×

ชนะท้องถิ่น เพื่อเข้าวินระดับชาติ: ‘ศรายุทธิ์’ กุนซือพรรคส้ม เจาะสนามนายก อบจ.

17.12.2024
  • LOADING...
ศรายุทธิ์ ใจหลัก

HIGHLIGHTS

  • ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน วางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ โดยให้ความสำคัญกับการทำนโยบายที่ตอบโจทย์แต่ละพื้นที่ และสามารถทำได้จริง จึงต้องใช้เวลาเตรียมตัว และไม่ได้ส่งผู้สมัครจำนวนมากเหมือนสมัยคณะก้าวหน้า
  • เปิดเผยเหตุผลที่เลือกส่งผู้สมัครลงในแต่ละจังหวัด พร้อมวิเคราะห์ในมุมคนทำงาน จังหวัดที่ดูท้าทายก็ยังมีโอกาส ส่วนจังหวัดที่มี สส. มาก ไม่ได้แปลว่าจะชนะง่ายเสมอไป
  • เขามองว่าการเมืองในปี 2568 ในภาพรวมยังเหมือนเดิม จึงเป็นเวลาที่พรรคประชาชนจะบริหารจัดการเรื่องภายใน
  • ยืนยันว่าพรรคประชาชนจะส่งแคนดิเดตชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2569 แน่นอน ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการ คาดว่าจะเปิดชื่อได้ในช่วงกลางปีหน้า

การเมืองระดับชาติในปี 2567 เริ่มคงที่ แต่สนามการเมืองท้องถิ่นกลับเริ่มคึกคัก และส่อแววพลิกผัน เมื่อปี่กลองการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เริ่มดังขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในต้นปีหน้า วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จะตรงกับวันเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ทั้งประเทศ

 

ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งในระดับจังหวัดหนนี้จะดึงดูดความสนใจได้ถึงระดับประเทศ เมื่อพรรคประชาชนหวังสร้างสถิติใหม่ ชิงเก้าอี้นายก อบจ. ของตนเอง แต่ด้วยยุทธวิธีที่ต่างจากวาระที่แล้ว สมัยที่คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครทั้ง 42 จังหวัด ครบทุกภูมิภาค แต่กลับไม่สามารถเอาชนะได้เลย

 

THE STANDARD มีโอกาสสนทนากับ ศรายุทธิ์ ใจหลัก ผู้วางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งมานับแต่ยุคก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ จวบจนได้สถานะ ‘เลขาธิการพรรคประชาชน’ ในปัจจุบันเขาเดินหมากอย่างไรบนสมรภูมิเฉพาะหน้า คือการเลือกตั้งนายก อบจ. ต้นปี 2568

 

“จริงๆ วิธีคิดผมเรียบง่ายมากนะ” เลขาธิการพรรคสีส้มตอบด้วยท่าทีปลอดโปร่ง “ผมก็รู้ว่าคนที่ถามผม เขาคาดหวังคำตอบที่น่าจะมีอะไร แต่ความจริงแทบไม่มีอะไรเลย” 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

แม้พรรคประชาชนจะพ่ายแพ้ในจังหวัดราชบุรีและอุดรธานี ทั้งยังต้องลุ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ แต่พรรคก็ยังเตรียมขุนพลไว้แล้วถึง 12 คนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และเตรียมทยอยเปิดตัวเพิ่มอีกราว 5-6 คน

 

ศรายุทธิ์ประกาศเป้าหมายชัด สนามเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2568 พรรคประชาชนต้องมีนายก อบจ. อย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 ภูมิภาค เป้าหมายนี้จะเกินเอื้อมหรือสมเหตุสมผล ในเมื่อพรรคประชาชนมุ่งหวังชนะการเลือกตั้งด้วย สส. 270 ที่นั่งในปี 2570

 

“เหตุที่ผมอยากชนะมากๆ ในสนามการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะในการแข่งขันแบบ 1:1 เพราะนี่คือภาพความเป็นจริงในปี 2570 เพราะมีความเป็นไปได้ว่าเราจะต้องเจอกับคู่แข่งในลักษณะนี้ทั้งหมด” ศรายุทธิ์กล่าวกับ THE STANDARD

 

“นี่คือบททดลอง ยาก แต่ต้องทำให้ได้ เพื่อเราจะได้รู้ว่าจะชนะแบบไหน”

 

ชวนฟังคำตอบของกุนซือแห่งสนามเลือกตั้งนายก อบจ. เขามองเห็นโอกาสและความท้าทายใดบ้างในแต่ละพื้นที่เป้าหมาย โยงไปสู่การประเมินฉากทัศน์การเมืองปี 2568 ตลอดจนการเตรียมสู้ในสนามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ครั้งใหม่ ซึ่งรออยู่อีกไม่ไกล

 

มีบทเรียนใดบ้างจากสมัยคณะก้าวหน้า ที่นำมาปรับใช้ในการแข่งขันของพรรคประชาชนวันนี้

 

ศรายุทธิ์: ต้องย้อนไปสมัยพรรคอนาคตใหม่ เราต้องการสร้างพรรคให้เป็นสถาบัน แนวคิดนี้สำคัญ เราจึงต้องสร้างพรรคลงไปถึงระดับรากหญ้า ท้องถิ่น

 

นโยบายหลักของเราเป็นเรื่องกระจายอำนาจ การจะทำนโยบายนี้ให้เป็นจริง ต้องเข้าใจกฎหมายและกลไกปัจจุบันก่อน ถ้าไม่เข้าไปบริหารจะเข้าใจได้อย่างไร เราต้องทำจริงให้เห็น 

 

นี่คือเหตุผลที่เราลงมาทำการเมืองท้องถิ่น เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จึงจำเป็นต้องทำในนามคณะก้าวหน้า ตอนนั้นเป็นช่วงฉุกละหุก และพรรคก้าวไกลยังก่อตัวยาก เราจึงต้องการให้ สส. ที่เหลืออยู่มุ่งมั่นทำงานในสภาไปก่อน แล้วยกภาระตรงนี้มาให้คณะก้าวหน้า ตอนนั้นผมเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

สิ่งที่ได้เห็นคือ ท้องถิ่นยึดโยงกับตัวบุคคล กับผู้สมัครค่อนข้างมาก เพราะจะรู้จักกัน เป็นญาติพี่น้อง อย่างตัวผมเองก็มีญาติเป็น ส.อบจ. เราแข่งขันกับญาติ กับเพื่อน ดังนั้นตัวผู้สมัครต้องใกล้ชิดกับประชาชนจริงๆ 

 

อีกเรื่องคือประชาชนไม่ค่อยเข้าใจนโยบาย ไม่เข้าใจการเมืองท้องถิ่น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบทบาทของท้องถิ่นทำอะไรบ้าง ยิ่ง อบจ. คนเข้าใจน้อยมากว่าทำหน้าที่อะไร ดังนั้นการที่เราจะขายนโยบายได้ต้องใช้เวลาเตรียมตัวพอสมควร การจะสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์ได้ต้องใช้เวลาในการคิด ศึกษา ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปรับสมัครแล้วส่ง ไม่ได้

 

โจทย์สมัยนี้ต่างจากเดิมด้วย เมื่อการเลือกตั้งปี 2563 ความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งยังต่ำมาก อยู่ที่ 17-18% เมื่อถูกยุบพรรค เราจึงพยายามทำให้คนรู้จักเรา และเข้าใจเรามากขึ้น เป้าหมายหลักอยู่ตรงนี้ เพราะประชาชนยังมีความเข้าใจพรรคเราน้อยมากในวันนั้น 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ดังนั้น เราจึงส่งผู้สมัครค่อนข้างเยอะ และไม่ได้มีกระบวนการคัดสรรอย่างเข้มงวด แทบจะเป็นว่ามีใครสมัครเข้ามา พอคุยกันได้ก็ส่งแล้วเพื่อให้เยอะที่สุด ให้เป็นที่รู้จักมาก แต่ปัจจุบันความคิดเราเปลี่ยน ตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเราแล้วในประเทศนี้ โจทย์ของเรารอบนี้คือการส่งคนไปทำหน้าที่ส่งมอบนโยบายให้สำเร็จ

 

รอบนี้เราจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ เพราะรอบนี้เราส่งไปในฐานะตัวแทนของพรรค ไปทำนโยบายให้สำเร็จ

 

แปลว่าผู้สมัครของพรรคทุกคนก็ถือเป็นหัวกะทิใช่หรือไม่

 

ศรายุทธิ์: เรื่องหัวกะทิหรือเปล่าผมก็ไม่กล้าจะตอบว่าทุกคนเป็นหัวกะทิ แต่เราเน้นกระบวนการในการทำงานมากกว่า ว่าเส้นทางของผู้สมัครแต่ละคนเป็นอย่างไร เรามีการตั้งคณะกรรมการสรรหา มีองค์ประกอบหลายส่วน ทำให้จำนวนคนได้มาน้อยมากหลังจากลงไปสัมภาษณ์

 

จากนั้นมีการวางตัวเบื้องต้นก่อน โดยยังไม่ประกาศเป็นผู้สมัคร เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และเข้าสู่กระบวนการอบรม ปรับฐานความคิดให้เข้าใจและรู้จักพรรคจริงๆ ให้มีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และต้องลงไปทำการบ้าน คือฟังเสียงประชาชน รวมปัญหาในพื้นที่มาเปลี่ยนเป็นนโยบาย 

 

จากนั้นทีมงานนโยบายจะตรวจดูว่าตอบโจทย์หรือไม่ กฎหมายเปิดช่องให้ทำหรือไม่ ถ้าทำได้ ทำอย่างไร สอดคล้องกับงบประมาณหรือไม่ ถ้าคุณมีงบประมาณ 500 ล้าน คุณไปเสนอโครงการ 1,000 ล้าน ก็เป็นไปไม่ได้ คุณต้องเสนอมาแล้วให้คณะกรรมการแก้อีก ทำอย่างนี้อยู่ 3 รอบ

 

ดูอย่างกับกระบวนการทำวิทยานิพนธ์เลย

 

ศรายุทธิ์: คล้ายๆ แบบนั้น เท่าที่เราฟังจากผู้อบรมเขาก็ตกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่าจะเข้มขนาดนี้ เหมือนมาเรียนหนังสือ (หัวเราะ) 

 

ผมเลยไม่กล้ายืนยันว่าผู้สมัครเราหัวกะทิหรือเปล่า ก็จะเห็นว่าเป็นคนธรรมดาทั่วไป มีหลากหลายมาก นักการเมืองเก่า นักการเมืองท้องถิ่น ก็ใช่ว่าจะไม่มี เทคโนแครต หมอ ข้าราชการ ไม่ใช่ระดับท็อปของประเทศ กลางๆ แต่ก็มีความรู้ในสายงานของเขา

 

 

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และศรายุทธิ์ ในการแถลงข่าวเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. เพิ่มเติม 12 จังหวัด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 

 

 

พื้นฐานของเราไม่ได้โดดเด่นมากขนาดนั้น ผู้สมัครคุยกันเข้าใจกันได้ แต่ที่เราให้ความสำคัญคือการทำนโยบายและการทำงานร่วมกัน เขาเข้าใจแนวทางการหาเสียงของเราหรือไม่ ต้องไม่ซื้อเสียงนะ คุณเชื่อกับเราแบบนี้ไหม ผมว่ากระบวนการทำงานร่วมกันของเราเป็นตัวปรับให้นโยบายตอบโจทย์

 

หลักคิดที่เรานำเสนอ ‘อบจ.ประชาชน ดูแลทุกคน ทั่วถึง เท่าเทียม’ ไม่ได้เริ่มจากเรานะ แต่เริ่มจากรับฟังนโยบายของแต่ละที่แล้วนำมาประมวล นโยบายส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการดูแลคนจริงๆ ตั้งแต่แรกเกิด การศึกษา ผู้ป่วย กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ น้ำประปา จึงพัฒนามาเป็นการยกระดับบริการสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ

 

จุดไหนที่ทำให้ตัดสินใจตั้งเป้าหมายเป็น ‘ต้องได้ 1 นายก อบจ. ต่อ 1 ภูมิภาค

 

ศรายุทธิ์: ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งเราก็มักจะวางเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานทุกครั้ง แน่นอนเราต้องการได้นายก อบจ. รอบนี้ต้องชนะให้ได้เพื่อทำนโยบายให้สำเร็จ

 

ส่วนทำไมต้องเป็น 5 ภูมิภาค อย่างแรก แต่ละภูมิภาคมีการแข่งขันที่แตกต่างกัน เรารู้ว่าส่วนใหญ่ต้องสู้กับตระกูลใหญ่ หรือ ‘บ้านใหญ่’ ที่มีอิทธิพล ระบบอุปถัมภ์ที่หนาแน่น แต่ความต่างคือแต่ละพื้นที่จะมีฐานการสนับสนุนของพรรคการเมืองคู่แข่งของเราที่ต่างกันไป

 

ถ้าเราชนะได้ทุกภูมิภาค เราก็มีความมั่นใจมากขึ้นในการเลือกตั้งในอนาคต เพราะเราชนะในสนามนี้ได้ เราก็นำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติได้

 

ภาพที่ผลิตโดยพรรคประชาชน 5 เสาหลักนโยบายที่เป็นแนวคิดของ นายก อบจ. ของพรรคประชาชน

 

 

 

 

ปัจจัยต่อมา ในแต่ละภูมิภาคมีปัญหาความเดือดร้อนที่เป็น Pain Point ของแต่ละที่ก็แตกต่างกันบ้าง ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว เรื่องพื้นฐานอาจจะเหมือนๆ กัน แต่ความรุนแรงของปัญหาไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่เราเอาชนะได้แต่ละที่ เราจะสามารถทำนโยบายของแต่ละภูมิภาค เมื่อวันหนึ่งเราได้เป็นรัฐบาล เราจะสามารถส่งมอบนโยบายที่สอดคล้องตอบโจทย์ในแต่ละภูมิภาคได้

 

จากความพ่ายแพ้ในสนามอุดรธานี ทำไมในการแถลงข่าว คุณใช้คำว่า ‘ยังไม่สำเร็จ แต่ไม่เคยล้มเหลว’

 

ศรายุทธิ์: ในการลงสนามแข่งแต่ละครั้ง ผมเองก็จะมีเส้นที่จะไม่ให้หลุด ส่วนเป้าหมายแน่นอนว่าเราวางสูงตลอด เพราะเราเชื่อว่าการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องจะทำให้เราไปต่อได้ แต่ไปไกลแค่ไหนอยู่ที่ปัจจัยแวดล้อม

 

เส้นที่ไม่ให้หลุดก็คือ ต้องเพิ่มขึ้น ต้องไม่น้อยกว่าเดิม ไม่ใช่ทำงานเลือกตั้งแล้วฐานเสียงเราหาย อย่างนี้ถือว่าล้มเหลว ผมจึงบอกว่าทุกการเลือกตั้งของเรายังไม่ล้มเหลว แต่ยังไม่สำเร็จ คือยังไม่สามารถเอาชนะได้

 

 

ณัฐพงษ์ และ ศรายุทธิ์ แถลงข่าวแสดงความยินดีกับ ศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ. อุดรธานี ของพรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนนำ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567

 

สำหรับจังหวัดอุดรธานีมีความยากค่อนข้างมาก เรากำลังแข่งกับเจ้าของพื้นที่ซึ่งครองมานานมาก ฐานความนิยมในระดับพรรคของเขาก็สูงอยู่แล้ว เพียงแต่เราทำงานหนัก ทุ่มเท แนวโน้มก็ออกมาดีจริงๆ 

 

ผมได้ลงไปในพื้นที่เยอะ เดินคุยกับประชาชน สิ่งที่เราเห็นคือประชาชนตื่นตัวขึ้น เปิดใจกับเรามากขึ้น คนแทบทุกวัยโอเคกับเรามาก โดยเฉพาะหลังจากคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ไป เห็นได้ชัดเลยว่าประชาชนสนับสนุนเรา

 

เพียงแต่ว่าเราผิดพลาดไปหน่อยก็คือ คนที่เรามองเห็นเป็นส่วนน้อย ต้องเข้าใจว่าช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเป็นฤดูเกี่ยวข้าว ประชาชนจะอยู่ในท้องไร่ท้องนา เราไปเจอประชาชนแค่ 30% ของพื้นที่เอง คนที่เห็นว่าสนับสนุนเราเป็นส่วนน้อย คนส่วนมากเราไม่ได้เจอ ทำให้เราอาจจะประเมินพลาด

 

พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ผมไม่คิดว่าจะแพ้เยอะขนาดนี้ แน่นอนคนภายนอกอาจจะมองว่าไม่น่าเกลียดหรอก แพ้ 50,000 คะแนน แต่ในมุมเราเห็นว่าประชาชนสนับสนุนจริงๆ นะ น่าจะสูสีกว่านี้ หรืออาจจะพลิกชนะด้วยซ้ำ แต่เราก็มาตระหนักว่าคนที่เรามองเห็นเป็นแค่ 30% จริงๆ

 

บทเรียนที่ดีคือ แนวทางชนะของเราคือการลงไปสื่อสารนโยบายกับประชาชน ให้เข้าใจนโยบาย และเห็นความตั้งใจของเรา เขาก็น่าจะเลือกเรา เพราะเราตอบได้ว่าเขาจะได้อะไรจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าเงินซื้อเสียงแน่นอน 

 

หลายคนบอกว่าชนะเพราะซื้อเสียง ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องแบบนี้ เพราะผมเชื่อว่านโยบายที่ดีมีมูลค่าสูง แต่เราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจและเห็นภาพให้ได้ 

 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

จุดอ่อนของอุดรธานี เนื่องจากเราแบ่งทีมงานหาเสียงออกเป็น 9 ทีม ไม่ใช่ทุกทีมจะมีการสื่อสารที่ดี ผมคิดว่านี่เป็นจุดอ่อนที่ต้องทำให้ได้มากกว่านี้ คือทุกคนต้องสื่อสารนโยบายได้ทุกเรื่อง ถ้าเราปรับตรงนี้ได้ผมก็เชื่อว่ามีโอกาสทุกพื้นที่ 

 

ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องอิทธิพล ซื้อเสียง คือมีส่วน แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด ปัจจัยชี้ขาดคือสารของเราไปถึงประชาชนได้หรือไม่ ซึ่งต่างจากการเมืองระดับชาติ แกนนำทุกคนสื่อสารไปในทิศทางเดียวกันทุกช่องทาง ประชาชนทุกคนเห็นภาพเหมือนกันทั้งประเทศ เพราะมีความสนใจ แต่การเมืองท้องถิ่นเมื่อประชาชนไม่ได้สนใจ สิ่งที่เราคิดจะไปถึงประชาชนได้อย่างไร ถ้าเราอุดช่องโหว่เรื่องการขายตรงได้ พูดทุกหลังคาเรือน พูดกับคนทุกคนที่เราเห็น ผมเชื่อว่าถ้าเราทำได้ดีพอเราก็ชนะได้ทุกที่

 

ตอนนี้ผมพยายามทำให้ นายก อบจ. แต่ละทีมเข้าใจว่าเรื่องนี้สำคัญ ผมเป็นคนอบรม ส.อบจ. ทุกคนเอง ทุกคนต้องพูดเรื่องนโยบายได้ เพราะ นายก อบจ. ไม่มีทางพูดได้ทั้งจังหวัด รวมถึงทีมงาน สมาชิกพรรคทุกคนในพื้นที่ต้องพูดได้

 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

เจาะลึกเป็นรายจังหวัด เห็นโอกาสอะไรในพื้นที่เหล่านี้ บางจังหวัดก็ดูจะมีความท้าทายมาก

 

ศรายุทธิ์: หน้าที่ของเราคือพยายามหาความเป็นไปได้ เมื่อเจอแล้วก็ทำให้เกิดขึ้นจริง ทุกการเลือกตั้งเราจะทำอย่างนี้ตลอด

 

สุราษฎร์ธานี

  • เป็นจังหวัดที่มีฐานความนิยม สส. แบบบัญชีรายชื่อ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของภาคใต้ เป็นปัจจัยที่จับต้องได้มากที่สุดราว 30%
  • หลังการจับขั้วรัฐบาล พื้นที่ภาคใต้กำลังต้องการความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทางการเมือง แม้เราจะมีความนิยมระดับหนึ่ง แต่ยังมีคนใต้ที่ไม่ไว้วางใจเรา แทนที่เราจะถอยห่าง เราก็ควรจะเข้าไปให้เขารู้จักเรามากขึ้น
  • ผู้สมัครของเรามีความเหมาะสม มีความตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของพรรค
  • คู่แข่งของเราแข่งขันกันอย่างดุเดือด เราก็มีโอกาสเป็น ‘ตาอยู่’ ได้ อย่างที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลพูด เพราะหากเรามีฐานความนิยมอยู่ บวกไปอีกไม่ถึง 10% เราก็มีโอกาสชนะ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นพื้นที่ซึ่งหวังได้ หากเราทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็นก็ไม่ยากเท่าอุดรธานี

 

เชียงใหม่

  • เป็นไปได้ว่าจะซ้ำรอยกับอุดรธานี แต่ผมมองว่าทักษิณไม่ได้มีส่วนมากนักในชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในอุดรธานี
  • เป็นการสู้กัน 1 ต่อ1 แม้คะแนนนิยมจะสูง แต่ยังไม่พอจะชนะ เพราะต้องการคะแนนนิยม 51% คือมากกว่าที่พรรคเคยทำได้ในจังหวัดนี้
  • เวลานี้เชื่อว่ายังมีโอกาสดีกว่าอุดรธานี แต่ถ้าแพ้ก็ไม่ได้เสียใจ แพ้ก็คือแพ้ และอาจชนะได้เหมือนกัน 50:50 ยังก้ำกึ่ง คิดว่าต้องประเมินอีกทีสัก 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง

 

 

ภาพแสดงว่าที่ผู้สมัคร นายก อบจ. ของพรรคประชาชน 12 คน ที่เปิดตัวเพิ่มในพื้นที่จังหวัดต่างๆ

 

 

สื่อมวลชนวิเคราะห์กันว่า 3 จังหวัดที่ดูจะได้เปรียบ คือ ตราด สมุทรปราการ และภูเก็ต อิงจากผลการเลือกตั้ง สส. ของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมา

 

ตราด

  • เป็นเป้าหมายสำคัญ เป็นพื้นที่เล็ก มี สส. คนเดียว ความรู้สึกจึงไม่ต่างกับการเลือกตั้ง สส. มากนัก ไม่ต้องแบ่งทีมงานเป็นหลายทีมเหมือนจังหวัดใหญ่ที่ต้องอาศัยการบริหารซึ่งเป็นเรื่องยาก
  • มี นายก อบจ. คนเดิมมายาวนาน ประชาชนคงอยากเห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง
  • ผู้สมัครเป็นตัวเลือกที่ดี มีประสบการณ์มาก ประชาชนน่าจะกล้าเลือกของใหม่ ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่ามีโอกาสสูง

 

สมุทรปราการ

  • เป็นพื้นที่ซึ่งเราชนะยกจังหวัด ฐานความนิยมสูง พูดง่ายๆ คือเราได้คะแนนเท่าเดิมก็ชนะได้ 
  • โจทย์คือจะเอาคนกลับมาเลือกตั้งได้อย่างไร ปัจจัยที่ไม่เป็นคุณกับเราคือวันเลือกตั้งที่จัดขึ้นในวันเสาร์ก็ทำให้หนักใจเหมือนกัน ว่าจะนำคนกลับมาเลือกตั้งได้แค่ไหน
  • ตัวผู้สมัครเองมีคุณสมบัติที่ดีมาก รวมถึงทีมงานเองก็มีความเหมาะสม จึงเชื่อว่าโอกาสสูงพอๆ กับตราด

 

ภูเก็ต

  • แม้เราจะได้ สส. ทั้งจังหวัด และมีความเป็นเมือง แต่ส่วนตัวผมหนักใจกว่า 2 จังหวัดแรก เพราะเราน่าจะได้แข่งกับ นายก อบจ. คนเดิม 1:1 
  • ฐานนิยมของพรรคเราอยู่ที่ 35% โดยประมาณ ยังไม่สามารถชนะได้ จึงต้องเพิ่มไปอีกไม่น้อยกว่า 15% จึงเป็นสนามที่ไม่ได้ง่าย ต้องทำงานหนักจริงๆ ทำผลงานได้ระดับกลางๆ ไม่มีทางชนะเลย
  • ผู้สมัครที่มีประวัติดีเป็นที่รู้จักระดับหนึ่ง ต้องติดตามว่าความนิยมของตัวผู้สมัคร และประวัติการทำงานที่ต่อเนื่องจะเพิ่มคะแนนบวกได้หรือไม่ 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

 

จากการเมืองท้องถิ่นมาสู่การเมืองระดับชาติ ประเมินสถานการณ์ในปี 2568 ไว้อย่างไรบ้าง และพรรคประชาชนจะเดินต่ออย่างไรในปีหน้า

 

ศรายุทธิ์: ในภาพรวมผมคิดว่าความขัดแย้งต่างๆ ไม่น่าจะไปไกล ภาพใหญ่ของการเมืองไทยยังเป็นภาพเดิมของปีที่แล้ว คือชนชั้นนำพยายามจะกุมทุกอย่างของประเทศนี้ไว้ ส่วนผู้ที่ท้าทายก็คือเรา ภาพใหญ่ก็ยังคงเป็นทิศทางนี้

 

แน่นอนในระหว่างชนชั้นนำก็มีความขัดแย้ง หรือเรื่องผลประโยชน์บางอย่าง แต่ผมคิดว่าเป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ไม่นำมาสู่การแตกหักหรือเกิดวิกฤต เพื่อให้ยังรักษาอำนาจการนำ เขาจะประนีประนอมกันได้ 

 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

เราจึงกลับมามองที่ตัวเรา เรามีความเสี่ยงเรื่อง สส. ที่อาจจะโดนตัดสิทธิ ในแง่ของการต่อสู้เรื่องคดีต่างๆ เราก็ทำเต็มที่ แต่ทุกคนก็รู้ว่าไม่ใช่ตัวชี้ขาดที่จะทำให้เรารอด ขณะเดียวกันผมเองไม่ได้กังวลนักว่า หากเราแพ้แล้วจะเกิดผลกระทบอะไร

 

เรื่องที่เราทำตั้งแต่เปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ถือว่ามาถูกที่ถูกเวลามาก เป็นเวลาที่ความนิยมเราสูง มีบุคลากรมากแล้ว แต่เรายังขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งคุณณัฐพงษ์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ภายนอกอาจมองไม่เห็น แต่ภายในกำลังมีความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร

 

ผมมองว่ากระแสการเมืองคงไม่สูง ความสนใจและตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนเริ่มน้อย ในช่วงเวลานี้เราก็ต้องเพิ่มคุณภาพในการทำงาน เน้นสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องกังวลกับภายนอกมากนัก ทั้งบทบาทในสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชน ซึ่งหลังจากนี้จะได้เห็นเนื้องานมากขึ้น เพื่อเก็บองค์ความรู้นำไปสู่การจัดทำนโยบาย

 

สำหรับงานภายในพรรค ด้านนโยบายที่คุณศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบ ต้องนำทั้ง 300 นโยบายมาพิจารณาว่าเรื่องไหนจะพัฒนาต่อ เรื่องไหนจะปัดตก ไปต่อได้ยาก เราต้องทำให้มีความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง

 

 

ณัฐพงษ์และศรายุทธิ์ในการแถลงข่าวเปิดตัวกรรมการบริหารพรรคประชาชน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

 

นอกจากนี้คุณณัฐพงษ์กำลังทำโปรเจกต์ที่ผมคิดว่าดีมากๆ คือ KM (Knowledge Management) เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดที่เราเคยทำมาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้ค้นคว้าเรื่องต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งผมคิดว่าจะยกระดับการทำงานของพรรคได้ทั้งหมดหากทำได้สำเร็จ

 

และยังมีงานการสื่อสารกับสมาชิก พัฒนาช่องทางต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ให้สมาชิกใกล้กับพรรคมากขึ้น รวมถึงการจัดทำโครงสร้างให้พรรคเป็นของสมาชิกจริงๆ 

 

พรรคประชาชนเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2569 ไว้บ้างหรือไม่

 

ศรายุทธิ์: พูดตรงๆ ณ วันนี้เรามองไว้อยู่แล้ว กรุงเทพฯ เป็นสนามที่สำคัญและเราให้น้ำหนัก ตอนนี้ก็มีอยู่ในรายชื่อ 4-5 คนที่จะเป็นแคนดิเดตผู้สมัคร ซึ่งต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายในการตัดสินใจลงการเมือง โดยเฉพาะในตำแหน่งสำคัญ ดังนั้นการพูดคุยทำความเข้าใจกันต้องใช้เวลานิดหนึ่ง

 

หลายๆ คนที่คนภายนอกอาจจะเห็นว่ามีความพร้อม แต่ก็อาจมีปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ครอบครัว เรื่องนั้นเรื่องนี้ จึงต้องใช้เวลาในการพูดคุย 

 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าพรรคประชาชนส่งผู้สมัครแน่นอน แต่จะเป็นใครผมคิดว่าให้เวลาอีกสักหน่อย น่าจะช่วงกลางปีหน้าจะได้เห็นตัวบุคคล ซึ่งจะสอดคล้องกับการส่งผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ตอนนี้ก็มีการพูดคุยเรื่องกระบวนการ เห็นแผนชัดเจนแล้ว ส่งทุกเขตแน่นอน ถ้าเราไม่ส่งประชาชนคงผิดหวัง

 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

การหาเสียงของพรรคจะเน้นความ ‘พร้อมชน’ เหมือนครั้งที่ผ่านมาหรือไม่

 

ศรายุทธิ์: สำหรับแคมเปญการหาเสียงเราต้องเห็นผู้สมัครก่อน บุคลิกตัวตนของคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคประชาชน อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล เป็นแบบนั้น จึงเป็นแคมเปญที่ดี เช่นเดียวกับครั้งนี้เราต้องเห็นตัวผู้สมัครก่อน

 

ประเมินจากสถานการณ์ของพรรคในปัจจุบัน มีความมั่นใจมากขึ้นหรือไม่ว่าจะชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ได้

 

เป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้ เวลาผมวางเป้าหมายในปี 2570 คือการชนะเลือกตั้งได้คะแนนเสียงมากในระดับที่เป็นรัฐบาลได้ เราต้องมีด่านที่ต้องผ่านให้ได้ 

 

เราต้องมี นายก อบจ. ในนามพรรค ที่สามารถส่งมอบนโยบายให้เป็นจริงได้ ด่านที่สองคือ เราต้องมีผู้ว่าฯ กทม. ของพรรค ถ้าทั้ง 2 ด่านเราชนะได้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดในปี 2570 ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเราทำไม่สำเร็จแปลว่าเราต้องลงแรงอีกมาก

 

โจทย์ใหญ่ของพรรคประชาชนคือ เราไม่มีประสบการณ์ในการบริหาร ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เราก็ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร นอกจากการทำให้เห็นด้วยการชนะการเลือกตั้ง เราจึงต้องทำให้ได้

 

แต่อย่างที่ผมบอกเสมอ เมื่อเรามองเรื่องแบบนี้ อย่ามองเรื่อง สส. เป็นหลัก จำนวน สส. เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อยู่ที่เราเจอสนามแข่งขันแบบไหนด้วย สมมติรอบหน้าเราต้องแข่งกับคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คุณชัชชาติจะมาในฐานะตัวแทนของใคร นี่ก็เป็นประเด็นจริงไหมครับ จึงต้องไปดูว่าวันนั้นเป็นการแข่งขันแบบไหน

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising