×

เปิดใจ ส้ม-สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ เยาวชนมือ 1 ของโลก ความหวังใหม่ของแบดมินตันไทย

23.11.2024
  • LOADING...

นับเป็นหนึ่งในดาวรุ่งที่น่าจับตามอง สำหรับ ส้ม-สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันสาววัย 18 ปี ซึ่งเธอคือน้องสาวแท้ๆ ของ วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ดีกรีแชมป์โลกแบดมินตันชายเดี่ยว 2023 และเหรียญเงินในโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 

 

สรัลรักษ์ถือเป็นนักแบดมินตันที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในกลุ่มเยาวชนระดับโลก โดยในปี 2024 เธอสามารถคว้าแชมป์รายการสำคัญๆ มาครอง และล่าสุดคือการคว้าเหรียญทองแดงในแบดมินตันเยาวชนโลก 2024 ซึ่ง ณ วันนี้เธอเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลกในระดับเยาวชนจากประเภทหญิงเดี่ยว

 

และนี่คือบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่เธอมอบไว้ให้กับ THE STANDARD SPORT ก่อนเตรียมเก็บตัวเพื่อรอลุยการแข่งขันระดับเวิลด์ทัวร์ในปี 2025 ซึ่งเป็นก้าวใหญ่ก้าวสำคัญของสรัลรักษ์ ในฐานะนักแบดมินตันสาวดาวรุ่งที่น่าจับตามองของวงการแบดมินตันไทย

 

จุดเริ่มต้นสู่วงการแบดมินตัน

 

หนูเริ่มเล่นแบดมินตันตั้งแต่อายุ 5 ขวบค่ะ ที่เริ่มเล่นเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำท่วมปี 2554 แล้วเหมือนหนูอยู่บ้านแล้วไม่มีอะไรทำเลยไปคอร์ตกับพ่อและพี่ชาย ก็เริ่มตีตั้งแต่ตอนนั้นเลยค่ะ 

 

 

ไอดอล (ในและนอก) วงการแบดมินตัน

 

ถ้าในสนามตอนนี้หนูชอบ อันเซยอง ค่ะ ด้วยความที่ตอนนี้เขาเป็นคนที่ครบเครื่องที่สุดในหญิงเดี่ยวเลย เป็นคนที่เกมบุกก็ดี เกมรับก็ดี แล้วก็ทัศนคติ ความนิ่งในระหว่างเกม เขาคือที่สุดเลยค่ะตอนนี้

 

ถ้านอกสนามหนูคิดว่าพี่ลิซ่าค่ะ ลิซ่า BLACKPINK อย่างที่พี่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าสู้มาตลอด แล้วก็ไม่ยอมแพ้ถึงจะมาถึงทุกวันนี้ได้ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้หนูเหมือนกันค่ะ 

 

ถ้าให้พูดกับพี่ลิซ่าได้ หนูอยากบอกว่า “ติดตามผลงานอยู่นะคะ แล้วก็ขอบคุณที่สร้างชื่อเสียงให้คนไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้หนูมากๆ เลยค่ะ” 

 

ให้นิยามตัวตนของ ‘ส้ม สรัลรักษ์’ ชีวิตที่อยู่นอกคอร์ตแบดมินตัน

 

คิดว่าหนูเป็นเด็กที่ค่อนข้างน่าเบื่อ เพราะถ้านอกสนามจริงๆ เป็นคนที่ไม่ชอบออกไปเที่ยวข้างนอก ส่วนมากจะอยู่บ้าน อยู่กับยายแล้วก็อ่านหนังสือ พวกนิยาย แล้วก็นอน ไม่ค่อยออกไปเที่ยวกับเพื่อนหรือว่าทำอะไรมากค่ะ

 

อีกอย่างหนึ่ง หนูเป็นคนที่ชอบกินของอร่อย แล้วก็ชอบออกไปหาของอร่อยๆ กินอยู่เสมอค่ะ (ซึ่งของกินเป็นสิ่งที่ฮีลใจเธอได้ดีในยามเหนื่อยล้า) หนูกินได้ทุกอย่างเลยค่ะ แบบว่าจริงๆ ส้มตำก็ชอบ อาหารญี่ปุ่น อาหารเกาหลี หนูกินได้หมดทุกอย่างเลยค่ะ

 

 

ส่องตารางชีวิตนักกีฬาแบดมินตันที่ควบคู่กับการเรียน ตอนนี้เป็นอย่างไร

 

สำหรับการเรียน ตอนนี้หนูเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ตอนนี้เขาช่วยเรื่องการเรียนค่ะ คือหนูไปเรียนแค่เดือนละ 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ไม่มีเรียนก็จะซ้อมอย่างเดียว คือตื่นมาแล้วก็ซ้อม 07.00-10.00 น. แล้วก็นอนพัก ช่วงบ่ายจะเป็น 14.00-16.00 น. ก็จะเป็นการเวตเทรนนิ่งทำร่างกาย วันหนึ่งหนูซ้อมแค่ 2 รอบค่ะ ส่วนวันไหนที่ไปโรงเรียน ส่วนมากจะเรียนวันเสาร์ไม่ก็วันอาทิตย์ เขาจะเรียนตั้งแต่ 09.00-16.00 น. ก็จะเรียนก่อน แล้วหลังจาก 16.00 น. ถึงจะมาซ้อมแค่ประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งหนูใช้ชีวิตวนลูปแบบนี้มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว ตั้งแต่ประมาณมัธยมศึกษาปีที่ 2

 

การต่อสู้กับความรู้สึกท้อในชีวิตนักกีฬา

 

เคยมีความรู้สึกท้อเหมือนกัน เหมือนมันไม่อยากทำต่อแล้ว เพราะทำทุกวันซ้ำๆ มันก็เบื่อแน่นอนอยู่แล้ว

 

แต่ในเมื่อเราเลือกมาเป็นนักกีฬา หนูว่ามันต้องมีวินัยในตัวเองค่ะ ถึงแม้ว่าจะไม่อยากซ้อม ไม่อยากทำ แต่หนูเลือกที่จะมาทางนี้แล้ว หนูเลือกที่จะเรียน โรงเรียนเขาก็ช่วยแล้ว และเราเลือกที่จะมาทางนี้ 100% ก็ต้องทำมันให้เต็มที่ที่สุด เวลาท้อหรือเหนื่อยก็จะบอกตัวเองว่า จะมายอมแพ้แค่ตรงนี้เหรอ ซ้อมมาถึงขนาดนี้จะยอมแพ้แค่ตรงนี้เหรอ 

 

 

ความรู้สึกของการเป็นมือ 1 ของโลกในรุ่นเยาวชน สิ่งที่เรียนรู้ และข้อคิดจากการแข่งขันในทุกๆ ครั้ง

 

เอาจริงๆ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะขึ้นเป็นมือ 1 ของระดับเยาวชนโลก หนูไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษเลยค่ะ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ลงสนามก็เท่ากันหมด ทุกอย่างตัดสินแค่ในเกม ไม่ได้อยู่ที่ว่าข้างหลังหนูจะมีวงเล็บเลข 1 หรือไม่มี สุดท้ายมันอยู่ในเกมการแข่งขันค่ะ

 

ส่วนสิ่งที่เรียนรู้สำหรับหนูคิดว่าเราต้องปรับตัวตลอดเวลา ในสนามระหว่างเกมก็ต้องเปลี่ยนเกมตลอด เพราะคู่ต่อสู้เขาจะทำให้เราลำบากที่สุด เราก็ต้องแก้เกมแล้วทำให้เขาลำบากเหมือนกัน คือเราต้องปรับเปลี่ยนปรับตัวตลอดเวลาค่ะ และทักษะที่ยังต้องการพัฒนา หนูว่าเป็นเรื่องของเกมรับค่ะ แล้วก็เรื่องความเร็วของหนูที่ยังต้องพัฒนาอีกเยอะเลย 

 

โมเมนต์การแข่งขันที่ประทับใจ

 

อาจจะเป็นล่าสุดที่ BWF World Junior Championships 2024 รอบ 8 คน คือไม่ได้เป็นโมเมนต์ที่จดจำเพราะหนูชนะแล้วได้เหรียญ แต่รู้สึกว่าเกมนั้นหนูเล่นสนุกมาก กล้าเล่น มั่นใจในตัวเอง ออกลูกได้ค่อนข้างดีค่ะ 

 

 

สำรวจมายด์เซ็ตของการเป็นนักกีฬาของ ส้ม สรัลรักษ์ และปัจจัยสำคัญที่นักกีฬาแบดมินตันควรมีติดตัว

 

หนูเพิ่งจะค้นพบมายด์เซ็ตได้ประมาณสักปีที่แล้วหรือ 2 ปีเองค่ะ หนูคิดว่าเราต้องเชื่อมั่นในตัวเอง ลงสนามเราต้องเชื่อมั่นในตัวเองก่อน ต้องเชื่อว่าเราทำได้ ถ้าคิดว่าเราทำไม่ได้ หนูคิดว่าเราก็ทำไม่ได้แล้วแน่นอน แต่ถ้าคิดว่าเราทำได้ มีมายด์เซ็ตว่าเราทำได้แล้วเราออกลูกไป ถึงแม้มันจะไม่ได้แต้มก็ไม่เป็นไร แต่เรามีความมั่นใจในตัวเอง แล้วก็ทำให้เราเล่นได้สนุกมากขึ้นค่ะ

 

ส่วนปัจจัยที่นักกีฬาควรมี หนูคิดว่าเป็นความมีวินัยทั้งในสนามและนอกสนาม เรื่องในสนามก็อย่างที่บอกไป ถ้าเราเหนื่อย เราท้อ แต่ถ้ามีวินัยก็ยังต้องทำอยู่ แล้วก็นอกสนาม เรื่องการดูแลตัวเอง ซ้อมเสร็จแล้วนอนพักอย่างไร นอนพักดีไหม แล้วก็เรื่องกินค่ะ

 

ในอนาคตอยากเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถแบบไหน

 

อยากเป็นนักกีฬาที่ลงสนามแล้วเล่นได้สนุกค่ะ ไม่ได้อยากเป็นคนที่ลงไปแล้วต้องแบกคำพูดอะไรลงไป อาจจะเป็นคนที่ลงไปเล่นในสนามด้วยความที่อยากเล่น ลงไปเล่นแบดมินตันแค่นั้นเอง ซึ่งจริงๆ มันก็ต้องมีความเครียด แต่อยากลงไปเล่นด้วยความสบายใจที่สุดค่ะ 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ส้ม สรัลรักษ์ ได้รับการจับตามอง นอกเหนือจากฝีมือในสนามแล้ว คือการที่เธอเป็นน้องสาวแท้ๆ ของ วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ดีกรีแชมป์โลกและเจ้าของเหรียญเงินในโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 

 

ในส่วนนี้ ส้ม สรัลรักษ์ เล่าถึงความรู้สึกและมุมมองที่มีต่อพี่ชาย โดยเธอยกให้วิวเป็นต้นแบบของการเป็นนักกีฬาอาชีพของเธอเสมอมา

 

 

วิว กุลวุฒิ คือนักกีฬาแบบไหนจากมุมมองของ ส้ม สรัลรักษ์ ในฐานะน้องสาว

 

พี่วิวเป็นคนที่อยู่ตรงกลางได้ดีค่ะ ถ้าเครียดเกินไปเราก็จะตีได้ไม่ดี เกร็ง ถ้าหย่อนเกินไปเราก็จะตีได้ไม่ดีเหมือนกัน แน่นอนว่านักกีฬาต้องมีวินัยอยู่แล้ว พี่วิวเป็นคนที่มีวินัยแล้วก็ตั้งใจ หนูเห็นระหว่างซ้อมเขาโฟกัสทุกลูก ทุกรายละเอียด เป็นคนที่ละเอียดในสนาม เป็นคนที่ค่อนข้างรู้ลิมิตตัวเองว่าเท่านี้โอเค อันนี้ผ่อนเกินไป อันนี้เครียดเกินไป ในสนามเป็นคนที่สุขุมด้วยค่ะ

 

คำแนะนำและกำลังใจที่ได้รับจาก วิว กุลวุฒิ

 

จริงๆ แค่พี่ชายหนูไลน์มาว่าแข่งรอบนี้สบายๆ นะ เล่นสบายๆ เล่นให้สนุก ก็รู้สึกว่ามีกำลังใจมากๆ แล้วค่ะ แค่พี่ชายไลน์มาหนูก็รู้สึกดีแล้วค่ะ

 

วิวให้กำลังใจแบบนี้กับเราบ่อยไหม

 

ส่วนมากค่ะ แต่ส่วนมากหนูจะเป็นคนถามพี่ด้วยว่าเกมวันนี้หนูเล่นเป็นอย่างไร มีข้อเสียตรงไหนที่ควรจะแก้ เขาก็แนะนำตลอดว่าวันนี้ช้าไปนะ วันนี้ออกลูกไม่ดี วันนี้เขาควบคุมเกมเรา อะไรอย่างนี้ค่ะ 

 

การมีพี่ชายเป็นนักกีฬาระดับโลกเคยสร้างความกดดันให้เราหรือไม่

 

ต้องบอกตามตรงว่าสมัยก่อนตอนเด็กๆ กว่านี้ ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว หนูค่อนข้างหมกมุ่นกับเรื่องนี้ว่าต้องทำให้ได้แบบพี่วิว ต้องเป็นเหมือนพี่วิวเท่านั้น ก็เลยกดดันตัวเองมากๆ แต่พอโตขึ้น เหมือนกับมาอยู่ในโลกความจริงว่าจริงๆ แล้วเราก็คือคนละคน ต่างคนต่างใช้ชีวิต แต่หนูก็เอาพี่วิวเป็นแบบอย่างในการเป็นนักกีฬา หนูชื่นชมพี่วิว แล้วพี่วิวก็เป็นแรงบันดาลใจให้หนูในการเล่นกีฬาด้วย ตอนนี้ไม่ได้กดดันเลย เพราะรู้สึกว่าหนูรักแบดมินตัน สนุกที่จะเล่นแบดมินตันจริงๆ ค่ะ 

 

เคยคิดอยากเล่นคู่ Mixed Doubles กับพี่ชายไหม

 

ไม่เคยคุยเรื่องคู่ผสมเลยค่ะ จริงๆ พี่ชายก็ชอบเล่นชายเดี่ยว หนูก็ชอบเล่นหญิงเดี่ยว ก็ไม่เคยคิดเรื่องนี้เลยด้วยค่ะ ไม่เอาดีกว่าค่ะ เกร็ง (หัวเราะ)

 

 

สิ่งที่เรียนรู้จากหลักจิตวิทยากับ ผศ. ดร.วิมลมาศ ประชากุล

 

หนูก็คุยกับอาจารย์ปลาทุกสัปดาห์ค่ะ เขาแนะนำวิธีจัดการความคิดตัวเองด้วย แล้วก็ในระหว่างโอลิมปิก (ของ วิว กุลวุฒิ) หนูได้เรียนรู้ว่าความคิดมันเป็นตัวควบคุมเราทั้งหมดเลย เพราะในสนามถ้าเราคิดไปถึงอนาคตว่าถ้าแพ้จะเป็นอย่างไร คือมันกำหนดเลยว่าเราแพ้แน่นอน เหมือนเราต้องอยู่กับปัจจุบันในเกม ลูกนั้นแล้วก็ช็อตนั้นเลยค่ะ 

 

เราจะนำชุดความคิดนี้ไปใช้ในปีหน้าด้วย

 

แน่นอนค่ะ เพราะว่าปีหน้าก็จะเป็นปีที่เรียกว่าของจริงแล้วค่ะ แบบว่าในรุ่นทั่วไปก็จะเป็นของจริงแล้วค่ะ

 

 

พลังใจสำคัญของ ส้ม สรัลรักษ์

 

หนูว่าครอบครัวค่ะ หนูเป็นคนที่เซนสิทีฟเรื่องครอบครัว เวลาครอบครัวไลน์มาให้กำลังใจหรือถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง หนูก็ใจฟูมากๆ เลยค่ะ

 

ไม่แน่ใจว่ารายการไหน แต่ตอนนั้นหนูกำลังเครียดๆ ไม่เชิงผลการแข่งขัน แต่เป็นฟอร์มของหนูในระหว่างแข่ง คนในครอบครัว พ่อแม่ พี่ ก็ไลน์มาให้กำลังใจ สู้ๆ ทำให้เต็มที่ เราลงไปเพื่อเรียนรู้ในสนาม หนูรู้สึกว่าสุดท้ายมันก็แค่เกมเกมหนึ่งที่ลงไปเล่นแค่นั้นเองค่ะ ก็เล่นได้สนุกมากขึ้น 

 

ความรู้สึกต่อปี 2025 เมื่อกำลังได้ทัวร์นานาชาติเต็มรูปแบบ และการไปเล่นในดีกรีมือ 1 เยาวชน สร้างแรงกดดันให้กับเราไหม

 

หนูคิดว่ามันน่าสนุกดีที่เราจะได้ไปเจอกับคนใหม่ๆ แล้วก็อาจจะเจอความกดดันแบบใหม่ๆ ในสนาม คิดว่ามันน่าสนุก น่าตื่นเต้นดีค่ะ 

 

ส่วนที่ถามว่ากดดันไหม หนูว่าไม่เลยค่ะ ไม่มีผลเลย เพราะสุดท้ายแล้วเป็นมือ 1 มันก็แค่วงเล็บข้างหลังว่า (1) สุดท้ายมันอยู่ในสนาม เราตัวต่อตัวในสนามในเกมเท่านั้นค่ะ 

 

 

ตั้งเป้าหมายปีแรกในการแข่งขันรุ่นทั่วไปและการเป็นนักแบดมินตันอาชีพไว้แบบไหน

 

ช่วงปีแรกถ้าเป็นอันดับโลกหนูคิดว่าสักอันดับ 150 หรือว่า 100 ถ้าเป็นไปได้ แล้วก็อยากจะได้แชมป์ชาเลนจ์ คือมันจะเป็นเลเวล ก็จะมี International Series, International Challenge แล้วก็ Super 100, 300, 500, 750 และ 1,000 หนูอยากจะได้ที่ Challenge ก่อน อยากจะทำให้ได้ค่ะ

 

ส่วนเป้าหมายระยะยาว แน่นอนว่าโอลิมปิกก็เป็นเป้าหมาย หนูว่าเป็นเป้าหมายของนักกีฬาแทบทุกคนค่ะ แล้วก็รายการ World Championships เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งด้วย

 

มองอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้าไว้แบบไหน

 

จริงๆ หนูอยากเป็นนักแบดมินตันต่อไปค่ะ จะอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า ก็หวังว่าตัวเองจะขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงแบบ Top 10 ส่วนถ้าไม่ได้เป็นนักกีฬาแบดมินตันต่อ หนูก็ยังไม่แน่ใจอนาคตตัวเองเหมือนกันว่าจะไปทำอะไรด้านไหน ไม่รู้ว่าจะไปเรียนหรือเป็นโค้ช แต่ถ้าเป็นไปได้จริงๆ หนูอยากเป็นนักกีฬาต่อค่ะ 

 

 

คำแนะนำจาก ส้ม สรัลรักษ์ ถึงคนที่กำลังไล่ล่าความฝัน

 

หนูว่าคงต้องให้เวลาตัวเองนิดหนึ่งในการค้นหาว่าเรารักทางนี้จริงๆ หรือเปล่า เราทำสิ่งนี้ด้วยความรักจริงๆ หรือทำเพราะโดนบังคับ คงต้องคุยกับตัวเองให้มากๆ ว่าเราต้องการมันจริงๆ หรือเปล่า 

 

สุดท้ายอยากฝากพี่ๆ ทุกคนติดตามผลงานแล้วก็ซัพพอร์ตหนูด้วยค่ะ หลังจากนี้หนูจะพยายามฝึกซ้อมให้หนักขึ้น จะพยายามทำผลงานให้ดีในรุ่นทั่วไปค่ะ 

 

ชมบทสัมภาษณ์ เปิดใจ ส้ม-สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันเยาวชน มือ 1 โลก น้องสาว วิว กุลวุฒิ

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X