×

ลากไส้ สตง. เปิดขบวนการปลอมลายเซ็น-คุมงานทิพย์

โดย THE STANDARD TEAM
18.04.2025
  • LOADING...

ทำไมตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มูลค่ากว่า 2 พันล้าน ถึงมีการปลอมลายเซ็นผู้ควบคุมงาน 

 

หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมาที่สร้างความเสียหายให้แก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้าง จนพังราบลงมาภายในเวลาเพียงแค่ 8 วินาที และยังคงทับร่างผู้สูญหายกว่าหลายชีวิต ตอนนี้เลยเหมือนน้ำลดตอผุด เพราะความไม่โปร่งใสต่างๆ กำลังค่อยๆ ผุดขึ้นมาจากซากตึกแห่งนี้

 

พิรุธ 3 ข้อ 

 

  1. วัสดุไม่ได้มาตรฐาน

 

  • พิรุธแรกที่ผุดขึ้นมาจากซากตึกถล่ม เห็นได้ชัดที่สุดคือวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอย่าง ‘เหล็ก’ และเมื่อนำไปตรวจสอบก็พบว่าไม่ได้มาตรฐาน  

 

  1. แก้แบบอาคาร 

 

  • พิรุธต่อมาคือ ‘ช่วงเวลา 8 วินาทีสำคัญ’ ที่ตึกถล่ม โดยผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าต้นตอของการถล่มมาจาก ‘ปล่องลิฟต์’ ที่ถูกแก้ไขจาก 30 ซม. เป็น 25 ซม. และอาจทำให้กระทบโครงสร้างหลัก จนไม่สามารถรับแรงบิดจากการโยกตัวอาคาร และทำให้อาคารถล่มแบบ Pancake Collapse

 

  1. ปลอมลายเซ็น

 

  • พิรุธที่สามเลยโผล่ออกมาว่า ‘ใครที่เป็นคนอนุมัติให้แก้ไขแบบ’ 

 

ควบคุมงานทิพย์? 

 

  • สมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรผู้มีชื่อเป็นผู้จัดการโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. และมีลายเซ็นเป็นผู้แก้แบบปล่องลิฟต์ออกมาแสดงตัวว่าตัวเขาถูกปลอมลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานของกิจการร่วมการค้า PKW ในโครงการอาคาร สตง. ตั้งแต่ตึกแห่งนี้เริ่มก่อสร้างมาต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 5 ปี และไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลย 

 

  • ชัยฤทธิ์ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นพนักงานบริษัท ว. และสหายคอนซัลแตนตส์ จำกัด ในตำแหน่งวิศวกร อ้างว่าถูกแอบอ้างเป็นผู้ควบคุมงานตึก สตง. และเคยถูกเกณฑ์ไปถ่ายรูปกับตึก สตง. เพื่อให้ดูว่ามีการควบคุมงานจริง

 

  • อีกชื่อหนึ่งที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังติดตามคือ นายพิมล เจริญยิ่ง วิศวกร อายุ 85 ปี หลังจากที่พบว่า เขาเป็นผู้ลงนามในแบบก่อสร้างอาคาร สตง. ซึ่งเจ้าตัวได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า จำไม่ได้ 

 

  • นอกจากนี้ ทาง ร.ต.อ. สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดี DSI เปิดเผยว่า จากรายชื่อวิศวกรผู้ควบคุมงานที่ปรากฏในเอกสารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวม 51 คน ตอนนี้พบผู้ที่ถูกนำชื่อไปแอบอ้างในโครงการ 2 คน เท่ากับว่าซึ่งก็อาจเข้าข่ายควบคุมงานทิพย์ 

 

ทำไมต้องปลอมลายเซ็น? 

 

เจษฎา ก้อนแก้ว ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษากฎหมายก่อสร้าง เล็ทอิทบีลอ ผู้ดูแลเพจช่างกฎหมายมันส์ เปิดเผยกับทีมข่าว THE STANDARD ว่า เมื่อเจาะรายละเอียดงบประมาณโครงการก่อสร้าง ตึก สตง. แห่งใหม่นี้ จะเห็นว่าวงเงินจ้างผู้ควบคุมงาน หรือก็คือกิจการร่วมค้า PKW อยู่ที่ประมาณ 74 ล้านบาท ดูเผิน ๆ อาจเหมือนเยอะ ตั้งเกือบหนึ่งร้อยล้านบาท แต่ราคานี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

 

เนื่องจากราคาแนะนำของสภาวิศวกรอยู่ที่ 7% ของงบประมาณทั้งหมด ดังนั้น 7% ของ 2 พันล้าน ก็เท่ากับว่า วงเงินจ้างผู้ควบคุมงานควรจะอยู่ที่ประมาณ 140 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นระเบียบของราชการเพดานจะอยู่ที่ 5% แต่อย่างไรก็ตาม วงเงินจ้างผู้ควบคุมงานก็อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทอยู่ดี 

 

ในวงเงินนี้ก็ต้องแบ่งไปจ้างวิศวกรเป็นผู้ควบคุมงานในแต่ละส่วน โดยจะแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน

 

  1. ภาคีวิศวกร 
  • เด็กจบใหม่ในสาขาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง จากสถาบันที่สภาวิศวกรรับรอง
  • ขอบเขตงาน: เช่น ออกแบบและคำนวณอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 4 ชั้น,โครงสร้างของอาคารแต่ละชั้นที่มีความสูงไม่เกิน 5 เมตร หรือต้องไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสาธารณะ
  • มีจำนวนประมาณ 70,000 คน 
  • ค่าเซ็นตรวจ 5,000 บาท ต่อ 1 งาน 

 

  1. สามัญวิศวกร
  • ระดับกลาง สำหรับผู้มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 3 ปี
  • ต้องผ่านการเป็นภาคีวิศวกรมาก่อน และมีผลงานที่แสดงความสามารถในการรับผิดชอบงานวิศวกรรม
  • ขอบเขตงาน: สามารถรับผิดชอบโครงการขนาดกลางถึงใหญ่ได้
  • มีจำนวนประมาณ 10,000 คน 
  • ค่าเซ็นตรวจ 50,000 บาท ต่อ 1 งาน 

 

  1. วุฒิวิศวกร
  • ระดับสูงสุด สำหรับผู้มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปีหลังจากเป็นสามัญวิศวกร 
  • ขอบเขตงาน: สามารถรับผิดชอบโครงการขนาดใหญ่และซับซ้อนได้ ให้คำปรึกษา และรับรองความปลอดภัยได้ 
  • มีจำนวนประมาณ 2,000 คน 
  • ค่าเซ็นตรวจ 500,000 บาท ต่อ 1 งาน 

 

ซึ่งถ้าเป็นตึกขนาดใหญ่ระดับ 2 พันล้านแบบตึก สตง. จะต้องใช้ภาคีวิศวกรประมาณ 30-40 คน แบ่งตามแต่ละแผนกไป สามัญวิศวกรก็จะเป็นหัวหน้าในแต่ละแผนก และจะต้องมีวุฒิวิศวกรอย่างต่ำ 3 คน

 

เจษฎาชี้ว่า ด้วยงบเท่านี้อาจไม่เพียงพอในการจ้างวุฒิวิศวกร และที่สำคัญคือ ‘ไม่มีใครเซ็นงานที่ไม่ได้ตรวจเอง’ ไม่มีใครยอมแลกความเสี่ยงบัตรวิชาชีพกับเงินสิบล้าน เพราะใบอนุญาตสามารถหาเงินปีหนึ่งได้มากกว่านั้นมาก ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ลงเอยด้วยการปลอมลายเซ็นและคุมงานทิพย์ เนื่องจากไม่สามารถหาคนมาเซ็นได้ 

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกในวงการรับเหมาก่อสร้าง

 

เจษฎาอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ในวงการก่อสร้างหรือรับเหมาก่อสร้าง การปลอมลายเซ็นจะพบได้บ่อยมากในภาคเอกชนเมื่อ 3-4 ปีก่อน เนื่องจากหลักการขออนุญาตก่อสร้าง ถ้าหากว่าเกินกว่า 150 ตารางเมตร จะต้องมีสถาปนิกหรือวิศวกร และจะต้องมีการแนบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งจุดนี้ผู้รับเหมาบางรายก็จะใช้วิธีลักไก่ นำบัตรไปปลอมไปใช้ในงานอื่นๆ เลยกลายเป็นปัญหาที่วิศวกรและสถาปนิกต้องพบเจอกันจำนวนมาก 

 

ทางสภาวิศวกรกับสภาสถาปนิกเลยออกกฎว่าการขออนุญาตก่อสร้าง นอกจากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แล้วจะต้องมีใบรับรองจากสภาฯ ด้วย ซึ่งจะออกให้เป็นงานต่องาน ขบวนการนี้ในเอกชนจึงลดลงไป แต่กลับกลายมาเฟื่องฟูในหน่วยงานราชการแทน 

 

ช่องโหว่กฎหมาย 

 

เจษฎาเปิดเผยว่า ปัจจัยหลักๆ มาจาก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่กำหนดให้หน่วยงานราชการไม่ต้องขอใบอนุญาตก่อสร้าง เท่ากับว่าไม่ต้องมีใบรับรองเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ดังนั้นการปลอมลายเซ็นจึงสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก และความเป็นไปได้ที่จะถูกปลอมลายเซ็นถึง 50 คนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร 

 

ใครต้องรับผิดชอบ

 

ส่วนคนที่ต้องรับผิดชอบต้องไล่ไปตั้งแต่กิจการร่วมการค้า PKW ที่เป็นผู้ควบคุมงาน กรรมการในฝั่ง สตง. และผู้รับเหมา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising