สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า ล่าสุดขณะนี้มีบริษัทที่มีความสนใจเข้ามารับเอกสารการคัดเลือกสำหรับการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) แล้วรวมจำนวน 5 ราย พบบริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล ในเครือกลุ่มซีพีรับเอกสารด้วย ด้าน บมจ.ไทยคม ตั้งบริษัทลูกใหม่คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น รับใบสมัครไปแล้ว
พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กรณีล่าสุดที่ สำนักงาน กสทช. ออกมาเปิดเผยบริษัทเอกชนเข้ามารับเอกสารการคัดเลือกสำหรับการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด พบว่ารายชื่อที่มีความสนใจมากที่สุดคือ บริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งบริษัทในเครือของกลุ่มซีพี ที่มีโอกาสเข้ามาเป็นคู่แข่งขันธุรกิจของ บมจ.ไทยคม (THCOM) เพราะก่อนหน้านี้ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เคยออกมาแสดงความสนในในกลุ่ม Space Tech เนื่องจากเห็นโอกาสที่ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตที่สูงในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ส่องผลงาน 4 หุ้นในพอร์ตเครือ เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์
- เจ้าสัวธนินท์สั่งลุย! เครือ CP เตรียมประมูล ‘ห้างค้าส่ง Metro’ ในอินเดีย คาดดีลนี้มีมูลค่า 3.6-4.4 หมื่นล้านบาท เชื่อเข้ามาช่วยต่อจิ๊กซอว์ Makro
- “เราควรทำธุรกิจเชิงรุก ไม่ควรตั้งรับอยู่ในเมืองไทย” จากปาก ‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ถึงการรวม Makro และ Lotus’s มาอยู่ชายคาเดียวกัน ตั้งเป้าเจาะกำลังซื้อ 2,000 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามต่อไปว่าบริษัทที่มารับเอกสารเพื่อประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียมว่าจะมีการยื่นส่งเอกสารพร้อมจ่ายสมัครจำนวน 5 แสนบาทต่อราย เพื่อให้ได้สิทธิ์เข้าประมูลจริงหรือไม่
“ในการประมูลวงโคจรอบที่แล้วทั้ง NT กับ มิว สเปซ ก็เคยเข้ารับเอกสารสำหรับการประมูลวงโคจรดาวเทียม แต่พอถึงเวลาก็ไม่ได้ส่งใบสมัครเข้าประมูล แต่คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในรอบนี้ที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งของไทยคมคือ แอสเซนด์ แคปปิตอล ในเครือซีพี เพราะก่อนหน้านี้ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มซีพีก็เคยพูดแสดงความสนใจธุรกิจซึ่งจำเป็นต้องใช้ดาวเทียม”
ส่วน บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด นั้น เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่ม Space Tech ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะเข้ามาเป็นคู่แข่งที่คู่มาประมูลในรอบนี้ ส่วน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ในฐานะหน่วยงานของรัฐก็มีบทบาทที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูล
ทั้งนี้ THE STANDARD WEALTH ได้สืบค้นข้อมูลของ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามารับเอกสารการคัดเลือกการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจาก กสทช. ในครั้งนี้ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น เป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ไทยคม (THCOM)
โดยเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 โดยรายชื่อกรรมการของบริษัททั้งหมดจำนวน 4 คน นั่งเป็นผู้บริหารและกรรมการของ บมจ.ไทยคม ทั้งหมดด้วย มีรายชื่อดังนี้
- บุญชัย ถิราติ รองประธานคณะกรรมการ บมจ.ไทยคม
- ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม
- คิมห์ สิริทวีชัย กรรมการ บมจ.ไทยคม
- คณิต วัลยะเพ็ชร์ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ บมจ.ไทยคม
นอกจากนี้ สเปซ เทค อินโนเวชั่น ยังมีที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่เป็นที่อยู่เดียวกับ บมจ.ไทยคม ด้วยคือ เลขที่ 349 อาคารเอสเจ อินฟินิท วัน บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ ชั้นที่ 28 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
เปิดชื่อเอกชน 5 ราย รับเอกสารสมัครประมูลใช้วงโคจรดาวเทียม
พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ล่าสุดขณะนี้มีบริษัทที่มีความสนใจ
เข้ามารับเอกสารการคัดเลือกสำหรับการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) พร้อมลงนามในหนังสือตกลงการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non-disclosure Agreement: NDA) ที่สำนักงาน กสทช. รวมจำนวน 5 ราย ได้แก่
- บริษัท เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด
- บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด
- บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด
- บริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด
ทั้งนี้ กสทช. ยังเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกต่อไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ผู้ที่ประสงค์จะขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) สามารถรับเอกสารได้ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ณ สำนักงาน กสทช.
หลังจากนั้น กสทช. จะมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงกระบวนการประมูลและการกรอกเอกสารแบบคำขอรับอนุญาต (Public Information Session) ในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 และจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาตในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 จากนั้นสำนักงานฯ จะทำการตรวจคุณสมบัติ
โดยใช้เวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกในวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ส่วนวันที่ 7 ธันวาคม 2566 จะจัด Mock Auction ให้ผู้เข้าร่วมการประมูล สำหรับวันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) กำหนดเป็นวันที่ 8 ธันวาคม 2566
“ตอนนี้มีบริษัทเข้ามาขอรับเอกสารการคัดเลือก 5 รายแล้ว มากกว่าครั้งก่อนที่มีผู้มาขอรับเอกสารเพียง 2 ราย ทำให้ค่อนข้างมั่นใจในการจัดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งนี้ว่าจะประสบผลสำเร็จ เนื่องจาก กสทช. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติได้ด้วย”