ช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวเรื่องที่ยู่อาศัยมีปริมาณล้นเกินกว่าความต้องการ หรือ Over Supply แม้ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญจะออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เป็นความจริง แต่ผู้บริโภคก็ยังคลางแคลงใจท่ามกลางบรรยากาศของการลงทุนขนาดใหญ่ และการบริโภคที่ยังมองตรงกันว่าไม่สดใสเท่าที่ควร
แต่สำหรับนักธุรกิจแล้วยังเห็นโอกาสของตลาดนี้อยู่เสมอ และประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายสำคัญของทุนต่างชาติที่จะเข้าทำประโยชน์ ขณะที่ทุนไทยก็เริ่มมองออกไปนอกประเทศมากขึ้น เราจึงได้เห็นผู้เล่นรายใหญ่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์หันไปจับมือกับพันธมิตรต่างชาติเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจกันหลายราย
เป็นธรรมดาที่ต้องขายของให้กับคนที่มีเงินซื้อ เรื่องใครขายใครซื้ออาจจะไม่ได้สลักสำคัญนัก
แสนสิริทุ่ม 2,800 ล้านบาท จับมือ 6 พันธมิตรต่อยอดธุรกิจอื่น
ปี 2560 นี้จะเห็นความเคลื่อนไหวของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแบรนด์ทั้งรายใหญ่และรายเล็กที่ร่วมลงทุนกับต่างชาติ ล่าสุด บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวการปรับทิศทางของธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการจับมือกับหุ้นส่วนที่มีศักยภาพเพื่อทำตลาดและสร้างยอดขายในตลาดต่างประเทศ โดยใช้กลยุทธ์ด้านดิจิทัลและข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญ
นี่ถือเป็นการลงทุนในธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจหลักที่ทำอยู่ของแสนสิริ โดยวางแผนการลงทุน 80 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินทุนของแสนสิริเองเพื่อสร้าง 6 พันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่
- The Standard บูติกโฮเทลในสหรัฐอเมริกา โดยแผนการลงทุนคือโครงการ The Standard Residence ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัย คาดว่าจะเริ่มต้นแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร และเป็นแบรนด์ที่แสนสิริเข้าลงทุนในสัดส่วนที่มากที่สุด
- One:Night แอปพลิเคชันจองห้องพักที่พัฒนาโดย The Standard ซึ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เน้นการใช้งานบนสมาร์ทโฟน โดยจะร่วมกันบริหารจัดการธุรกิจในตลาดเอเชีย
- Hostmaker ผู้บริการบริการเช่าที่พักอาศัยที่สอดรับเทรนด์ Home-Sharing โดยจะช่วยแสนสิริในการสร้างรายได้นอกประเทศ
- JustCo ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซระดับอาเซียน โดยวางแผนร่วมกันเปิด 4 สาขาในกรุงเทพมหานคร ปี 2561 นี้
- Farmshelf บริษัทนวัตกรรมการเพาะปลูกแบบอัตโนมัติสำหรับการปลูกพืชและผักสวนครัวในเขตเมือง โดยเบื้องต้นจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการด้วยการตกแต่งในห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางของแสนสิริ
- Monocle ธุรกิจสื่อ โรงแรม และค้าปลีกระดับโลก มีแผนสร้างโครงการขนาดที่พักอาศัยรูปแบบมิกซ์ยูสภายใต้แนวคิดใหม่ในปี 2561 นี้
นี่เป็นการขยับครั้งสำคัญของแสนสิริร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรต่างชาติ โดยจะยังเน้นรูปแบบ Asset Light ที่ให้ความสำคัญกับสภาพคล่อง ไม่ถือสินทรัพย์ถาวรเกินจำเป็น และสอดรับกับการเติบโตที่รวดเร็ว โดยคาดว่าภายในปี 2560 นี้ รายได้จากธุรกิจในต่างประเทศจะสูงถึง 12,000 ล้านบาท และจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นในอนาคต
ธุรกิจอสังหาฯ ไทยหันจับมือทุนนอกทำตลาด
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ก็เพิ่งเซ็นสัญญาร่วมทุนกับโนมุระ เรียล เอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จากประเทศญี่ปุ่น โดยพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกันมูลค่ารวมเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งออริจิ้นจะนำองค์ความรู้การออกแบบและนวัตกรรมต่างๆ ของโนมุระมาปรับใช้และพัฒนาธุรกิจ โดยแผนการลงทุนของโนมุระจะเน้นไปที่ตลาดเอเชียเป็นสำคัญ ซึ่งยังมีศักยภาพที่จะเติบโต และเตรียมเงินทุนไว้สูงถึงกว่า 9 หมื่นล้านบาท
ด้านบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ก็ลงนามร่วมทุนกับกลุ่ม ‘ฮ่องกงแลนด์’ เปิดบริษัท เอส36 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมย่านทองหล่อด้วยมูลค่าโครงการถึง 6 พันล้านบาท ซึ่งฮ่องกงแลนด์มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียอยู่แล้ว จึงน่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับสิงห์ เอสเตท ได้ไม่น้อย โดยคาดหวังเรื่องเทคโนโลยีการออกแบบและนวัตกรรมสำหรับต่อยอดธุรกิจเช่นเดียวกัน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการผสานเงินทุนของบริษัทไทยและต่างชาติเท่านั้น และดูเหมือนแนวโน้มของดีลลักษณะนี้จะเพิ่มมากขึ้นด้วย
ผู้เชี่ยวชาญมองปี 2561 ต่างชาติเดินเกมรุกไทยต่อเนื่อง
โอภาส ถิรปัญญาเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการของ Prop2Morrow ให้ความเห็นกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่าแนวโน้มของการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทยและกลุ่มทุนจากต่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้น โดยจะทำโครงการในประเทศและภูมิภาค
ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจไทยขณะนี้ต่างพยายามสร้างโครงการระดับหรือ Segment A ซึ่งมีราคาตารางเมตรละ 1.5 แสนบาทขึ้นไป เพื่อออกทำตลาดขายให้กับบรรดานักลงทุนเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ มากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งยังมองว่าตลาดประเทศไทยยังน่าลงทุน ราคาเหมาะสม และต้องการหาพาร์ตเนอร์ทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่วนนักลงทุนจีนจะเน้นการซื้อกิจการหรือโครงการที่ขายไม่หมดแล้วนำไปบริหารจัดการต่อ หรืออาจลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการเอง ซึ่งจะแตกต่างกันชัดเจน
หลายแบรนด์ในขณะนี้จัดตั้งบริษัทตัวแทนในต่างประเทศเพื่อขายโครงการโดยตรงให้กับนักลงทุน ขณะที่การขายผ่านบริษัทเอเจนต์ระดับโลกก็ยังได้รับความนิยมและไว้วางใจ
ส่วนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติที่จะเข้ามารุกตลาดประเทศไทย แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นยังเป็นทุนจากอังกฤษ ซึ่งเราจะเห็นได้จากหลายโครงการในลอนดอนที่เข้ามาทำตลาดในไทย นอกจากนี้ยังจะมีโครงการที่อยู่อาศัยจากมาเลเซียเข้ามาทำตลาดเพิ่มมากขึ้นด้วย
ในปีหน้าเราจะได้เห็นโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่น้อยทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ซึ่งเรื่องนี้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าธุรกิจต่างพุ่งเป้าไปที่คนที่มีกำลังซื้อเสมอ ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศก็ตาม และก็ยังปฏิเสธได้ยากว่าธุรกิจนี้ยังเป็นเรื่องของ ‘คนมีเงิน’ แทบจะทุกมิติ
อ้างอิง: