×

รู้จัก ซาราห์ กิลเบิร์ต ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังวัคซีน AstraZeneca

14.07.2021
  • LOADING...
ซาราห์ กิลเบิร์ต

HIGHLIGHTS

  • ​เรารู้จักผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังวัคซีน mRNA ทั้ง Pfizer และ Moderna อย่าง เคทลิน คาริ​โก (Katalin Kariko) ไปแล้วใน Thiscover ตอนที่แล้ว แต่คุณอาจต้องประหลาดใจอีกครั้ง ที่ได้พบว่าผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะอันเป็นวัคซีนชื่อดังก้องโลกอีกชนิดหนึ่งในนามของ AstraZeneca – ก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน
  • ชื่อของเธอคือ ท่านผู้หญิงซาราห์ กิลเบิร์ต (Dame Sarah Gilbert) ผู้ทุ่มเทตัวเองให้กับวัคซีนประเภทที่เรียกว่า Viral Vector Vaccine หรือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ 
  • กิลเบิร์ตบอกว่า ตั้งแต่ต้นเลยที่ทีมงานของเธอทำงานเพื่อ ‘แข่งกับไวรัส’ ไม่ได้พยายามจะแข่งกับทีมพัฒนาวัคซีนอื่นๆ เลย ด้วยความที่สถาบันเจนเนอร์อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัย งานที่ทำจึงเป็นงานบริการวิชาการสาธารณะ ไม่ได้มีเป้าหมายจะ ‘ทำเงิน’ แต่อย่างใด ซึ่งในที่สุดก็กลายมาเป็นวัคซีนที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Oxford-AstraZeneca COVID-19 Vaccine

​เมื่อไม่นานมานี้ ในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันอันเป็นศึกแกรนด์สแลมหนึ่งในสี่ของโลกที่กรุงลอนดอน ผู้คนทั้งสนามได้ลุกขึ้นมาปรบมือให้กับผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ผู้หญิงที่ขี้อาย ผู้หญิงที่ไม่ชอบตกเป็นเป้าสายตา ผู้หญิงที่ไม่อยากเด่นดัง

 

​แต่ช่วยไม่ได้ – ที่งานของเธอช่วยชีวิตมนุษย์นับล้านๆ และเป็นงานของเธอนี่เองที่เรียกเสียงปรบมือรวมทั้งเสียงยกย่องชื่นชมกระหึ่มก้อง

 

 

​เธอคือ เด็ม หรือ ท่านผู้หญิงซาราห์ กิลเบิร์ต (Dame Sarah Gilbert) ผู้ทุ่มเทตัวเองให้กับวัคซีนประเภทที่เรียกว่า Viral Vector Vaccine หรือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ

 

​เรารู้จักผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังวัคซีน mRNA ทั้ง Pfizer และ Moderna อย่าง เคทลิน คาริ​โก (Katalin Kariko) ไปแล้วใน Thiscover ตอนที่แล้ว แต่คุณอาจต้องประหลาดใจอีกครั้ง ที่ได้พบว่าผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะอันเป็นวัคซีนชื่อดังก้องโลกอีกชนิดหนึ่งในนามของ AstraZeneca – ก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน

 

​ถ้ามองในแง่การสืบสายของวัคซีน อาจต้องบอกว่า วัคซีน AstraZeneca คือวัคซีนที่ใกล้ชิดกับผู้ให้กำเนิดวัคซีนอย่าง เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) มากที่สุด นั่นเพราะตัวเด็มซาราห์ กิลเบิร์ต ทำงานอยู่ที่ ‘สถาบันเจนเนอร์’ (Jenner Institute) อันเป็นสถาบันที่อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

 

​สถาบันแห่งนี้มีอายุไม่มากนัก เพราะเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2005 เท่านั้นเอง ไม่ได้เก่าแก่นับย้อนไปถึงยุคของเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ แต่อย่างใด ทว่าสถาบันนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากมูลนิธิแห่งหนึ่งซึ่งมีตรงตัวตามสาแหรกทางประวัติศาสตร์เลย นั่นก็คือมูลนิธิวัคซีนเจนเนอร์ หรือ Jenner Vaccine Foundation ซึ่งได้ชื่อมาจากเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ นั่นเอง

 

​ซาราห์ กิลเบิร์ต รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเธออยากทำงานด้านการแพทย์ เธอเรียนจบด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (East Anglia) ก่อนจะไปทำปริญญาเอกโดยศึกษาด้านพันธุกรรมศาสตร์และชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยฮัลล์ (University of Hull) ซึ่งเธอศึกษาเรื่องยีสต์สายพันธุ์หนึ่ง นั่นทำให้เธอเริ่มงานกับมูลนิธิวิจัยด้านอุตสาหกรรมการหมักบ่มเบียร์ หรือ Brewing Industry Research Foundation ก่อนจะหันมาสนใจความสัมพันธ์ระหว่างโฮสต์กับปรสิตในโรคมาเลเรีย แล้วจากนั้นก็ได้เข้ามาร่วมงานกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในฐานะนักไวรัสวิทยา จนสุดท้ายก็มาเป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบันเจนเนอร์ ซึ่งเน้นหนักเรื่องวัคซีนโดยเฉพาะ

 

​งานที่เธอเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คือการพยายามพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบ ‘ครอบจักรวาล’ หรือเรียกว่าเป็น Universal Flu Vaccine ซึ่งหลายคนที่เคยฉีด ‘ฟลูช็อต’ เป็นประจำทุกปีอาจรู้สึกเบื่อหน่ายไม่น้อย ค่าที่ต้องคอยมาฉีดวัคซีนที่อัปเดตใหม่อยู่บ่อยๆ เนื่องจากไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่นั้นมีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ จึงต้องใช้วัคซีนเวอร์ชันใหม่ 

 

แต่สิ่งที่เรียกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครอบจักรวาลหรือ Universal Flu Vaccine คือวัคซีนที่จะออกฤทธิ์กับไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสที่มี ‘ประเภทย่อย’ (Sub Type) แบบไหนก็ตามที ซึ่งปกติแล้วจะสองแบบ คือ Antigenic Drift (คือเกิดการสะสมการกลายพันธุ์เล็กๆ น้อยๆ รวมกันจนทำให้โปรตีนที่ผิวของไวรัสเกิดลักษณะใหม่ข้ึนมา) กับ Antigenic Shift (คือมีไวรัสสองสายพันธุ์หรือมากกว่ามารวมตัวกันจนเกิดเป็นประเภทย่อยใหม่) ซึ่งแบบหลังนี้เองที่ถือเป็นเรื่องใหญ่

 

​ไวรัสไข้หวัดใหญ่แบบ Antigenic Drift คือไวรัสไข้หวัดใหญ่ A, B และ C ในขณะที่ Antigenic Shift คือไวรัสไข้หวัดใหญ่ A อย่างเดียว ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะทั้ง A, B และ C ติดต่อในมนุษย์ได้ แต่มีเฉพาะ A เท่านั้นที่ติดต่อผ่านไปยังสัตว์ได้ด้วย การติดต่อผ่านไปยังสัตว์นี้จึงเปิดโอกาสให้ไวรัสที่แตกต่างกันมาฟอร์มตัวรวมกันจนกลายเป็นไวรัสชนิดใหม่ได้ ซึ่งก็คือการเกิด Antigenic Shift นั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าแค่ Drift ก็คือแค่ลื่นๆ ไถลๆ ไปนิดหน่อย แต่ถ้าเป็นระดับ Shift ก็คือการเปลี่ยนไปเป็นอะไรใหม่เลย ดังนั้น Antigenic Shift จึงมีโอกาสจะเป็นการจัดเรียงโปรตีนที่พื้นผิวของไวรัสใหม่หมด ทำให้เกิดไวรัสที่รับมือได้ยากขึ้นมา

 

​นั่นคือเหตุผลที่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือ Flu Shot ต้องทำเป็นประจำทุกปี เพราะไวรัสมันมีโอกาสกลายพันธุ์ทุกครั้งที่จำลองตัวเอง ทำให้เกิดไวรัสใหม่ๆ ขึ้นได้เสมอ การคิดค้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบครอบจักรวาลจึงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากคิดถึง เพราะจะได้ไม่สิ้นเปลืองเวลา บุคลากร และทรัพยากรทางการแพทย์มาคอยฉีดฟลูช็อตอยู่บ่อยๆ

 

​งานที่กิลเบิร์ตทำก็คือเรื่องนี้นี่เอง โดยหลักคิดของวัคซีนครอบจักรวาลนี้ไม่ใช่การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมา แต่จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้าง ‘ทีเซลล์’ ที่จำเพาะเจาะจงกับไข้หวัดใหญ่แต่ละชนิดขึ้นมา ซึ่งถ้าทำสำเร็จ คนก็ไม่ต้องไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่กันทุกปี โดยงานวิจัยของเธอก็คือหลักการเบื้องต้นที่ทำให้เกิดวัคซีนประเภท ‘เวกเตอร์’ ขึ้นมานั่นเอง

 

​วัคซีนกลุ่มที่เรียกว่า Viral Vector Vaccine นั้น จะใช้ไวรัสตัวเต็มๆ ตัวหนึ่งท่ียังไม่ตาย ส่วนใหญ่จะเป็นไวรัสที่เรียกว่า อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอันตราย อะดีโนไวรัสนั้นส่งผลให้เกิดโรคได้หลายอย่าง เช่น ไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ท้องเสีย หรือตาแดง แต่มักไม่ค่อยร้ายแรง โดยมีการนำเจ้าอะดีโนไวรัสมาดัดแปลงพันธุกรรม มันจึงจำลองตัวเองไม่ได้ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านๆ ก็อาจจะต้องบอกว่าทำให้มัน ‘เป็นหมัน’ นั่นเอง แต่แค่เป็นหมันยังไม่พอ นักวิทยาศาสตร์ยังใส่สารพันธุกรรมของไวรัสชนิดอื่นเข้าไปด้วย

 

​กิลเบิร์ตสนใจไวรัสไข้หวัดใหญ่ต่างๆ มาโดยตลอด เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสเมอร์ส (MERS) หรือ Middle East Respiratory Syndrome ซึ่งก็เป็นโคโรนาไวรัสเหมือนกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด เธอสาธิตให้เห็นว่า ถ้าจับเอาอะดีโนไวรัสมาดัดแปลงพันธุกรรมแล้วใส่พันธุกรรมที่เรียกว่า ChAdOx1 เข้าไป เจ้าอะดีโนไวรัสนี้สามารถทำหน้าที่เป็นวัคซีนที่ป้องกันไข้หวัดใหญ่ MERS ได้ แถมยังมีความก้าวหน้ากับวิธีการนี้ในโรคอื่นๆ อีกหลายโรคด้วย

 

​ด้วยเหตุนี้ พอเกิดการระบาดของโควิดขึ้นมา โดยมีโคโรนาไวรัสเป็นต้นเหตุ เธอจึงเข้ามามีส่วนในการพัฒนาวัคซีนใหม่ตั้งแต่ต้นในฐานะหัวหน้าทีม เมื่อมีผู้ถอดรหัสพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ SARS-CoV-2 สำเร็จปุ๊บ ทีมงานของกิลเบิร์ตบอกว่าทั้งทีมช่วยกันทำงานจนสามารถ ‘ออกแบบ’ วัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ภายในช่วงวีกเอนด์เดียวเลย เพราะทั้งทีมรู้ว่านี่คือเรื่องเร่งด่วนมากๆ

 

​กิลเบิร์ตบอกว่า ตั้งแต่ต้นเลยที่ทีมงานของเธอทำงานเพื่อ ‘แข่งกับไวรัส’ ไม่ได้พยายามจะแข่งกับทีมพัฒนาวัคซีนอื่นๆ เลย ด้วยความที่สถาบันเจนเนอร์อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัย งานที่ทำจึงเป็นงานบริการวิชาการสาธารณะ ไม่ได้มีเป้าหมายจะ ‘ทำเงิน’ แต่อย่างใด

 

 

​แรกทีเดียวการวิจัยวัคซีนนี้ทำกันในระดับมหาวิทยาลัย แรกเริ่มเดิมทีทางออกซ์ฟอร์ดต้องการจะบริจาคสิทธิบัตรวัคซีนนี้ให้กับบริษัทผลิตยาที่สามารถผลิตให้กับคนทั้งโลกได้ แต่ตอนหลังก็เปลี่ยนใจ หันมาร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่เป็นพาร์ตเนอร์กันเพื่อผลิตวัคซีนนี้ออกสู่ตลาด แล้วก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้หันไปหาบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งในที่สุดก็กลายมาเป็นวัคซีนที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Oxford-AstraZeneca COVID-19 Vaccine

 

​แล้วในวันที่ 30 ธันวาคม 2020 วัคซีนนี้ก็ได้รับการรับรองในประเทศอังกฤษ และต่อมาก็กลายเป็นวัคซีนที่คนไทยน่าจะรู้จักดีที่สุดตัวหนึ่ง โดยคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังวัคซีนนี้ก็คือ ซาราห์ กิลเบิร์ต

 

​เธอได้รับรางวัลหลายรางวัล เช่น รางวัล Albert Medal ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งอังกฤษ หรือได้รับรางวัล Princess of Asturias Award ในด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ รวมทั้งได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีบรรดาศักดิ์เป็น ‘เด็ม’ หรือท่านผู้หญิง ซึ่งเทียบเท่ากับเซอร์ในผู้ชาย

 

​การที่มีคน ‘เพศอื่นๆ’ อยู่เบื้องหลังและคิดค้นวัคซีนในวิกฤตการณ์ใหญ่ของโลกนอกเหนือไปจากเพศชาย น่าจะเป็นสัญญาณบอกความก้าวหน้าในสังคมวิทยาศาสตร์ระดับโลกของศตวรรษที่ 21 ได้ดีไม่น้อยทีเดียว

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X