ผลกระทบจากข้อตกลงปารีส และการเคลื่อนไหวในประเด็นการรณรงค์ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ‘แนวทาง’ การดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนหลายแห่งด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้เรามักจะเห็นคำว่า ‘กลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน’ ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อเป็นประจำ เนื่องด้วยถือเป็นเทรนด์ความใส่ใจและความรับผิดชอบร่วมต่อสังคมที่ภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญเป็นสามัญ
เมื่อเร็วๆ นี้ ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (Samsung Electronics) ได้ออกมาเปิดเผยแผนความคืบหน้าของกลยุทธ์ในการร่วมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในทุกภาคส่วนของการดำเนินธุรกิจ และการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันซัมซุงได้นำพลังงานไฟฟ้าจาก ‘แหล่งพลังงานหมุนเวียน’ มาใช้กับฐานการผลิตของพวกเขาบางแห่งในสัดส่วนแบบ 100% ทั้งในอเมริกา จีน และยุโรป ได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย หลังเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2018 โดยเตรียมขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนกับฐานการผลิตต่างๆ ในทุกภูมิภาคทั่วโลก และในเกาหลีใต้ให้ได้เต็มรูปแบบอีกด้วย
โดยที่บริษัทซัมซุงในเมืองซูวอน กีฮึง และพย็องแท็ก เกาหลีใต้ ยังได้ติดตั้ง ‘อุปกรณ์ผลิตพลังงานทดแทน’ โซลาร์เซลล์ ในบริเวณบริษัท เช่น ลานจอดรถ อาคาร หลังคา และเขตก่อสร้างใหม่ เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนใต้พิภพมาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า
และยังได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเฉพาะแต่ละภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการจัดซื้อใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: RECs) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Renewable Power Purchase Agreement: PPA) เช่น การทำสัญญาจัดเตรียมพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Supply Contract) กับบริษัทผู้ผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย รวมถึงการซื้อใบรับรองพลังงานหมุนเวียนในประเทศเม็กซิโก และการกำหนดเปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่จะใช้ในฐานการผลิตในประเทศบราซิล
ส่วนในฟากการพัฒนา ‘ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน’ ส่งถึงมือผู้บริโภค ต้นปีที่ผ่านมา พวกเขายังได้เปิดตัวไลน์อัพทีวีซีรีส์ใหม่ของปี 2021 หนึ่งในนั้นคือการเปิดตัว ‘รีโมตทีวีแบบโซลาร์เซลล์’ และการใช้วัสดุรีไซเคิลเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์
ฝั่งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในไลน์อัพกาแล็กซีที่ผลิตตั้งแต่ 2016 เป็นต้นมา ซัมซุงก็ยังได้นำวัสดุแบบ ‘โพลีคีโตน (Polyketone)’ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้งานอีกด้วย เช่น การนำมาผลิต ‘แท่นรองรับด้านข้างของสมาร์ทโฟน’ ในตระกูลกาแลคซี S21 และยังใช้วัสดุผลิตบรรจุภัณฑ์ และลดขนาดเพื่อเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
รวมถึงยังลดการใช้พลังงานในโหมดสแตนด์บายของเครื่องชาร์จสำหรับสมาร์ทโฟนกาแลคซีรุ่นแฟลกชิปตั้งแต่ปี 2012 เพื่อลดความสิ้นเปลืองพลังงาน และได้ขยายการดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนี้สู่เครื่องชาร์จของผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย โดยเป้าหมายปัจจุบันคือการลดการใช้พลังงานในโหมดสแตนด์บายของเครื่องชาร์จให้เหลือศูนย์
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงแผนการดำเนินงานบางส่วนของซัมซุงเท่านั้น โดยที่อนาคตข้างหน้า พวกเขายังตั้งเป้าจะดำเนินนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ทุกคนมั่นใจได้ว่า พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล