×

‘ลดเงินเดือน แต่มีผักให้กินฟรี’ โรงพิมพ์สมุยอักษรชวนพนักงานทำสวน เมื่อทั้งเกาะไม่มีนักท่องเที่ยว

27.04.2020
  • LOADING...

หลาย 10 ปีที่ผ่านมา เกาะสมุยถูกหล่อเลี้ยงด้วยธุรกิจการท่องเที่ยว ไล่ตั้งแต่โรงแรม การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกและส่ง ร้านนวดสปา การประมง แรงงาน หรือแม้กระทั่งโรงพิมพ์


นนท์-อานนท์ วาทยานนท์ ผู้ก่อตั้งโรงพิมพ์สมุยอักษร อยู่บนเกาะแห่งนี้มา 30 ปี มีสายตาที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของสมุยมาตลอด เขาทำงานในฐานะภาคประชาสังคมที่มีส่วนขับเคลื่อนสังคมและความเป็นอยู่ของคนที่นี่


เมื่อคลื่นยักษ์โควิด-19 ที่กระทบคนทั่วโลกซัดโถมเข้าฝั่งสมุยอย่างน้อยคนนักจะทันตั้งตัว คุณนนท์จึงเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เขารู้ดีว่า หนึ่งในวิธีที่พอจะทำได้คือ การลดเงินเดือนเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน แต่ปากท้องทุกคนก็ยังสำคัญ เขาจึงเริ่มชวนพนักงานถือเสียม แบกจอบ เตรียมดิน แล้วสร้างแปลงผักสวนครัวไปด้วยกัน

 

 

สมุยอักษร โรงพิมพ์แห่งแรกบนเกาะสมุย

สมัยก่อนผมรับราชการอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พอแต่งงานก็ย้ายมาอยู่ที่นี่ ตอนนั้นสมุยยังไม่มีโรงพิมพ์ เวลาคนต้องการสั่งงานพิมพ์ พวกเขาต้องสั่งจากในจังหวัด แล้วค่อยส่งมาอีกที ผมเห็นโอกาสทางธุรกิจ บวกกับเป็นช่วงขาขึ้นของการท่องเที่ยว จึงเริ่มเปิดโรงพิมพ์เล็กๆ มีพนักงานแค่ 2-3 คน

ช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เราไม่โดนผลกระทบเท่าไร ผมยังรับคนตกงานจากกรุงเทพฯ มาทำงานได้ มาเริ่มกระทบช่วงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง กราฟเติบโตเอนลงเล็กน้อย แต่ทุกอย่างรันต่อไปได้ปกติ จนมาเจอโควิด-19 นี่แหละที่ผมรู้สึกว่ามันหนักหนาสาหัสมาก กระทบรุนแรงที่สุดแบบไม่เคยเจอมาก่อน


เมื่อไรที่จับสัญญาณได้ว่า โควิด-19 เริ่มกระทบธุรกิจบนเกาะสมุย

ปลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจของเรายังไม่โดนผลกระทบอะไร ผมแอบคุยกับลูกสาวด้วยซ้ำว่า ทำไมเรายังมีงานเยอะเหมือนเดิม จนสัญญาณโควิด-19 ที่กรุงเทพฯ เริ่มมา เราเดาได้ว่า งานน่าจะซาลงหน่อย แต่ไม่คิดเลยว่าพอถึงเดือนมีนาคมงานลดลงจนแทบไม่เหลือ เพราะ 90% ของโรงแรมในเกาะปิดยาว 2-5 เดือน เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว โรงแรมก็ยืนต่อไม่ได้ การแบกคนจำนวนมากทั้งที่ไม่มีรายได้ เป็นภาระที่หนักเกินไป

ต้องเล่าย้อนกลับไปว่า งานส่วนใหญ่ของธุรกิจโรงพิมพ์เชื่อมโยงกับโรงแรม เช่น งานเอกสาร, งานโฆษณา, จดหมาย, การ์ดต้อนรับ, กระดาษโน้ตในห้องพัก, เมนูอาหาร, คูปองบุฟเฟ่ต์และสปา แต่พอฟ้าผ่าเปรี้ยง นักท่องเที่ยวหาย พวกเราก็นั่งว่าง ไม่มีงานให้ทำ

 


ช่วงแรกคุณนนท์เริ่มปรับตัวอย่างไร

ผมประเมินสถานการณ์โดยติดตามจากข่าวทั่วโลก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของสมุยคือ นักท่องเที่ยวชาวจีนและยุโรป เรายังไม่แน่ใจว่าจีนจะกลับมาหนักอีกครั้งหรือเปล่า และตราบใดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อของยุโรปยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผมไม่กล้าฟันธงว่า เดือนหน้าเราจะเดินต่อไปอย่างไร ควรหยุดก่อนเลยไหม หรือต้องดำเนินธุรกิจแค่บางส่วน แน่นอนเรามีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ลำพังแค่เงินเดือนพนักงานก็หนึ่งล้านบาท ถ้าต้องเจรจาขอลดเงินเหลือ 50% ก็ไม่แน่ใจว่าพนักงานจะอยู่ได้หรือเปล่า ในแง่ความช่วยเหลือของรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจน ถามประกันสังคมก็ไม่ได้คำตอบ 


เงินเดือนถูกหัก แต่ยังมีผักให้กินฟรี

ผมเริ่มมองหาสิ่งที่พอจะทำได้ เพื่อช่วยเหลือพนักงาน เมื่อรายได้บางส่วนหายไป แต่ถึงอย่างไรปากท้องก็ยังต้องกิน ผมจึงใช้ความรู้ด้านเกษตรกรรม สร้างแปลงเพาะปลูกผักสวนครัวและโรงเพาะเห็ดไว้หลังโรงพิมพ์ ทุกเช้าก่อนเริ่มเข้างาน พนักงานจะมาปลูกผักที่นี่ พวกเขารู้ดีว่ามันมีประโยชน์ จึงพร้อมใจกันลงแรงผสมดิน ทำปุ๋ย เพาะต้นกล้า หนึ่งเดือนหลังจากนี้เราจะมีผักหลายอย่างแจกจ่ายกันไปกิน ผมเรียกกิจกรรมนี้ว่า ‘ความมั่นคงทางอาหารของครอบครัว’

 

 
ธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะโดนผลกระทบอีกหลายเดือน คุณนนท์มีแผนตั้งรับเรื่องนี้อย่างไรต่อ

ผมมีลูกสาว 2 คน คนหนึ่งเรียนจบด้านสื่อสารมวลชน ส่วนอีกคนเรียนจบด้านการออกแบบ หลังจากทำงานสักพัก พวกเขาก็กลับมาช่วยสานต่อธุรกิจโรงพิมพ์ ช่วงวิกฤต ลูกๆ กลายเป็นกำลังสำคัญในการปรับโมเดลธุรกิจเพื่อความอยู่รอด


เราไม่อยากตั้งรับรองานวิ่งเข้าหาอยู่ฝ่ายเดียว เมื่อไม่มีลูกค้าบนเกาะ ไม่มีการจ้างงานพิมพ์ ลูกสาวทั้งสองจึงเริ่มออกแบบสินค้าใหม่ให้ตรงกับ Painpoint ของลูกค้า โดยทั้งหมดยังเกี่ยวข้องกับการพิมพ์


Acrylic Sheild Protector
มีหน่วยงานหลายแห่งที่พนักงานยังจำเป็นต้องเดินทางมาทำงานที่บริษัท พวกเขาจ้างทำแผ่นอะคริลิกใสกั้นระหว่างที่นั่งเพื่อป้องกันโรค ลูกๆ เห็นโอกาสดีจึงออกแบบโดยการเพิ่มฟังก์ชันให้สามารถพับเก็บได้ เพื่อสะดวกเวลาขนส่ง พร้อมมีคู่มือสอนประกอบอย่างดี เน้นขายให้หน่วยงานราชการ ออฟฟิศและร้านค้าต่างๆ กำลังพัฒนาเพื่อเสนอทั่วประเทศ

 


Signage Sticker เราเห็นร้านค้าติดป้ายประกาศใช้ปากกาหมึกเขียนลงบนกระดาษ พอโดนน้ำก็เริ่มอ่านยาก ลูกสาวคนโตเลยออกแบบสติกเกอร์โควิด-19 แทนป้ายกระดาษ เหมาะกับร้านทุกประเภท เริ่มขายไปบ้างแล้ว ได้ผลตอบรับที่ดี

 

ล่าสุดพวกเขาทำ Quarantine Notebook เห็นว่าคนอยู่บ้านเริ่มเบื่อ ไม่มีอะไรทำ เลยออกแบบสมุดที่มีลูกเล่นให้ลูกค้าไว้ใช้บันทึกชีวิตช่วงโควิด-19 เช่น แต่ละวันต้องเดินทางไปที่ไหน วันนี้อารมณ์ตัวเองเป็นอย่างไร มีชาเลนจ์สนุกๆ ที่ส่งเสริมให้คนได้ทำกิจกรรมหลากหลายมากขึ้นเมื่อต้องอยู่บ้าน


ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียของคนรุ่นใหม่ เป็นวิธีคิดในการแก้ปัญหาผ่านคนสองวัย แรกๆ ผมไม่เข้าใจว่าพวกเขากำลังพยายามทำอะไร แต่ก็ไม่ปิดโอกาสนะ เราถกเถียงกันเพื่อปลายทางที่ดีที่สุดของโรงพิมพ์

ผมอยากให้สมุดที่ลูกสาวตั้งใจออกแบบ เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกความทรงจำในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นบ่อย เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป เราจะได้ย้อนกลับมาดู แล้วเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ช่วงโควิด-19 เรากำลังทำอะไร และผ่านมันได้เพราะอะไร

 

บทเรียนที่ได้จากวิกฤตครั้งนี้คืออะไร

เราไม่ควรผูกทุกอย่างไว้กับการท่องเที่ยว เงินทองเป็นของมายา อาหารต่างหากคือของจริง เดิมทีสมุยทำเกษตรกรรม เราเคยมีสวนมะพร้าวและนาข้าวบนเกาะ พอการท่องเที่ยวมา ทุกอย่างก็เฮโลไปทางนั้นหมด ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ดีกว่า แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่า เวลาล้มมันกระทบทุกอย่าง ผมคิดว่าเราควรย้อนกลับมาหาสมดุลกับสิ่งที่มีคุณค่าในอดีตอีกครั้ง

 


เรื่องนี้ขยายไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องยอมรับว่า ในอีกมุมโควิด-19 ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นตัว ค่าฝุ่นในเมืองลดลง ระบบของสิ่งมีชีวิตมันไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่ใช้โลกใบเท่านี้ ดังนั้น ถ้ามีการสร้างสมดุลทางธรรมชาติให้เกิดขึ้นอย่างมีแบบแผน หาวิธีตกลงร่วมกันเลยว่า เราจะใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวกี่ปีและต้องเว้นเวลาให้ธรรมชาติได้พักกี่ปี สลับกันไป ผมเชื่อว่า มันจะทำให้โลกดำเนินไปได้ในทางที่ไม่เบียดเบียนกัน


ถามต่อว่า แล้วใครต้องเป็นคนทำ มันเชื่อมโยงมาถึงเรื่องการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง กว่า 10 ปีที่เราเรียกร้องให้สมุยเป็นเมืองพิเศษ เราเคยยื่นหนังสือขอให้สมุยปกครองกันเอง เพราะเกาะมีประชากรเป็นแสน การจัดการกันเองจะนำไปสู่การเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่แตกต่างไปจากเมืองอื่น

 


ผมคิดว่า เมื่อวิกฤตคลี่คลาย เราควรพัฒนาคมนาคม เกาะสมุยมีเพียงสายการบินเอกชน หลายฝ่ายพยายามเรียกร้องให้มีสนามบินของรัฐเป็นแห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มจำนวนการเข้า-ออกของนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และเราควรตระหนักถึงการจัดการความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข มันจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้คนรู้จักคิดและหาทางออกได้ เพราะปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ มันทำให้เขายืนด้วยลำแข้งต่อไม่ได้

เมื่อเกิดวิกฤต เราเหมือนคนจมน้ำตะเกียกตะกายทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด ลองตั้งสติ หาโอกาสความเป็นไปได้แบบที่ไม่เคยมองในภาวะปกติ คิดต่อจากต้นทุนที่เรามี แล้วลงมือทำให้ดีที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

 

 

FYI
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X