ถึงจะโดน Galaxy Fold กลบกระแสและแย่งแอร์ไทม์บนพื้นที่สื่อไปบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า Samsung Galaxy S10 รุ่นฉลองครบรอบ 10 ปีของ Samsung Galaxy จัดเป็นสมาร์ทโฟนระดับเรือธงที่ทำออกมาได้ดีและน่าประทับใจพอสมควรในช่วงต้นปี 2019 นี้
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซัมซุงบินลัดฟ้าไปจัดงาน Samsung Galaxy Unpacked 2019 เปิดตัวสมาร์ทโฟนซีรีส์ S10 ทั้ง 3 โมเดลที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประกอบด้วย S10e, S10 และ S10+ (ไม่นับรวม S10 5G ที่ยังไม่วางจำหน่าย และอาจจะไม่นำเข้ามาจำหน่ายในไทย) ซึ่งโมเดลที่จะนำเข้ามาขายในไทยมีแค่ S10 และ S10+ เท่านั้น
จากซ้ายไปขวา Galaxy S10e, Galaxy S10+ และ Galaxy S10
ข้อมูลเบื้องต้นของ Galaxy S10 รุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย
- Samsung Galaxy S10:
- จอ Infinity-O Display Quad HD+ Curved Dynamic AMOLED ขนาด 6.1 นิ้ว
- หน่วยประมวลผล Exynos 9 9820 Octa-Core
- แรม 8GB หน่วยความจำภายใน 128GB
- สี Prism White, Prism Black, Prism Green
- แบตเตอรี่ 3400 mAh
- ราคา 31,900 บาท
- Samsung Galaxy S10+:
- จอ Infinity-O Display Quad HD+ Curved Dynamic AMOLED ขนาด 6.4 นิ้ว
- หน่วยประมวลผล Exynos 9 9820 Octa-Core
- แรม 8GB หน่วยความจำภายใน 128GB หรือแรม 8GB+512GB หรือแรม 12GB + 1TB
- สี Prism White, Prism Black, Prism Green และ Ceramic White, Ceramic Black (เฉพาะ 8GB+512GB และ 12GB+1TB เท่านั้น)
- แบตเตอรี่ 4100 mAh
- ราคาเริ่มต้น 35,900-55,900 บาท
ก่อนอื่นต้องสารภาพว่า ในช่วงที่ฟังข้อมูลผ่านการบอกเล่า และก่อนจะมีโอกาสได้สัมผัสเครื่องจริงๆ เราอาจจะยังไม่รู้สึกถึงความ ‘ว้าว’ หรือความหวือหวาจาก S10 ขนาดนั้น แต่พอได้ทดลองใช้งานจริง แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ความรู้สึกทั้งหมดก็เปลี่ยนแปลงไป
และนี่คือความรู้สึกบางส่วนของเรา หลังจากที่ได้มีโอกาสทดลองใช้งาน Samsung Galaxy S10+
ดีไซน์ตัวเครื่องและหน้าจอแบบ Infinity-O Display สวยมาก
ซัมซุงขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพจอที่พวกเขาผลิตขึ้นมาเองอยู่แล้ว ใน Galaxy S10 นี้ พวกเขามาพร้อมกับดีไซน์หน้าจอแบบ Infinity-O Display ไร้ปุ่ม ฝังกล้องด้านใน ขอบจอโค้งแบบ Edge นำกล้องไปอยู่บริเวณฝั่งขวาของหน้าจอ โดย S10 และ S10+ มาพร้อมจอขนาด 6.1 นิ้ว และ 6.4 นิ้ว ตามลำดับ (จุดสังเกตุคือ S10 มีกล้องตัวเดียว ส่วน S10+ มีกล้อง RGB Depth Camera เพิ่มขึ้นมารวมเป็น 2 ตัว)
ความรู้สึกหลังได้จับและลองใช้งานก็ต้องยอมรับเลยว่า ภาพหรือระดับสีที่หน้าจอของ S10+ แสดงผลออกมา นั้นอยู่ในระดับที่สวยสดงดงามประทับจิตสุดๆ แถมภาพรวมของสีที่เห็นด้วยตาก็ไม่ได้ดูหลอกตาหรือสดจนเกินไป เปรียบเทียบกับเรือธงเครื่องอื่นๆ ที่ผู้เขียนใช้ (7 Plus และ Mate 20) ยอมรับว่า S10+ นำหน้าเพื่อนไปพอสมควร
ระบบปลดล็อกเครื่องทั้งด้วยใบหน้าและลายนิ้วมือ Ultrasonic ทำงานได้รวดเร็ว
เป็นอีกจุดที่เราไม่ได้คาดหวังตั้งแต่แรก แต่พอลองใช้งานก็พบว่า ระบบปลดล็อกแบบไบโอเมตริก ทั้งการสแกนด้วยใบหน้าหรือเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพวกเขาอย่าง Ultrasonic Fingerscan ทำงานได้ดีและรวดเร็วมากๆ
เริ่มต้นที่การปลดล็อกด้วยใบหน้าก่อน คงเป็นเพราะ S10+ มาพร้อมกับกล้องหน้า 2 ตัว ทั้งเซลฟีและ RGB Depth จึงทำให้การปลดล็อกด้วยใบหน้าทำได้อย่างรวดเร็ว แม้จะอยู่ในที่มืดและที่แสงน้อย ส่วน Ultrasonic Fingerscan หรือเทคโนโลยีสแกนลายนิ้วมือด้วยการสั่นสะเทือนหน้าจอ ก็ทำออกมาได้น่าประทับใจไม่แพ้กัน (มีเฉพาะบน S10 และ S10+ เท่านั้น ส่วน S10e ปุ่มสแกนลายนิ้วมืออยู่ด้านข้างเครื่องฝั่งขวา)
ภาพจากกล้อง Galaxy S10+ เลนส์ Ultra Wide
กล้อง Ultra Wide เก็บวิวได้ครบสะใจมาก แต่ AI Scence Optimizer ยังไม่เนียน
กล้องหลังเลนส์ 3 ตัว ของ S10+ และ S10 มาพร้อมกับเลนส์ Telephoto, Wide-Angle และ Ultra Wide เหมือนกัน ซึ่งข้อดีของเลนส์แบบ Ultra Wide คือสามารถเก็บภาพวิวทิวทัศน์ได้ครบถ้วนเท่าที่เราจะต้องการ แถมการสวิตช์กลับไปกลับมาระหว่างโหมด Wide-Angle หรือ Telephoto ก็ยังทำได้ง่ายอีก
จากซ้ายไปขวา ภาพจากกล้อง Galaxy S10+ เลนส์ Wide-Angle และ Telephoto ตามลำดับ
ข้ามมาที่โหมดถ่ายวิดีโอ Super Steady Video ที่ว่ากันว่าทำงานได้ในระดับน้องๆ กล้องแอ็กชันแคม ซึ่งเราได้ลองใช้งานทั้งในห้อง Hands On Session และระหว่างเดินขึ้นลงทางลาดถนนลอมบาร์ดในซานฟรานซิสโก ที่ชันประหนึ่งขึ้นลงเขา ผลปรากฏว่า ระบบกันสั่นที่ว่านี้สามารถทำงานและประมวลผลออกมาได้ในระดับที่โอเคเลย ถึงจะลองแกล้งเขย่าในระดับที่แรง แต่ก็มีความสั่นไหวปรากฏให้เห็นเพียงเล็กน้อย ซึ่งก็น่าสนใจว่า ถ้าบรรดา Content Creator ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ของ S10 นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเข้าท่า ก็คงจะทำประโยชน์ได้อีกเยอะ
ส่วน Scene Optimizer ที่ซัมซุงเคลมว่า ใช้ AI เข้ามาประมวลผล เพื่อช่วยเลือกโหมดการถ่ายรูปที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือวัตถุที่ปรากฏ รวมถึงการถ่ายแบบ Lighting อาจจะเป็นไม่กี่จุดที่เรายังไม่ประทับใจ
อย่าง Scene Optimizer จะเก่งมากๆ กับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ สามารถประมวลผลได้รวดเร็ว แต่กลับกัน ถ้าเป็นโหมดอื่นๆ เช่น ถ่ายอาหาร บางครั้งอาจจะใช้เวลานานกว่าเล็กน้อย เช่นเดียวกับ Lighting ที่มีบางจังหวะยังแยกวัตถุออกจากพื้นหลังได้ไม่เนียนพอ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกชอบของเราที่มีต่อกล้องของ S10 น้อยลงแต่อย่างใด
วิดีโอในโหมด Super Slomotion จาก S10+
Wireless PowerShare ใครว่าไม่สำคัญ
นี่คือฟีเจอร์ใหม่ที่มาใน Galaxy S10 กลับการเปลี่ยนเครื่องให้เป็นแบตเตอรี่สำรองชาร์จแบตเตอรี่ให้อุปกรณ์อื่นๆ บนระบบนิเวศของซัมซุง หรืออุปกรณ์อื่นที่รองรับการชาร์จไร้สายบนมาตรฐาน Qi Standard ได้ ซึ่งต้องบอกว่า ซัมซุงไม่ได้ทำฟีเจอร์นี้เป็นเจ้าแรกในตลาด แต่ความเจ๋งคือ นอกจากจะชาร์จสมาร์ทโฟนด้วยกันเองได้แล้ว ยังชาร์จอุปกรณ์อื่นๆ อย่าง Galaxy Buds และ Galaxy Watch ได้อีกด้วย
ส่วนตัวรู้สึกว่า ฟีเจอร์นี้ทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว แต่ก็นานาจิตตังเหมือนกัน เพราะผู้ใช้คนอื่นๆ อาจจะไม่ค่อยได้ใช้งานมันมากสักเท่าไร
ที่สุดแล้ว เราขอแนะนำว่า ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองที่แบรนด์ช็อปของซัมซุง หรือหน้าร้านพาร์ตเนอร์โอเปอเรเตอร์ต่างๆ ก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะส่วนตัวเรามองว่า S10 จะเปล่งประกายความว้าวออกมาจนถึงที่สุดก็ต่อเมื่อได้ลองใช้งานและสัมผัสเครื่องตัวเป็นๆ ด้วยตัวเอง
สิบปากว่าย่อมไม่เท่าหนึ่งมือสัมผัส
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล