×

ย้อนความทรงจำตลอด 9 ปี ‘สาวสาวสาว’ หนึ่งใน Vocal Group ที่ดีที่สุดเท่าที่วงการดนตรีไทยเคยมีมา

19.11.2018
  • LOADING...

ก่อนหน้าที่วงการเพลงไทยจะมีเกิร์ลกรุ๊ปอันเป็นที่จดจำอย่าง เฟย์ ฟาง แก้ว, Project H, Girly Berry, Bubble Girls, Zaza, T-Skirt ฯลฯ

 

‘สาวสาวสาว’ คือความทรงจำแรกในฐานะ ‘เกิร์ลกรุ๊ป’ และ Vocal Group ที่ดีที่สุดกลุ่มหนึ่ง เท่าที่วงการดนตรีไทยเคยมีมา ผลงานเพลงฮิตอย่าง ประตูใจ, รักคือฝันไป, เป็นแฟนกันได้ยังไง และอีกมากมายตลอดเส้นทาง 9 ปีของวง พร้อมสิ่งใหม่มากมายที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย ทำให้พวกเธอค่อยๆ โด่งดังผ่านเพลงฮิตอย่าง ประตูใจ, รักคือฝันไป, เป็นแฟนกันได้ยังไง ฯลฯ

 

ถึงวันนี้แม้จะผ่านคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายมานานกว่า 34 ปี แต่ แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, แหม่ม-พัชริดา วัฒนา, ปุ้ม-อรวรรณ เย็นพูนสุข พวกเธอยังคงเป็นหนึ่งใน Vocal Group ที่ดีที่สุด

 

THE STANDARD POP ชวนอุ่นเครื่องก่อนคอนเสิร์ตที่จะพาพวกเธอกลับมารียูเนียนอีกครั้งใน #สาวสาวสาว 34 ปี ที่รอคอย ครั้งนี้ #ไม่ใช่ฝันไป ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า

 

 

1

 

‘สาวสาวสาว’ เกิร์ลกรุ๊ปวงแรกของเมืองไทย

 

แหม่ม: จริงๆ ถ้าพูดถึงนักร้องที่รวมตัวกัน มีก่อนหน้าเรานะคะ ที่เป็นรุ่นผู้ใหญ่เลยก็มีอย่าง วงดอกไม้ป่า วงเดอะฮอทเปปเปอร์ ซิงเกอร์ส นั่นคือรุ่นน้า รุ่นพี่

 

แอม: คือรุ่นเพื่อนแม่   

 

แหม่ม: เขาก็จะร้องเพลงแบบเพราะๆ แต่อย่างไอ้สามคนนี้ที่ออกมา

 

แอม: ร้องเพลงแล้วเต้นย้องแย้ง แบบนี้ยังไม่มี

 

แหม่ม: ตอนนั้นจะมีแต่แบนด์ผู้ชายดังๆ อย่าง แกรนด์เอ็กซ์ แมคอินทอช  

 

คิดว่าอะไรที่ทำให้แฟนเพลงจดจำ ‘สาวสาวสาว’ ได้มาจนถึงทุกวันนี้

 

แอม: ทุกอย่างมันรวมกันไปหมด

 

แหม่ม: เพลงที่ดีด้วย

 

แอม: สมัยก่อนมันยังไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่คอนเน็กต์กันทั่วโลก ทุกวันนี้ถ้าคุณอยากจะรู้จักศิลปินญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่ง คุณก็สามารถชมงานของเขาได้โดยไม่ต้องเดินทางไปดู แต่สมัยก่อนมันไม่มี หนังก็เข้าฉายไม่พร้อมเมืองนอก เพราะฉะนั้นศิลปินต่างประเทศไม่ต้องพูดถึงเลย มันไกลเหลือเกิน

 

แหม่ม: มันก็มีแต่พวกเรานี่แหละที่เป็นวัยเดียวกัน (หัวเราะ)

 

ปุ้ม: แล้วตอนนั้นพวกเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิงเหมือนกัน เขาจะไม่มีต้นแบบ…

 

แหม่ม: สมัยนี้เขาเรียกว่าไอดอล

 

ปุ้ม: แต่พอเขาเห็นพวกเรา เฮ้ย อย่างนี้แหละที่เราอยากจะเห็น อยากจะเป็น เราเหมือนเป็นตัวแทนของพวกเขาที่ก้าวขึ้นไปยืนบนเวที

 

แหม่ม: เราร้องเพลงที่คนวัยเดียวกันร้อง และเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ไม่ใช่ว่าไปเอาเพลงเพราะๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้วมาร้อง สองคือบุคลิก การแต่งตัว มันเลยดูเหมือนเป็นผู้นำแฟชั่นของคนยุคนั้น วัยนั้น

 

แอม: อย่างเรื่องของเพลง เราร้องด้วย เต้นด้วย มันมี choreography มันมีเรื่องของเสื้อผ้าที่ก่อนหน้าเรายังไม่มีใครใส่แบบนี้

 

ปุ้ม: โบใหญ่กินหัว กระโปรงบานสุ่ม

 

แหม่ม: พูดง่ายๆ คือแปลกกว่าชาวบ้าน ณ เวลานั้นค่ะ

 

 

เส้นทางของ ‘สาวสาวสาว’ เริ่มต้นมาจากการชักนำของแม่ๆ (สุดา ชื่นบาน และฉันทนา กิติยพันธ์ ซึ่งเป็นนักร้องชื่อดังในยุคนั้น) ถามจริงๆ แล้วตัวเราเองในตอนนั้น ‘บอร์นทูบี’ ที่จะเป็นนักร้องสักแค่ไหน

 

แหม่ม: ถ้าพูดกันจริงๆ หนึ่ง เรื่องการอยากออกเทป ออกอัลบั้มไม่มี สมัยนั้นอาชีพศิลปินคืออาชีพที่ไม่มีใครอยากให้ลูกตัวเองเป็น มันน่าอาย มันเสื่อมเสีย นั่นคือช่วงที่แม่ๆ เราเติบโตมา แล้วเราก็จะได้ยินแบบนี้มาตลอด ส่วนเรื่องที่ว่า แล้วพวกเราอยากจะเป็นนักร้อง หรือมีพรสวรรค์อยู่แล้วไหม ถ้าพูดก็คือมีพรสวรรค์โดยไม่รู้ตัว แต่ไม่ได้โฟกัสที่จะฟอลโลว์พรสวรรค์เพื่อเป็นศิลปิน

 

แอม: ไม่มีความสำนึกอะไรทั้งสิ้น (หัวเราะ)

 

แหม่ม: แต่คนนี้ (หมายถึงแอม เสาวลักษณ์) คือชอบเล่นกีตาร์ ชอบแต่งเพลง หรืออย่างคนนี้ (หมายถึงปุ้ม อรวรรณ) ก็ชอบร้องเพลงตามทั่วไป เพราะฉะนั้นพอความชอบร้องเพลง กับพรสวรรค์มาบวกกับการที่เราได้คุณ ‘ระย้า’ มาดูแล (ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร อดีตดีเจชื่อดัง Music Train หรือ ‘รถไฟดนตรี’ คือรายการวิทยุที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด) ซึ่ง ณ ตอนนั้นเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ดังที่สุดในประเทศ ไม่มีวัยรุ่นไทยคนไหนไม่รู้จักรายการ รถไฟดนตรี เพราะฉะนั้นเขาคือนักจัดรายการวิทยุที่มีอิทธิพลต่อคนฟังวัยรุ่นทั้งประเทศ มีแบ็กกราวด์คือแม่ที่เป็นนักร้องดัง มันก็เลยทำให้หลายๆ อย่างไหลไปตามกระแสโดยบังเอิญ

 

 

2

 

‘ก๊อก ก๊อก ก๊อก เปิดประตู เปิดออกดู เขาเป็นใคร’ เพลง ประตูใจ จากอัลบั้มชุดที่สอง ส่งให้วง ‘สาวสาวสาว’ แจ้งเกิดอย่างเต็มตัว

 

แหม่ม: พูดจริงๆ นะ คุณระย้าคือคนจัดการทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ พอเขาเริ่มเห็นตัวตนของเราสามคน ก็ไปเอาคนนี้มาแต่งเพลง คุณไปแต่งเพลงแนวนี้มา แล้วก็เลือกเพลง บรู๊ฟเอง เมื่อเสร็จแล้วก็เอามาให้พวกเราร้อง

 

ปุ้ม: พอเพลงถูกปรับให้ตรงกับวัย เพลงมันสดใส คนฟังก็สนุก ซึ่งตอนนั้นไม่มีเพลงแบบนี้เลย มันกลายเป็นของใหม่ ของแปลก แล้วมันต่อกันติดกับวัยรุ่นยุคนั้น

 

แหม่ม: ฟีดแบ็กมันเลยกลับมาเต็มๆ แฟนเพลงได้เจอคนที่เป็นเหมือนพวกเขา แต่มีความเป็นลีดเดอร์ขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง แล้วบังเอิญว่าวงเราเนี่ย แอม เสาวลักษณ์ เขาเป็นผู้นำที่ดีมากในแง่ที่ถ้าอยากทำอะไร เขาจะนำเสนอ เราแต่งตัวอย่างนี้กันไหม ลองมัดโบสีแดงกันไหม ท่าเต้นอีก พอภาพออกมามันเลยโดดเด่น  

 

แอม: เราชอบดูนิตยสารจากญี่ปุ่น โอ้โห สมัยนั้นหาซื้อก็ยากด้วย แพงด้วย หรืออย่างวิดีโอจากญี่ปุ่นถ้าจะซื้อก็ต้องสั่งมา สมัยนั้นก่อนหน้าเรามันไม่มีอะไร ไม่มีใครเป็นตัวอย่างให้เราดูเลย

 

แหม่ม: พวกเราอยู่ในยุคที่ต้องทำเองทุกอย่าง ไม่เหมือนศิลปินสมัยนี้ที่เดินตัวเปล่าเข้ามาในบริษัทแล้วพอเดินออกมาอีกทีก็สำเร็จรูปเลย แต่ของเราต้องขวนขวายไปหามาเองทั้งหมด (หัวเราะ) เสื้อผ้า หน้าผม

 

ปุ้ม: ไดร์ผมเอง แต่งหน้าเอง

 

แอม: ท่าเต้นอะไรต่างๆ คิดเองหมด

 

แหม่ม: พรุ่งนี้มีคอนเสิร์ต วันนี้ก็ต้องไปเดินซื้อเสื้อผ้าเอง นั่นคือที่มาของการใส่เสื้อคนละสี เพราะว่าเสื้อสีเดียวกันมันหมด (หัวเราะ)

 

 

แอม: คืออยากจะบอกว่าจริงๆ แล้ววงสาวสาวสาว ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า หน้าผม หรือนึกถึงแต่โบอย่างเดียวนะคะ แต่เราต้องร้องเพลงได้ด้วย ต้องประสานเสียงได้ด้วย ซึ่งเราร้องจริง ร้องสดเองทั้งหมด ไม่มีคอรัสอยู่ข้างหลัง เราต้องเพอร์ฟอร์แมนซ์ได้ด้วย และอีกข้อคือต้องวางตัวให้อยู่ในวงการได้ด้วย เพราะว่าถ้ามีแต่โบอย่างเดียวคงอยู่ได้ไม่ยาว มันมีองค์ประกอบหลายอย่างมาประกอบกัน

 

แหม่ม: อีกข้อคืออะไรก็ตามที่ทำให้การทำงานมันง่ายสำหรับเรา เราก็จะทำ ซึ่งการร้องประสานมันง่ายสำหรับเรา แต่เราก็ฝึกฝนในเพลงที่ยากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นพอถึงจุดหนึ่งที่เราผ่านความเป็นเด็ก ซึ่งเคยสดใส ร่าเริง สมวัย ไปสู่จุดที่โตขึ้น มันก็ต้องพัฒนาต่อไปในเรื่องของความสามารถ ซึ่งพวกเราก็ไปต่อของเราได้  

 

แอม: เท่าที่ได้ยินผู้ใหญ่พูดให้เราฟังเนี่ย เมื่อก่อนศิลปินเขาจะวัดกันที่การแสดงสด อย่างพอวงโน้นวงนี้เปิดตัวออกมา เดี๋ยวพอถึงตอนคอนเสิร์ตแสดงสด ไหนดูสิว่ารอดไหม ร้องเพลงได้จริงหรือเปล่า เพราะว่าในห้องอัดมันเทกได้ ร้องไม่ดี ร้องเพี้ยนเอาใหม่ได้ หรืออีดิตได้

 

แหม่ม: แต่สมัยที่เราทำอัลบั้มกันก็ไม่ค่อยมีการอีดิตนะ ถ้าร้องผิดคือร้องใหม่หมดเลย ไม่เหมือนปัจจุบันที่เทคนิคในห้องอัดสามารถเจาะได้ เอาคำนี้ไปแปะกับตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งบอกเลยว่านักร้องสมัยนี้สบายมาก (หัวเราะ) รุ่นพวกเรานี่ไม่มีนะคะ

 

 

3

 

‘โลกดนตรี’ รายการแสดงดนตรีถ่ายทอดสดที่ทำให้วง ‘สาวสาวสาว’ เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ  

 

แอม: โลกดนตรี เป็นเหมือนเวทีวัดความสามารถหรือวัดความดังของนักร้องนักดนตรีสมัยนั้นเลย ใครได้ออกรายการ โลกดนตรี ถ่ายทอดสดทางช่อง 5 นี่ถือว่ามีเกียรติมาก ตอนที่รู้ว่า โลกดนตรี จะให้เราไปออก มันคือความสนุก ตื่นเต้นตามประสาเด็กๆ ปะปนกันกับความครีเอต สร้างสรรค์ ช่วยกันคิดว่าทำไอ้นั่นไหม ร้องเพลงนี้ไหม

 

แหม่ม: เราวัยรุ่นไง มันไม่กลัวถูกกลัวผิด อยากทำอะไรทำ พอทำไปแล้วมันดันโดนใจคนด้วย

 

‘โลกดนตรีแตก’ ตำนานความโด่งดังที่อยู่คู่กับวง ‘สาวสาวสาว’

แอม: ตอนนั้นเราดังแล้วค่ะ แต่ก็ไม่รู้หรอกว่ามันดังแค่ไหน

 

แหม่ม: ตอนที่เราไปถึง ช่วงแรกเราก็ยังไม่รู้นะคะว่าข้างนอกมันเป็นอย่างไร แต่เราก็ได้ยินเจ้าหน้าที่เขาวอฯ คุยกันว่าคนเยอะมาก ประตูพัง เพราะเข้ามากันไม่ได้

 

แอม: เมื่อก่อนโลกดนตรีจะเล่นกันในห้องส่งของสถานีโทรทัศน์ ททบ. 5 ซึ่งในห้องส่งมันรับคนได้ประมาณสัก 300 คน  

 

แหม่ม: ใช่ค่ะ เป็นห้องเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่มาก เอาเป็นว่าไม่รู้จำนวนชัดเจน รู้แต่ว่ามันเต็มพื้นที่จนล้น แล้วเมื่อก่อนเวลานักร้องไปออกรายการเขาก็เดินเข้าไปในห้องส่งเฉยๆ ไม่ต้องมีการ์ด แต่สาวสาวสาวทำให้รายการต้องมีการ์ด (หัวเราะ) จริงๆ การ์ดเหล่านี้คือพี่ๆ สห. (สารวัตรทหาร) ที่คอยดูแลช่อง 5 อยู่แล้ว แต่พอคนมากันเยอะ ทีมงานเขาต้องจัดเข้ามา ต้องยืนล้อมไว้ เพราะพอคนเยอะมันควบคุมลำบาก

 

แอม: จริงๆ ต้องบอกก่อนว่าทุกคนเขาไม่ได้จะมาทำอะไรเราหรอก เขาแค่อยากได้แตะ ได้จับ อยากเข้ามาใกล้ๆ หรือบางทีด้วยความรักก็อยากจับแก้ม อยากดึงผม อยากดึงแหวน บางทีแหวนไม่ได้มีค่าอะไรหรอก แค่อยากได้เป็นที่ระลึก (หัวเราะ)

 

แหม่ม: รู้สึกว่าโชว์วันนั้นเราจะเล่นไม่จบ ต้องเลิกก่อน

 

แอม: หลังจากนั้นทางช่อง 5 และ 72 โปรโมชั่น ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตก็เลยต้องออกมาประกาศขอโทษคุณผู้ชมที่เข้าชมไม่ได้ พร้อมกับสัญญาว่าเดี๋ยว โลกดนตรี จะจัดคอนเสิร์ตสาวสาวสาวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยจะจัดที่ลานด้านนอก บริเวณที่จอดรถ เพื่อที่จะได้จุผู้คนได้มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกของรายการ โลกดนตรี ที่มีการย้ายผู้ชมออกมานอกห้องส่ง แต่ก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี เพราะว่ามันมีรถของเจ้าหน้าที่หรือคนทำงานช่อง 5 ที่เขาจอดไว้ แล้วพอคนข้างหลังมองไม่เห็น เขาก็ปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคารถ แล้วพอเพลงมันสนุก ก็เต้นกันอยู่บนหลังคารถ กระโปรงรถ (หัวเราะ)

 

แหม่ม: สุดท้ายรายการเขาก็เลยต้องเทปูน ทำลานคอนเสิร์ตขึ้นมาอีกรอบหนึ่งเพื่อเอาไว้จัดรายการคอนเสิร์ตโดยเฉพาะหลังจากนั้น

 

แอม: จะเรียกว่าพวกเราเป็นตัวฉิบห… ก็ว่าได้ ที่ไปทำของของเขาพัง

 

  

4

 

(2524-2533) คือความทรงจำตลอด 9 ปีของสาวสาวสาว ก่อนที่ในที่สุดจะถึงเวลาโบกมือเมื่อเติบโต

 

แอม: ตอนนั้นตัวจริงของเราโตแล้ว เหมือน แดเนียล แรดคลิฟฟ์ ที่เล่นเป็น แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งโต แต่ว่าคนดูก็ยังอยากให้เขาเป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นรอน วีสลีย์ เป็นเฮอร์ไมโอนี อยู่ แต่ความจริงเด็กมันโตแล้ว เช่นเดียวกับเราที่เล่นมา 7 ภาคแล้วเว้ยเฮ้ย (หัวเราะ) ก็เริ่มอยากจะไปทำอย่างอื่นต่อ อยากเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นบ้าง อยากเป็นผู้ใหญ่บ้าง

 

แหม่ม: แต่ว่าภาพจำของสาวสาวสาว มันคือสดใส ความเป็นวัยรุ่น

 

ปุ้ม: ความสีสัน ลูกกวาด พอถึงอัลบั้มสุดท้ายของเรา เลยใส่เสื้อดำ-ขาวมันซะเลย (หัวเราะ) คนก็ช็อกเหมือนกันว่า อ้าว ทำไมเปลี่ยนสีแรงขนาดนี้

 

แอม: คือเราเองก็ไม่สามารถที่จะหน่อมแน้ม เหมือนตอนที่เราเป็นเด็กได้ เพราะเราก็รู้สึกกระดากหรือเขินที่จะทำ แล้วพอเราทำเพลงที่มันซับซ้อนขึ้น หรือว่าการแต่งตัวที่แรงขึ้น โตขึ้น อย่างการใส่ดำ แต่คนยังอยากให้เราใส่สีน่ารัก ทั้งที่ไอ้ตัวคนที่เขาอยากให้น่ารัก มันไม่น่ารักแล้ว (หัวเราะ)  

 

ปุ้ม: จริงๆ แล้วพวกเรามีการคุยกันมาก่อนหน้านั้นสัก 2 อัลบั้มแล้วนะว่าพอหรือยัง มันไม่ใช่ว่ามาถึงอัลบั้มสุดท้ายแล้วถึงค่อยมาคุยนะคะ เราคุยกันมานานแล้วเหมือนกัน  

 

 

แหม่ม: และในมุมของเราซึ่งเป็นวงที่ประสบความสำเร็จสูงมาก เปรียบเทียบไปให้เห็นภาพ มันก็เหมือนมีบัลลังก์นะ ฉะนั้นถ้าเราจะลง เราก็ควรลงอย่างสง่างาม ไม่ใช่ว่าอยู่ต่อไปจนลานโลกดนตรีซึ่งคนดูเคยแน่นขนัด ค่อยๆ โหรงเหรง ซึ่งมันไม่ดีกับใครทั้งนั้น เพราะฉะนั้นวงสาวสาวสาวมันเป็นตำนานด้วยตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นคีปมันไว้ตรงจุดนั้นดีกว่า เราเลยคุยกันว่างั้นพอเถอะ พอแล้วไหม ถ้าพองั้นก็เลิก (หัวเราะ)  

 

แอม: แล้วส่วนใหญ่เรื่องของเรามันเป็นเรื่องที่ความคิดเห็นเป็นเอกฉันท์

 

แหม่ม: เราคิดอะไรเหมือนกัน เพราะความเป็นพี่น้องไงคะ

 

แอม: อีกเหตุผลหนึ่งคือด้วยความที่ถ้าเราไม่ได้ทำวงสาวสาวสาวแล้ว มันไม่ได้แปลว่าความเป็นพี่น้องของเราสามคนมันจะขาดหายไปด้วย เราก็เลยไม่ได้เดือดร้อนกับมันมาก เราแค่จบบทบาทของวงสาวสาวสาว แต่ความสัมพันธ์ของแหม่ม แอม ปุ้ม มันก็ยังเป็นครอบครัวเดียวกันอยู่เหมือนเดิม

 

แหม่ม: คือมันไม่ใช่แค่ 9 ปี แต่มันคือทั้งชีวิต สำหรับเราสาวสาวสาวมันคือช่วงเวลาที่เด็กสามคนโตมาด้วยกันนะคะ แล้วในการโตมาด้วยกันมันผ่านหมด ทั้งงาน ทั้งความเป็นเพื่อน ความเป็นพี่น้อง ชีวิตส่วนตัว ปัญหา สุข ทุกข์ เพราะฉะนั้นมันมีค่า มันไม่ใช่แค่วงดนตรีที่มีเพลงดังร่วมกัน สิ่งพวกนั้นมันเป็นแค่ส่วนประกอบด้วยซ้ำ

 

 

จากเคยอยู่ด้วยกันสามคน วันหนึ่งต้องแยกย้ายกันเติบโตในฐานะ ‘ศิลปินเดี่ยว’ ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

 

ปุ้ม: เหงาอยู่แล้วค่ะ โดยเฉพาะเราซึ่งเป็นคนแรกที่ออกไปเป็นศิลปินเดี่ยว จากเคยยืนกันแน่นๆ สามคน แล้วอยู่มาวันหนึ่งเหลือเราโหลงเหลงอยู่คนเดียวบนเวที หันซ้ายก็ไม่มีใคร ขวาก็ไม่มีใคร มันก็จ๋อยๆ ทำตัวไม่ค่อยถูกอยู่พักหนึ่ง กว่าจะชินก็ใช้เวลาเหมือนกัน

 

แหม่ม: คือสามคนฟีลลิ่งเดียวกันนะคะ คือเรารู้ว่าวันนั้นเราต้องโตแล้ว เราต้องร้องคนเดียวแล้ว เพราะฉะนั้นในการที่ร้องเพลงครั้งแรก แน่นอนว่าพอคุณหันไปเจอกับสิ่งที่เปลี่ยนไป มันก็ย่อมต้องรู้สึก แต่สุดท้ายจะจ๋อยยังไงเราก็ต้องตั้งหลักแล้วไปต่อข้างหน้าให้ได้

 

แอม: ตอนที่ออกอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรก ตอนแรกยังไม่รู้สึกนะ เพราะความต้องการของเราก็เป็นเหมือนที่ยกตัวอย่างนักแสดงเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือพอจบภาคสุดท้าย คนที่เล่นเป็นเฮอร์ไมโอนี (เอ็มมา วัตสัน) นางตัดผมสั้นเลย คือมันอยากเปลี่ยน คืออยากให้มันชัดเจนว่าสาวสาวสาว คือความงดงามในแบบของสาวสาวสาว

 

แต่พอเป็นอัลบั้มเดี่ยว บันทึกของดอกไม้เหล็ก (พ.ศ. 2536) มันก็ต้องเป็น บันทึกของดอกไม้เหล็ก เราทาปากสีน้ำตาล อายไลเนอร์คม เพลงทุกอย่างหนักแน่น เช่นเดียวกับ ปุ้ม อรวรรณ และแหม่ม พัชริดา ที่พอทุกคนโตขึ้นก็ต้องสร้างคาแรกเตอร์ใหม่เพื่อให้มันชัดเจนว่ามันคนละแชปเตอร์กัน

 

จำได้ว่าตอนขึ้นคอนเสิร์ตแรกที่ MBK Hall (คอนเสิร์ต เปิดบันทึกดอกไม้เหล็ก ปี 2537) ยังไม่รู้สึกอะไรมากนัก มันจะมารู้สึกมากตอน Green Concert Vol.7 Yes I Am[p] ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตอนนั้นแหละที่สองคนนี้เขามานั่งดูอยู่ข้างล่างด้วย

 

คอนเสิร์ตครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่เราเอาเพลงของสาวสาวสาวมาร้อง นั่นคือเพลง ดอกไม้ของน้ำใจ แต่เป็นการร้องคนเดียว (หัวเราะ) คือมันควรจะมีสองคนนี้ร้องด้วย แต่ว่าเขานั่งเป็นคนดูอยู่ข้างล่าง แล้วไอ้สองคนข้างล่างก็น้ำตาหยดติ๊งๆๆ ส่วนไอ้ข้างบนก็น้ำตาหยดติ๊งๆๆ ครั้งนั้นแหละที่ถึงได้รู้สึก ความรู้สึกมันดีเลย์ เพราะเรามัวแต่ไปมุ่งว่าภาพของศิลปินเดี่ยวมันจะต้องไม่เหมือนกับภาพสาวสาวสาว

 

 

เชื่อว่าระหว่างเตรียมตัวสำหรับคอนเสิร์ต #สาวสาวสาว 34 ปี ที่รอคอย ครั้งนี้ #ไม่ใช่ฝันไป ที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายเดือนนี้ ทั้งสามคนน่าจะได้ย้อนกลับไปดูภาพเก่าๆ คลิปคอนเสิร์ตเก่าๆ พอสมควร ความรู้สึกจากอดีตในวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

 

แอม: มันเหมือนทุกคนตอนที่เอารูปเก่าๆ ของตัวเองสมัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วออกมาดู เชื่อว่าจะต้องมีอารมณ์แบบว่า นี่กูทำอะไรลงไป (หัวเราะ) ตอนนั้นทำไมเธอทำผมทรงนี้ แล้วทำไมกางเกงมันต้องเอวสูงขนาดนั้น

 

ปุ้ม: แต่เดี๋ยวนะ ในวันนั้นเราก็คิดว่าเราทำดีที่สุดแล้ว

 

แหม่ม: มันก็เป็นความสนุก ดูรูปเก่าๆ แล้วมันนึกถึงเรื่องราวในภาพวันนั้น เฮ้ย วันนั้นเราไปกินไอ้นี่กัน วันนั้นเราทะเลาะกับแฟน วันนั้นเรากำลังสอบอยู่ มันจะมีเรื่องราว มีโมเมนต์ให้เราได้นึกถึง

 

แอม: มันคือความงดงามของชีวิตเรา มันเป็นแชปเตอร์ที่งดงามของการที่ได้เป็นวงสาวสาวสาว แล้วได้อยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นมันจะทำอะไรเชยๆ เปิ่นๆ บ้าบอคอแตกอะไร ไม่มีใครแคร์ เพราะว่าวันนั้นเรามีความสุข เราสนุก

 

ขอบคุณภาพจาก: www.facebook.com/saosaosaofanpage

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising