วันนี้ (27 เมษายน) จิ๊บ-ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 16 ลงพื้นที่สำนักงานเขตใน กทม. เพื่อรับฟังการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ ในสำนักงานเขตถึงปัญหาในการทำงาน
โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจได้สะท้อนปัญหาว่า ปัญหาผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่จะต้องผลักดันให้ออกจากทางเท้าต้องใช้วิธีอะลุ่มอล่วยและการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง ทั้งนี้ ยังพบปัญหารถมอเตอร์ไซค์ใช้ทางเท้าในการสัญจร ด้วยสภาพเมืองและวิถีชีวิตของประชาชน จะมาปรับการใช้กฎหมายทันทีก็อาจเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่โดยไม่จำเป็น เรื่องนี้ถือว่าเจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความยากลำบาก เพราะภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่เทศกิจจะดูไม่ดีในสายตาประชาชน แต่ความจริงแล้วเจ้าหน้าที่เทศกิจเพียงแค่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เทศกิจทำได้เพียงประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือให้ประชาชนเข้าใจเท่านั้น
ศศิกานต์มองว่า สำหรับกรณีนี้สะท้อนเห็นให้ว่าการปฏิบัติงานกับกฎหมายบางอย่างไม่สอดคล้องกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ อย่างเช่น เจ้าหน้าที่กวาดถนนถือว่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงเมื่อใช้อุปกรณ์ไปนานๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีขยะเยอะคุณภาพของอุปกรณ์การกวาดก็จะลดน้อยลง ตนต้องการพัฒนาอุปกรณ์ตรงนี้ให้สามารถลดแรงในการกวาดขยะลงไปได้ ส่วนเจ้าหน้าที่เทศกิจก็มีปัญหาเรื่องขาดแคลนอัตรากำลัง ทั้งข้าราชการ, ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว เพราะมีคนออกมากกว่าคนเข้า
นอกจากนี้ยังพบว่า ปัญหาสำคัญที่สุดที่เจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขตเห็นตรงกันคือ ปัญหาอัตรากำลังไม่เพียงพอกับปริมาณงานและการรวมศูนย์การตัดสินใจในการปฏิบัติงานบางเรื่อง ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งคุณภาพงานและความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน
“จิ๊บเชื่อว่าปัญหาของ กทม. สามารถแก้ไขได้โดยการประสานงาน เช่น การแบ่งงานที่ยังซ้ำซ้อน หรือการรวมศูนย์ไว้ที่ใดที่หนึ่ง ทำให้ประสิทธิภาพงานทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นการประสานงานที่ดีต้องเริ่มจากการยุบรวมหน่วยงานซ้ำซ้อน และหันมาให้ความสำคัญกับบุคลากรทั้งในเรื่องตัวเนื้องาน ค่าตอบแทน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานใน กทม. จะทำให้ กทม. สามารถบริหารงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้สิ่งที่จิ๊บจะทำหากได้รับโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. คือ การบริหารบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าบุคลากรภายในองค์กรเองยังแก้ไขไม่ได้ จะไปแก้ปัญหาภายนอกของประชาชนใน กทม. ได้อย่างไร” ศศิกานต์กล่าว
ส่วนกรณีที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุว่า การใช้งบของ กทม. มีการเปิดเผยรายละเอียดน้อย ปัญหาใหญ่คือการใช้อำนาจที่ไม่ตรงไปตรงมาจนทำให้นักลงทุน นักธุรกิจ และประชาชนเดือดร้อน
ศศิกานต์กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับสิ่งที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวมา และตนมองว่า การใช้งบประมาณใดๆ ที่มาจากภาษีของประชาชนต้องมีความชัดเจนและตรวจสอบได้ ไม่ใช่การหมกเม็ด เพราะการกระทำเช่นนี้คือการคอร์รัปชัน การใช้งบประมาณ กทม. ในยุคของตนจะต้องโปร่งใส ประชาชนทุกคนสามารถตรวจสอบได้จริง