×

ครั้งก่อนพลาดเป้าไม่เป็นไร ‘TCP’ วาดฝันใหม่ 3 ปีต้องมีรายได้ 90,000 ล้าน ใช้ ‘กระทิงแดง’ เป็นหัวหอก เตรียมออกสินค้าใหม่ 10 ตัว

02.05.2022
  • LOADING...
กระทิงแดง

2 สิงหาคม 2560 คือวันที่ ‘สราวุฒิ อยู่วิทยา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันดีกับชื่อ ‘กระทิงแดง’ ได้ประกาศเป้าหมายครั้งใหญ่กับการตั้งเป้ายอดขายให้โตขึ้น 3 เท่า เป็น 100,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

 

วันที่ประกาศนั้นยอดขายรวมครึ่งปีแรกของกลุ่มธุรกิจ TCP ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 อยู่ที่ 14,600 ล้านบาท และคาดว่าถึงสิ้นปีกลุ่มธุรกิจ TCP จะมียอดขายรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท

 

แต่แล้วเป้าหมายที่เคยประกาศไว้กลับไม่สามารถบรรลุได้ตามสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ เพราะความเป็นจริงยอดรวมสิ้นปี 2564 ยังอยู่ที่ราว 45,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าครึ่งกับสิ่งที่เคยประกาศไว้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

“เรายอมรับว่าครั้งนั้นเราตั้งเป้าหมายอย่าง Aggressive” สราวุฒิ ผู้เป็นแม่ทัพของกลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวกับสื่อมวลชนในการแถลงข่าวเมื่อ 29 เมษายน 2565 ซึ่งนี่นับเป็นการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในรอบหลายปีของเขา “แต่แล้วการระบาดของโรคโควิด รวมทั้งปัจจัยอื่น ทำให้เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ไม่สามารถทำได้”

 

กระทิงแดง

 

การพบเจอสื่อครั้งนี้ของสราวุฒิมาพร้อมกับการประกาศเป้าหมายใหม่ ด้วยตั้งเป้ารายได้โต 2 เท่า เป็น 90,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2565-2567) ผ่านการวางแผนลงทุน 12,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ทั้งการขยายการลงทุนโรงงานใหม่ในประเทศจีน การเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเครื่องดื่มให้พลังงานในต่างประเทศ การลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น

 

สิ่งที่น่าจับตามองคือ TCP เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 10 ตัว ภายใต้แบรนด์ ‘กระทิงแดง’ เครื่องดื่มให้พลังงานระดับโลกและเป็นผู้นำในตลาดเอเชีย ภายใน 3 ปี ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างความแตกต่างทั้งรสชาติและภาพลักษณ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

 

‘กระทิงแดง’ นั้นเป็นแบรนด์หัวของของ TCP ด้วยเป็นสินค้าที่ทำรายได้มากที่สุดของกลุ่ม ซึ่งไม่ขอเปิดเผยว่ามีสัดส่วนเท่าไร โดยบอกแต่เพียงว่ากลุ่ม Energy Drink ซึ่งประกอบไปด้วย กระทิงแดง, เรดดี้, โสมพลัส, วอริเออร์ (เป็นแบรนด์ Energy Drink ที่จำหน่ายในเวียดนาม) คิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของยอดขายรวมเลยทีเดียว

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic Beverage) แบบพร้อมดื่ม ปี 2564 อาจมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 197,000-199,000 ล้านบาท โดยเครื่องดื่มชูกำลังคิดเป็นสัดส่วน 13% หรือราว 23,000-26,000 ล้านบาท 

 

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP รายงานผลประกอบการในปี 2564 พบว่า ‘ข้อได้เปรียบจากการมีพอร์ตโฟลิโอสินค้าที่แข็งแกร่งและเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคเชื่อถือ’ ทำให้ส่วนแบ่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่ประกอบไปด้วย M-150, ลิโพ และโสมอินซัม เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 54.6% โดยส่วนแบ่งของ M-150 เพิ่มขึ้น 0.5% ส่วนลิโพขึ้น 0.2% 

 

สำหรับ ‘คาราบาวแดง’ นั้น บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานรายได้จากการขายในประเทศจำนวน 5,697 ล้านบาท ลดลง 4.8% เกิดจากการลดลงของเครื่องดื่มคาราบาวแดงเป็นหลัก โดยในปี 2564 ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศปรับตัวลดลง 7.5% โดยคาราบาวแดงอยู่อันดับที่ 2 หรือคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 20.7% 

 

เมื่อตีความหมายจากรายงานของยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ทำให้ประเมินได้ว่า ‘กระทิงแดง’ ของกลุ่ม TCP เป็นผู้ที่รั้งเบอร์ 3 ของตลาดนี้โดยที่ไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างชัดเจน

 

กระทิงแดง

 

ภายใต้เป้าหมายใหม่ของ TCP ยังได้ส่งแบรนด์อื่นๆ ภายใต้ House of Great Brands เข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเอเชีย และพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ๆ อย่างน้อย 5 ผลิตภัณฑ์ ด้วยการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค (Unmet Needs) มุ่งเน้นไปที่ตลาดด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Wellness)

 

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ 9 แบรนด์ คือ กลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงาน คือ กระทิงแดง, เรดดี้, โสมพลัส และวอริเออร์ กลุ่มเครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์ คือ สปอนเซอร์ กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ คือ แมนซั่ม, แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์, ไฮ่! กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม คือ เพียวริคุ ผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวัน คือ ซันสแนค และกลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่ม คือ เรดบูลรสดั้งเดิม 

 

TCP ยังได้วางเป้าหมาย ‘เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)’ จากทุกกระบวนการทำงานทั้งธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศ ภายในปี 2593, พัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจ TCP ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2567 และตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2573

 

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มราคาวัตถุดิบการผลิตสินค้า รวมไปถึงค่าพลังงานที่ปรับสูงขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา กระทบยังต้นทุนการดำเนินธุรกิจและการขนส่งกระจายสินค้ารอบด้านของกลุ่มธุรกิจ TCP ดังนั้นสราวุฒิกล่าวว่า ตอนนี้เร่งให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อประคองราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) ให้คงที่ไว้ได้นานที่สุดในปีนี้

 

“ความยากของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คือ ไม่รู้ว่าเป็นเพียงชั่วคราวหรือถาวร ทำให้ TCP ต้องปรับการบริหารจัดการกลยุทธ์ด้านการผลักดันองค์กรเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ มีการดำเนินธุรกิจดีขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยตัวเองก่อน สุดท้ายแล้วนำไปสู่การลดต้นทุนในภาพรวม โดยจะยังกัดฟันคงราคาสินค้าเอาไว้ให้ได้นานที่สุด พร้อมดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง” 

 

กระนั้นแหล่งข่าวดีลเลอร์รายหนึ่งให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ไว้ว่า ‘สปอนเซอร์’ รูปแบบขวดแก้วขนาด 250 มิลลิลิตร ราคา 10 บาท จะปรับขึ้นเป็น 12 บาท ซึ่งราคาขายส่งจะปรับเพิ่มจาก 210 บาทต่อลัง เป็น 240 บาทต่อลัง โดยจะมีผลในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

 

ขณะที่คู่แข่งของกระทิงแดงอย่าง ‘M-150’ ได้ชิงขึ้นราคาขายปลีกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จาก 10 บาท เป็น 12 บาท โดยอ้างว่ามีการปรับแพ็กเกจจิ้งและสูตรใหม่เพิ่มปริมาณวิตามินบี 12 สองเท่า ด้าน ‘คาราบาวแดง’ จะปรับขึ้นเล็กน้อยจาก 415-420 บาทต่อลัง เป็น 430-435 บาทต่อลัง ในขณะที่ราคาขายปลีกนั้นยังตรึงที่ 10 บาทเท่าเดิม

 

สราวุฒิได้มองภาพในอนาคตว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มให้พลังงานในประเทศไทยนับจากนี้ไปอาจมีการเติบโตชะลอตัวลง จากปัจจัยกลุ่มผู้บริโภคของไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้กลุ่ม TCP มองเห็นช่องว่างการทำตลาดสินค้านวัตกรรมภายใต้แบรนด์ใหม่ในกลุ่มสินค้า Health & Wellness มากขึ้น รวมถึงขยายการทำตลาดครื่องดื่มให้พลังงาน ในประเทศใหม่ๆ มากขึ้น ภายใน 3 ปีนับจากนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X