจาย ซึ่งในวันนี้ไม่ใช่เรื่องบุญทำกรรมแต่ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไข แล้วเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง ซึ่งยิ่งทำให้คนจนและคนไร้โอกาสถูกซ้ำเติมเข้าไปอีก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเป็นเช่นนั้น
โดยมีรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับในรายงานของ World Economic Forum เมื่อปี 2560 ระบุว่า คนไทยมีรายได้ต่างกันถึง 10.3 เท่า ขณะเดียวกันมีรายงานการศึกษาของ IMF ระบุว่า ทุกครั้งหลังมีโรคระบาด ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนห่างกันมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามบรรเทาผลกระทบก็ตาม
สาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงบประมาณรายจ่ายปี 2564 สำนักงบประมาณเสนอให้มีการปรับปรุงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกับการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินฯ ซึ่งกลับพบว่าไม่มีหน่วยงานใดเสนอปรับลดงบประมาณตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สำนักงบประมาณต้องตัดงบประมาณเอง และสุดท้ายต้องเอาไปไว้ที่งบกลาง ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง เมื่องบประมาณปี 2564 ไม่มีการแก้ไข จึงเป็นเพียงงบประมาณปกติเท่านั้น ไม่ใช่การจัดทำงบประมาณในภาวะฉุกเฉิน ถ้างบประมาณปี 2564 ไม่มีการปรับแผนแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว ก็ต้องไปใช้เงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน กฎหมายโอนงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม สาธิตได้กล่าวถึงงบประมาณจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาทก็มีปัญหามาก เพราะไม่มีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน และทุกอย่างต้องไปขึ้นอยู่ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ทั้งหมด ที่สำคัญ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศว่าห้ามใครมาแทรกแซงเงิน 4 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้ที่จังหวัดตรังพบว่า มีคนแอบอ้างเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี และระบุว่ามีงบในมือ 300 ล้านบาท ใครจะขอให้บอกมา ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะต้องปรับวิธีการกลั่นกรองงบเงินกู้ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ถึงมือประชาชน ปรับหลักเกณฑ์ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินเพื่อให้การปล่อยสินเชื่อถึงผู้ประกอบการ SMEs อย่างแท้จริง และต้องปรับโครงสร้างงบประมาณปี 2564 ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นงบประมาณสำหรับสถานการณ์วิกฤต ไม่ใช่ทำเหมือนงบประมาณปกติแบบที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า